15 July 2010

นโยบายหรือยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความพยายามในการแสวงหารายได้โดยการปรับฐานภาษี หรือ ความพยายามในการบริหารและลดค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมทั้งนโยบายรัฐสวัสดิการที่กำลังพูดถึงกันมากในปัจจุบัน ทำให้ระลึกถึงกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจต่างๆ โดยสามารถเทียบนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันกับกลยุทธ์ขององค์กรธุรกิจได้อย่างชัดเจนเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในการแสวงหารายได้ กลยุทธ์ในการบริหารต้นทุน หรือ กลยุทธ์ในการแสวงหาลูกค้า ของภาคเอกชน โดยดูเหมือนนับตั้งแต่อดีตนายกรัฐมนตรีสามสี่ท่านที่แล้วมาก็จะนำวิธีคิดเชิงยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ของภาคเอกชนมาปรับใช้กับนโยบายของภาครัฐกันมากขึ้น

            เริ่มตั้งแต่การดูกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าหลักของรัฐบาลเลยครับ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลในชุดที่ผ่านๆ มาแล้วที่ได้ให้ความสำคัญกับประชาชนที่เรียกว่าเป็นฐานราก หรือ รากหญ้ามากขึ้น จะสังเกตได้ว่าสมัยนั้น ทางรัฐบาลได้ออกผลิตภัณฑ์และบริการ หรือ จะเรียกว่านโยบายก็ได้ที่มุ่งเน้นในการตอบสนองลูกค้าหรือประชาชนกลุ่มนี้มากขึ้น ประชาชนกลุ่มนี้เองก็มีความรู้สึกว่าสมัยดังกล่าวนั้น ตนเองได้รับสินค้าหรือบริการที่ไม่เคยได้รับมาก่อน แล้วก็นำไปสู่ความภักดีและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทุกท่านคงจะยังจำกันได้ การมุ่งเน้นลูกค้าหรือประชาชนกลุ่มระดับล่างนั้นถ้าเปรียบกับในเชิงธุรกิจแล้วก็เสมือนกับการมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้รับการตอบสนองหรือ Ignored Customer เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลชุดก่อนๆ จะมุ่งเน้นต่อกลุ่มคนชั้นกลางขึ้นไปที่อยู่ตามเมืองมากกว่าต่อประชาชนที่ถือว่าเป็นรากหญ้า นอกจากนี้แนวคิดการมุ่งเน้นกลุ่มประชาชนระดับล่างนั้นก็ยังเปรียบเทียบได้กับแนวคิดเรื่องของ Bottom of the Pyramid ที่ในปัจจุบันเริ่มมีกระแสที่องค์กรธุรกิจจำนวนมากให้ความสนใจต่อกลุ่มลูกค้าระดับล่างของปิรามิดมากขึ้น

            เมื่อรัฐบาลหนึ่งสามารถจับกลุ่มลูกค้าระดับล่างและประสบผลสำเร็จ สิ่งที่รัฐบาลชุดต่อๆ มาพยายามทำก็คือการลอกเลียนหรือใช้ยุทธศาสตร์ในลักษณะเดียวกัน ดังนั้นจึงไม่แปลกใจนะครับ ที่นโยบายของรัฐบาลชุดต่อๆ มาจะมุ่งเน้นประชาชนที่เป็นฐานรากมากขึ้น หรือ ที่บรรดานักการเมืองเรียกกันว่าเป็นนโยบายประชานิยม อย่างไรก็ดีปัญหาของการมุ่งเน้นนโยบายประชานิยม หรือ การตอบสนองต่อประชาชนกลุ่มรากหญ้ามากๆ นั้น ก็ส่งผลต่อสถานะทางการเงินของรัฐบาลเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อให้สินค้าหรือบริการที่ออกมาสามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนระดับรากหญ้าได้ดีขึ้น สินค้าหรือบริการต่างๆ เหล่านี้จึงควรที่จะเป็นลักษณะของการให้เปล่า หรือ ช่วยเหลือในด้านของค่าครองชีพเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้รายจ่ายของรัฐบาลมีมากกว่ารายรับที่เข้ามา

            ผลดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องมียุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ใหม่ๆ ในการแสวงหารายได้เข้ามา เนื่องจากการออกสินค้าหรือบริการที่มุ่งเน้นประชานิยมนั้นมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมาก ในขณะเดียวกันรายรับที่เข้ามาก็ไม่ได้สะท้อนต่อรายได้ที่เกิดขึ้น ในเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจนั้น การที่องค์กรจะเพิ่มรายได้เข้ามานั้น มีอยู่สองแนวทางหลักๆ ได้แก่ การแสวงหารายได้จากแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ การมุ่งเน้นตลาดหรือประเทศใหม่ๆ หรือ การจับลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ เป็นต้น และ การเพิ่มรายได้จากลูกค้ากลุ่มเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายสำหรับลูกค้าหรือที่เราเรียกว่า Cross-Sale ดังเช่นที่ธนาคารต่างๆ ชอบที่จะทำกัน หรือ การขึ้นราคาสินค้าและบริการ เพื่อเก็บเงินจากลูกค้าเพิ่มขึ้น สำหรับยุทธศาสตร์ในการแสวงหารายได้ของรัฐบาลในปัจจุบันนั้น เท่าที่สังเกตดู จะประกอบด้วยกลยุทธ์ทั้งสองแนวทางครับไม่ว่าจะเป็นการหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ เช่น การหาแหล่งเงินกู้ หรือ การออกตราสารหนี้เพื่อระดมเงินเข้ามามากขึ้น หรือการพยายามเพิ่มรายต่อหัว หรือ รายได้ท่ีเก็บจากประชาชนมากขึ้น ด้วยความพยายามในการปรับฐานภาษี

            นอกจากยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ในการแสวงหารายได้แล้ว ในบางครั้งบางรัฐบาลก็ยังออกยุทธศาสตร์ในการบริหารและประหยัดต้นทุนอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ประสบกับภาวะวิกฤตที่มีมาตรการในการประหยัดค่าใช้จ่ายและงบประมาณในด้านต่างๆ ดังนั้นถึงแม้รัฐบาลจะมีความแตกต่างจากเอกชนในหลายๆ ด้าน แต่เมื่อพิจารณายุทธศาสตร์ของรัฐบาลและเอกชนเปรียบเทียบกันแล้วจะพบว่าสามารถเทียบเคียงกันได้ ทั้งในด้านยุทธศาสตร์การหารายได้ และ ยุทธศาสตร์การลดต้นทุน

            อย่างไรก็ดีสิ่งที่ยังดูเหมือนจะยังขาดในเรื่องยุทธศาสตร์ของรัฐบาลก็คือ การที่จะทำให้ประเทศไทยมีความแตกต่างหรือสร้างคุณค่าที่แตกต่างจากประเทศอื่น เนื่องจากในภาคเอกชนนั้น นอกเหนือจากกลยุทธ์ในการเพิ่มรายได้ และการลดต้นทุนแล้ว ยังมักจะพูดถึงกลยุทธ์ในการสร้างคุณค่าหรือความแตกต่างเพื่อให้เกิดความแตกต่างจากองค์กรเอกชนอื่นๆ แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันเรายังมองไม่เห็นว่ารัฐบาลจะมีนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในด้านใดที่จะสร้างความแตกต่างและโดดเด่นให้กับประเทศไทย และยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงค์โปร์ที่รุกในยุทธศาสตร์การบริการในด้านการเป็นสถานที่ประชุมและท่องเที่ยวที่เห็นได้อย่างชัดเจน หรือ อย่างมาเลเซียที่มีข่าวว่านำเรื่องของ Blue Ocean มาใช้เป็นแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์ของประเทศ ก็ต้องเฝ้ารอดูรัฐบาลไทยต่อไปนะครับ