
8 July 2010
ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมภ์นี้มาตลอดคงพอจะคุ้นกับชื่อของ Patrick Georges หมอผ่าตัดสมองชาวเบลเยียม ซึ่งเป็นผู้คิดค้นห้อง Management Cockpit ขึ้นมาและปัจจุบันองค์กรชั้นนำต่างๆ ในประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนก็มีการนำแนวคิดของ Management Cockpit ไปปรับใช้กันมากพอสมควร ผมเองได้มีโอกาสนำงานต่างๆ ของเขามานำเสนอท่านผู้อ่านเป็นระยะผ่านทางบทความนี้ ล่าสุดเขาได้ออกหนังสือเล่มเล็กๆ มาเล่มหนึ่งชื่อ Increase Your Effectiveness ซึ่งเป็นหนังสือที่แนะนำแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน โดยข้อแนะนำเหล่านี้มาจากทั้งงานวิจัยทางวิชาการและจากประสบการณ์ ของ Prof. Georges โดยเขาเองก็ได้นำหลักการเหล่านี้มาใช้ในการพัฒนาห้อง Management Cockpit ดังนั้นสัปดาห์นี้ผมจึงขอนำเนื้อหาบางส่วนจากหนังสือเล่มดังกล่าวมาเล่าสู่กันฟังนะครับ
Patrick Georges เป็นหมอผ่าตัดสมองที่มาศึกษาเรื่องของการบริหารจัดการ ดังนั้นเขาจึงนำสิ่งที่พบหลายๆ เรื่องจากการทำงานของสมองคนมาปรับใช้และเสนอแนะเป็นแนวทางสำหรับการบริหารจัดการ แม้กระทั่งเรื่องของการกินหรือการนอนก็เป็นส่วนหนึ่งในคำแนะนำของหมอผู้นี้ โดยเขามองเลยครับว่าการที่เราจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจะต้องเริ่มต้นจากการมีสุขภาพที่ดีก่อน และการมีสุขภาพที่ดีก็เริ่มต้นจากการรับทานอาหาร วิธีการรับทานอาหารมื้อต่างๆ ที่ดีนั้นจะต้องเริ่มต้นด้วยการรับทานอาหารเช้าอย่างพระราชา อาหารกลางวันอย่างเจ้าชาย และอาหารเย็นอย่างยาจก นั้นคือปริมาณการรับทานอาหารในแต่ละมื้อควรจะลดหลั่นลงตามลำดับ ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่เราปฎิบัตินั้นมักจะตรงกันข้าม นั้นคืออาหารเช้ากินน้อยเพราะรีบเร่ง อาหารเที่ยงมีเวลาค่อยเยอะหน่อย ส่วนอาหารเย็นนั้นกลับมากที่สุด
แต่จริงๆ แล้วปริมาณอาหารที่เรารับทานนั้นควรจะเหมาะสมกับพลังงานที่เราจะต้องใช้ ดังนั้นมื้อเช้าซึ่งร่างกายเราต้องการพลังงานเพื่อใช้สำหรับทั้งวัน จึงควรจะเป็นมื้อที่เราควรจะทานและให้ความสนใจเป็นพิเศษ ลองสังเกตดูนะครับว่าถ้าวันไหนเราทานอาหารเช้าน้อย เช่น กาแฟเพียงแก้วเดียว พอช่วงใกล้ๆ เที่ยงหลายคนอาจจะมีอาการน้ำตาลในเลือดต่ำ รู้สึกเหนื่อยง่าย และการทำงานของสมองก็ไม่เฉียบคมเท่าที่ควร ในขณะเดียวกันถ้าเราทานอาหารเที่ยงมากเกินไป ทุกท่านก็คงทราบกันดีอยู่แล้วว่าจะทำให้เลือดไปเลี้ยงกระเพาะมากกว่าเลี้ยงสมองและทำให้เราง่วงนอนตอนบ่ายได้
นอกจากการรับทานอาหารแล้ว พฤติกรรมการนอนก็สำคัญครับ มีข้อแนะนำว่าให้พวกเราหาสมุดจดเล็กๆ พร้อมปากกาวางไว้หัวเตียง และก่อนนอนถ้ามีอะไรที่รบกวนจิตใจเรา เช่น สิ่งที่จะต้องทำ ต้องคุย ในวันรุ่งขึ้น หรือความกังวลต่างๆ ที่อยู่ในจิตใจก็ให้จดลงสมุดโน้ตดังกล่าว เนื่องจากการที่เขียนระบายสิ่งที่อยู่ในจิตใจเราออกไปจะทำให้เราหลับได้สบายขึ้น เหมือนกับเป็นการเอาสิ่งที่รบกวนจิตใจเราออกไปให้หมดสิ้นก่อนการนอน นอกจากนี้ร่างกายแต่ละคนจะมียีนนาฬิกาหรือ Clock Gene อยู่ ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดช่วงเวลาต่างๆ ของร่างกายเรา (แต่ละคนไม่เหมือนกัน) ดังนั้นเวลาที่เหมาะสมในการนอนของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน เราควรจะทำตัวให้สอดคล้องกับนาฬิกาในร่างกายของเรา โดยการพยายามนอนและตื่นในเวลาเดียวกันทุกวัน ก็จะทำให้ร่างกายเราดำเนินไปตามเจ้า Clock Gene ดังกล่าว นอกจากนี้ในขณะที่ร่างกายเรานอนหลับนั้นอุณหภูมิในร่างกายเราจะลดต่ำลง ดังนั้นในช่วงก่อนนอนเราควรจะหลีกเลี่ยงจากการทำกิจกรรมต่างๆ ที่ทำให้อุณหภูมิในร่างกายเราสูงขึ้น เช่น การออกกำลังกายหรือการกินอาหารมื้อหนัก เราควรจะเว้นเวลาไว้สองชั่วโมงระหว่างการทำกิจกรรมดังกล่าวกับการนอน
พอเรากิน เรานอนเสร็จแล้วก็มาเริ่มทำงานกันครับ โดยมีข้อแนะนำว่าถ้าสามารถทำได้ควรจะวางแผนที่จะทำงานที่ยากๆ หรือไม่อยากจะทำไว้ตอนเช้า ส่วนตอนเย็นหรือช่วงท้ายของการทำงาน ค่อยเป็นงานที่ง่ายๆ หรือ สนุกมากกว่า เนื่องจากงานที่ยากมักจะต้องอาศัยทั้งพลังงานและสมาธิค่อนข้างมาก ดังนั้นช่วงเช้าของวันที่เราสดชื่นจะเหมาะสมมากกว่าช่วงเย็นที่เราเริ่มล้า ที่สำคัญคืออย่าเปิดอ่านอีเมลก่อนเริ่มทำงานที่สำคัญ เพราะพอเราอ่านอีเมลแล้ว เราจะเริ่มทำงานเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้อื่น (ที่มาจากอีเมล) แล้วสุดท้ายงานที่เราต้องการหรือควรจะทำก็ไม่ได้ทำ การเปิดอ่านเมลนั้น ทำให้เหมือนกับว่าเราต้องคอยตอบสนองต่อผู้อื่นตลอดเวลา และทำให้เราลืมที่จะตอบสนองต่องานหรือสิ่งที่ตัวเราเองควรจะและต้องทำ
ข้อคิดประการสุดท้ายสำหรับสัปดาห์นี้คือทุกคนมักจะบ่นเรื่องของการไม่มีเวลาพอในแต่ละวัน ทุกคนอยากจะให้วันๆ หนึ่งมีมากกว่า 24 ชั่วโมง แต่ถ้าเรามัวแต่คิดแบบนี้ก็จะยิ่งสร้างความเครียดให้กับตัวเราครับ เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้วงานเราจะไม่มีวันเสร็จสิ้นสมบูรณ์อยู่แล้ว เนื่องจากมนุษย์เรามีสมองและสมองเราก็จะคิดอยากจะทำสิ่งต่างๆ ตลอดเวลา และสิ่งที่เราคิดอยากจะทำหรือต้องทำนั้นก็มีมากกว่าเวลาที่เรามีแล้ว ดังนั้นถ้าเราเข้าใจในสิ่งนี้และยอมรับว่างานนั้นไม่มีวันเสร็จ และเมื่อหมดเวลางานก็ต้องหยุดคิด หยุดทำงาน ชีวิตเราก็จะมีความสุขมากขึ้นและความเครียดก็จะลดน้อยลง
ก็ขอนำเสนอบางส่วนจากหนังสือ Increase Your Effectiveness ของ Patrick Georges นะครับ ถ้ามีโอกาสจะนำมาเสนอเพิ่มเติม หรือ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็ลองไปหาดูได้ที่ Asia Books ครับ