20 June 2010

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเขียนถึงข้อเสียของการนอนน้อย มาสัปดาห์นี้เรามาดูข้อมูลเกี่ยวกับช่วงเวลากลางวันกันบ้างนะครับ เนื่องจากลักษณะงานของเราในปัจจุบันเป็นงานที่ต้องการทั้งเวลาและพลังงานจากเราอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับว่าตั้งแต่เราเริ่มทำงานตอนเช้าจนกระทั่งเลิกงานตอนเย็นเราแทบจะไม่มีโอกาสหยุดพักเลย ทั้งนี้อาจจะเป็นเนื่องจากภาวการณ์แข่งขันและความต้องการจากองค์กรในปัจจุบัน ทำให้คนทำงานจะต้องมุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับงานตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาทานอาหารเที่ยงซึ่งควรจะเป็นเวลาพักผ่อนของเรานั้น เชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากก็จะนั่งรับทานอาหารไปด้วยทำงานไปด้วย หรือบางท่านก็ทานข้าวเที่ยงไปพร้อมๆ กับการประชุม

            จริงอยู่นะครับที่การทำงานตลอดเวลาดุเหมือนว่าจะเป็นคนขยันและเป็นคนทำงานที่มีประสิทธิภาพ แต่จริงๆ แล้วจากการวิจัยต่างๆ กลับพบว่าในระหว่างวันทำงาน ถ้าเราได้มีการหยุดพักเป็นจังหวะๆ เสียบ้าง ความสามารถและประสิทธิภาพในการทำงานกลับจะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากร่างกายและสมองของเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานติดต่อกันเป็นเวลาหลายๆ ชั่วโมงโดยไม่ได้หยุดพัก ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับว่าร่างกายของพวกเรานั้นถ้าทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ร่างกายเรามักจะเรียกร้องการหยุดพักในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง มิฉะนั้นความตื่นตัว สมาธิ หรือความสามารถในการทำงานของเราก็จะลดลง โดยระยะเวลาดังกล่าวนั้นจากการทดลองก็พบว่าอยู่ที่ประมาณ 90 นาทีหรือหนึ่งชั่วโมงครึ่ง โดยเมื่อเราทำ งานครบ 90 นาทีแล้ว เราควรที่จะหยุดพัก เหมือนกับการหยุดพักเพื่อชาร์จถ่ายหรือชาร์จพลังงาน จากนั้นค่อยกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง

            เรามักจะเข้าใจว่าการทำงานที่ดีนั้นคือทำงานอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่องไม่มีหยุด และยิ่งทำงานติดต่อกันนานเท่าไร ก็ยิ่งแสดงให้ว่าเราเป็นคนทำงานเก่งและทำงานอึด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราถูกสอนให้มีความเข้าใจผิดว่าการไม่ทำอะไร หรือ การหยุดพักจากงานนั้นเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความอ่อนแอหรือความไม่เอาไหน หรือ การหยุดพักแสดงให้เห็นว่าเราทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่จริงๆ แล้ว ความเข้าใจดังกล่าวอาจจะไม่ถูกต้องนะครับ การทำงานที่สอดคล้องกับธรรมชาติของร่างกายเรานั้นควรจะมีลักษณะเป็นคลื่น นั่นคือบางช่วงสูงบางช่วงต่ำ เปรียบเสมือนกับการทำงานและการหยุดพักสลับกันเป็นช่วงๆ โดยช่วงเวลาของการทำงานที่เหมาะสมนั้นอยู่ที่ 90 นาทีครับ

            ทีนี้ก็มาถึงคำถามสำคัญว่าเมื่อทำงาน 90 นาทีแล้วควรจะหยุดพักอย่างไร จริงๆ ถ้าสามารถทำได้ การได้ออกกำลังกายอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะทำให้เราได้พักผ่อนทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่ถ้าเราไม่ สามารถหยุดเพื่อออกกำลังกายได้ การพักจากงานเพื่อสูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ ก็ช่วยให้ผ่อนคลายได้ การพักฟังเพลงหรืออ่านหนังสือเบาๆ ก็ถือเป็นอีกวิธีการง่ายๆ ในการผ่อนคลายทุก 90 นาที อย่างไรก็ดีมีวิธีการหนึ่งที่เราสามารถผ่อนคลายและเติมพลังงานให้กับสมองและร่างกายเราได้เป็นอย่างดีก็คือการหลับเวลากลางวันครับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทำงานทุก 90 นาที จากนั้นหลับอีก 90 นาทีสลับกันไปนะครับ เพียงแต่อยากจะชี้ให้เป็นผลจากการวิจัยทางวิชาการที่ระบุให้เห็นอย่างชัดเจนเลยว่าการนอนหลับกลางวันนั้นมีข้อดีมากกว่าข้อเสียครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อทั้งร่างกาย สมอง และความสามารถในการทำงานของพนักงานแต่ละคน

            นาฬิกาในร่างเรานั้นได้รับการออกแบบให้หลับยาวเวลากลางคืนและหลับสั้นๆ ในเวลากลางวัน ผลจากการวิจัยพบว่าการได้นอนหลับตอนกลางวันประมาณ 60-90 นาทีช่วยเพิ่มความสามารถในการจดจำได้พอๆ กับการนอนหลับตอนกลางคืนอย่างเต็มอิ่มเป็นเวลา 8 ชั่วโมง อย่างไรก็ดีในทางปฏิบัตินั้นคงยากที่คน ทำงานจะนอนหลับยาวติดต่อกัน 60-90 นาทีในวันทำงาน ดังนั้นทางเลือกที่พอจะเป็นไปได้ก็คือเก็บการนอนตอนบ่ายยาวๆ ไว้ช่วงเสาร์อาทิตย์ ซึ่งก็สามารถที่จะช่วยทดแทนการอดนอนหรือการนอนน้อยในช่วงวันธรรมดาได้บ้างครับ

            นอกจากหยุดงานทุก 90 นาทีแล้ว ข้อเสนออีกประการหนึ่ง ก็คือเราควรจะต้องหาวันหยุดเพื่อพัก ผ่อนกันให้ได้นะครับ ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสลาหยุดพักร้อนยาวๆ กันบ้างไหมครับ จากการทดลองพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับพวกที่ไม่เคยหยุดพักร้อนยาวๆ แล้ว ผู้ที่หยุดพักร้อนเป็นประจำจะมีโอกาสเกิดโรคหัวใจน้อยกว่า ในขณะเดียวกันสุภาพสตรีที่มีการหยุดพักร้อนปีละสองครั้ง จะมีโอกาสในการเกิดภาวะหดหู่น้อยกว่าพวกที่พักร้อยสองถึงห้าปีครั้ง ถึงสองเท่า นอกจากนี้ยังมีการทดลองที่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างผลการทำงานของตัวบุคลากรกับการได้หยุดพักร้อนของพนักงาน

            ทั้งหมดที่เขียนมาในสัปดาห์นี้ไม่ได้แนะให้ท่านผู้อ่านหาเหตุอู้งาน ไม่ว่าจะเป็นการหยุดพักทุก 90 นาที หรือ การนอนกลางวัน หรือ การพักร้อนนะครับ เพียงแต่อยากจะนำเสนอในอีกมุมมองหนึ่งว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องตลอดเวลานั้นไม่ใช่สิ่งที่ดีทั้งสำหรับร่างกายของเราและความสามารถในการทำงาน การได้หยุดพักเป็นระยะๆ ไม่ว่าด้วยวิธีการใด กลับจะมีผลทั้งต่อการทำงานของร่างกายและสมองเรา และสุดท้ายจะทำให้พนักงานมีผลิตภาพและความสามารถในการทำงานที่ดีขึ้น และตัวพนักงานเองก็จะมีความพอใจในการทำงานที่มากขึ้น ตัวผู้บริหารเองก็คงต้องเปลี่ยนทัศนคตินะครับให้ยอมรับต่อการได้หยุดพักเป็นระยะๆ ของพนักงานบ้าง