
29 July 2010
เมื่อสัปดาห์ก่อนมีโอกาสเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับองค์กรมหาชนแห่งหนึ่งนั้นคือ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ซึ่งดูจากชื่อแล้วก็คงเกี่ยวกับก๊าซเรือนกระจก แต่พอได้ไปสัมภาษณ์และพูดคุยกับผู้บริหารขององค์กรนี้แล้ว ทำให้พบว่าเรื่องของก๊าซเรือนกระจกนั้นไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลายเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถ้าองค์กรไหนที่ยังไม่ได้ตื่นตัวหรือให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ก็อาจจะสายไปแล้วนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ถ้าเทียบในระดับสากลแล้ว เราค่อนช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในเรื่องนี้ด้วยซ้ำไป
เรื่องของก๊าซเรือนกระจกนั้น เรามักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก แต่จากความตื่นตัวในเรื่องของการดูแล รักษาสิ่งแวดล้อมในระดับสากลในปัจจุบัน ทำให้เรื่องนี้ได้ขยายจากการเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม ขยายไปสู่เรื่องของทั้งการทำธุรกิจ และเพื่อสังคมด้วย ซึ่งจะส่งเสริมต่อแนวคิดของ Triple Bottom Line ที่บริษัทหลายๆ แห่งเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน (Triple Bottom Line ประกอบด้วยทั้งผลตอบแทนทางด้านการเงิน ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม)
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาภาวะก๊าซเรือนกระจกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในเกือบทุกกระบวนการของการทำธุรกิจเลยครับ ท่านผู้อ่านคงพอคุ้นกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานต่างๆ ทั้งการใช้พลังงานเพื่อการผลิต หรือ พลังงานเพื่อการขนส่ง หรือ แม้กระทั่งการทำเกษตรกรรมก็นำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ปุ๋ยไนโตรเจน การปล่อยก๊าซจากการปลูกพืช หรือ การปล่อยก๊าซจากการเลี้ยงปศุสัตว์ หรือ ในการนั่งทำงานในสำนักงานก็มีผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นเดียวกัน ตั้งแต่การใช้พลังงาน เครื่องใช้ไฟฟ้า และสิ่งอำนวยความสะดวกสมัยใหม่ก็ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น
แนวทางหนึ่งท่ีองค์กรธุรกิจจะสามารถทำได้เพื่อให้ทั้งลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยกับการแสวงหารายได้เข้าบริษัทก็คือการเข้าร่วมในโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด ซึ่งเป็นโครงการที่แต่ละบริษัทจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และถ้าโครงการไหนที่ได้รับการรับรองก็สามารถนำปริมาณคาร์บอนที่ตนเองลดได้ ไปขายในตลาดคาร์บอน เนื่องจากบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้วที่ผลิตปริมาณคาร์บอนเกินปริมาณที่กำหนด เขาต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตไปเพื่อนำไปลดปริมาณโดยรวมของคาร์บอนที่บริษัทผลิตขึ้นมาและอยู่ภายใต้เกณฑ์ที่กำหนด ประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวก็ชัดเจนครับ ทั้งการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปขายเพื่อเป็นรายได้เข้าบริษัทอีกด้วย จากข้อมูลล่าสุด มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติทั้งสิ้น 111 โครงการ และนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 6.95 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่าต่อปี
นอกเหนือจากคาร์บอนเครดิตแล้ว อีกแนวโน้มหนึ่งที่น่าสนใจที่เกี่ยวข้องก็คือการขอการรับรองฉลากคาร์บอน หรือ Carbon Reduction Labeling ครับ ซึ่งเป็นฉลากที่ออกให้กับผลิตภัณฑ์ที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตได้เฉลี่ยตั้งแต่ร้อยล 10 ขึ้นไป ประโยชน์ของการได้รับฉลากคาร์บอน นอกเหนือจากการมีส่วนช่วยลดปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังสามารถเป็นเครื่องมือในการประชาสัมพันธ์และการตลาดให้กับผลิตภัณฑ์ต่างๆ สำหรับผู้บริโภคว่าผลิตภัณฑ์ที่ซื้อนั้น ได้มีการคำนึงถึงและให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีบริษัทในประเทศไทยจำนวนหนึ่งที่ได้รับฉลากคาร์บอนแล้ว อาทิเช่น ดอยคำ น้ำมันพืชหยก ปูนซิเมนต์นครหลวง ปูนทีพีไอ น้ำตาลมิตรผล และกรีนสปอร์ต เป็นต้น ท่านผู้ประกอบการทั้งหลายที่สนใจก็น่าจะลองหารายละเอียดและยื่นขอการรับรองฉลากคาร์บอนจากองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกดูนะครับ นอกเหนือจากประโยชน์ทางด้านการตลาดแล้ว อนาคตก็มีสิทธิที่เรื่องของการลดคาร์บอนนั้นจะกลายเป็นข้อกีดกันทางการค้าของประเทศต่างๆ มากขึ้น ดังนั้น ถ้าบริษัทไม่มีเครื่องหมายหรือสิ่งที่แสดงถึงการให้ความสำคัญต่อการช่วยรณรงค์ลดโลกร้อน ก็อาจจะประสบกับปัญหาในเรื่องของการส่งสินค้าออกไปสู่ต่างประเทศได้
อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องของก๊าซเรือนกระจกคือเรื่องของ Carbon Footprint ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่บอกให้รู้ถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ โดยปัจจุบันบริษัทที่สนใจสามารถขอขึ้นทะเบียนเพื่อติด Carbon Footprint บนผลิตภัณฑ์ของตนเองได้ครับ สำหรับผู้บริโภคแล้ว ในอนาคตอันใกล้ เราอาจจะมีพฤติกรรมอีกประการหนึ่งในการเลือกซื้อสินค้า นั้นก็คือก่อนซื้อสินค้าตัวใดก็ตาม จะพิจารณาถึงปริมาณคาร์บอนที่ผลิตภัณฑ์นั้นปล่อยออกไป โดยดูจาก Carbon Footprint ที่ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวปล่อยออกไป ในปัจจุบันก็มีหลายๆ บริษัทในไทยที่ขอขึ้นทะเบียน Carbon Footprint แล้ว อย่างเช่นโค๊กกระป๋องนั้น นั้นจะมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์อยู่ที่ 258 กรัม หรือไก่ย่างเทอริยากิขนาดบรรจุ 110 กรัมของซีพีเอฟ จะมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์อยู่ที่ 302 กรัม ขณะที่ เส้นหมี่กึ่งสำเร็จรูปน้ำใส มาม่า ขนาดบรรจุ 55 กรัม จะมีคาร์บอนฟุตพริ้นต์อยู่ที่ 375 กรัมเป็นต้น
ผมพบเจอร้านอาหารหนึ่งในต่างประเทศชื่อ Otarian ที่ขายพวกแฮมเบอร์เกอร์และอาหารฝรั่ง โดยร้านนี้พยายามสร้างความแตกต่างด้วยการแจ้งปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นต์สำหรับเมนูอาหารแต่ละชนิด อีกทั้งยังเปรียบเทียบคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ของตนเองกับของคู่แข่งด้วย อย่างเช่น แฮมเบอร์เกอร์ชนิดหนึ่งของคู่แข่งนั้นจะปล่อยคาร์บอน 2.28 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซต์ แต่ของร้าน Otarian นั้นจะปล่อยอยู่ 1.59 แสดงให้เห็นว่าถ้ามารับทานแฮมเบอร์เกอร์ที่ร้านนี้จะช่วยลดปริมาณคาร์บอนได้ 0.69 กิโลฯ แถมที่ร้านนี้ยังแจกการ์ดที่เรียกว่า Carbon Karma Credit ที่เวลามารับทานแต่ละครั้งก็แสดงบัตรนี้ จากนั้นจะมีการบันทึกว่าการรับทานแต่ละครั้งจะสามารถช่วยลดโลกร้อนไปได้เท่าไร และสามารถนำเครดิตที่สะสมไว้มาแลกของต่างๆ ในร้านได้เหมือนบัตรสมาชิกทั่วไปครับ ก็ถือว่าน่าสนใจและสามารถสร้างกระแสความแตกต่างได้อย่างน่าสนใจนะครับ
ถ้าท่านผู้อ่านสนใจเรื่องก๊าซเรือนกระจก ลองเข้าเว็บขององค์การบริหาก๊าซเรือนกระจกได้ที่ www.tgo.or.th ครับ และเขาจะมีสัมมนาวิชาการระดับนานาชาติเรื่องนี้โดยเฉพาะในช่วง 19-21 สิงหาคมนี้ครับ สนใจก็ลองเข้าไปดูที่เว็บเขาได้นะครับ ดูเนื้อหาแล้วน่าจะทำให้เรามีความรู้เรื่องก๊าซเรือนกระจกกันเพิ่มมากขึ้นทีเดียวครับ