30 May 2010

จากสถานการณ์ในปัจจุบันสิ่งที่ผู้บริหารองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนจะต้องมุ่งเน้นและให้ความสำคัญน่าจะเป็นเรื่องของการก้าวไปหน้าต่อไปเรื่อยๆ นะครับ ส่วนเรื่องการหาคนถูกหรือคนผิดนั้น ก็ควรจะเป็นหน้าที่ของฝ่ายบ้านเมืองเขาดำเนินการต่อไป แต่การที่ผู้บริหารและองค์กรจะก้าวหน้าต่อไปได้นั้น ในภาวะปัจจุบันนั้นคุณสมบัติที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการก้าวไปข้างหน้านั้นก็เป็นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ครับ ทาง IBM เขามีการทำวิจัยโดยการสำรวจ CEO กว่า 1,500 คนทั่วโลกเพื่อหาว่าอะไรคือคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้ที่เป็น CEO ในอีกห้าปีข้างหน้า และผลการสำรวจนั้นออกมาน่าสนใจมาก ครับ ในขณะที่เรากำลังคิดว่าผู้นำที่ดีนั้นจะต้องมีคุณสมบัติเรื่องของความซื่อสัตย์ หรือ ความสามารถในการตัดสินใจเป็นอันดับหนึ่งนั้น ผลปรากฏว่าผู้บริหารสูงสุดขององค์กรทั่วโลก เขามองข้ามจุดดังกล่าวไปแล้ว โดยมองว่าในอีกห้าปีข้างหน้านั้น การที่องค์กรจะพัฒนาและก้าวต่อไปข้างหน้าให้ประสบความสำเร็จได้นั้น ตัว CEO จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์ หรือ Creativity ครับ

            โดยผู้นำในลักษณะนี้เขาเรียกว่า Creative Leadership ครับ โดยเขามองกันว่าในอนาคตข้างหน้านั้น ความไม่นอนในด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้นำจะต้องมีความสามารถที่จะบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางความสับสนและไม่แน่นอนดังกล่าว ดังนั้นการที่จะบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จท่ามกลางความไม่แน่นอนได้นั้น คุณสมบัติที่สำคัญคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้พนักงานรุ่นใหม่ จะเป็นพนักงานรุ่น Gen Y ที่มีวิถีชีวิต วิธีการในการติดต่อสื่อสาร และการทำงาน ที่แตกต่างกันออกไปจากพนักงานรุ่นเดิมๆ ซึ่งการจะจูงใจและทำให้พนักงานเหล่านี้ ทุ่มเทการทำงานเพื่อองค์กรได้นั้น CEO ก็ต้องหาและสร้างสรรค์วิธีการใหม่ๆ ในการทำงาน

            ความท้าทายสำหรับท่านผู้อ่านก็คือความคิดและความสามารถในการสร้างสรรค์ของคนเรานั้นจะพัฒนาขึ้นมาได้อย่างไร??  เมื่อช่วงปิดเทอมที่ผ่านมาทางภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ที่ผมสังกัดอยู่ได้พาคณาจารย์ไปดูงานเรื่องของการคิดเชิงออกแบบและการคิดอย่างสร้างสรรค์ที่ประเทศอิตาลี ซึ่งจากการไปพูดคุยกับคนในอุตสาหกรรมออกแบบและแฟชั่นของอิตาลี ก็ทำให้เข้าใจเลยนะครับว่าทำไมอิตาลี (โดยเฉพาะอย่างยิ่งมิลาน) ถึงได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางของแฟชั่นและการออกแบบแห่งหนึ่งของโลก

            อิตาลีนั้นเขาถือว่าความคิดสร้างสรรค์ของเขามาจากวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และศิลปะครับ การที่คนอิตาลีสามารถคิดและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้ดีนั้นเกิดขึ้นจากการที่พวกเขาได้ใกล้ชิดกับศิลปวัฒนธรรมต่างๆ มาตั้งแต่เล็ก การเข้าชมพิพิธภัณฑ์ การชมงานศิลปะต่างๆ การชื่นชมต่อความงามในรูปแบบต่างๆ (Taste of Beauty) ก็เป็นบ่อเกิดหนึ่งของความคิดสร้างสรรค์แล้วครับ

            ดูตัวอย่างจากต่างประเทศก็กลับมาคิดถึงองค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนะครับ เราเองมักจะมองว่าเรื่องของศิลปะ วัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์ เป็นเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ และเป็นสิ่งที่มุ่งเน้นเพื่อการศึกษาเป็นหลัก องค์กรจำนวนมากไม่ได้ความสนใจหรือกระตุ้นให้พนักงานสนใจต่อเรื่องของศิลปะเท่าที่ควร บางองค์กรอาจจะซื้อหรือมีภาพวาดสวยๆ ของศิลปินเรืองนาม แต่ก็เป็นเพียงแค่สิ่งที่มีไว้ประทับผนังเท่านั้นเอง แต่กลับไม่ได้มองว่าศิลปะเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้พนักงานสามารถเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้

            Steve Jobs และ Apple ซึ่งทุกท่านคงยอมรับว่าสามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ผสมผสานเรื่องของ ความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบและเทคโนโลยีไว้อย่างลงตัว มีการกระตุ้นและพาพนักงานให้เข้าชมงานศิลปะเป็นประจำ Jobs เคยระบุไว้ด้วยซ้ำไปนะครับว่าเขาคิดว่าไม่สามารถแยกระหว่างเทคโนโลยีและศิลปะ ออกจากกันได้ เหมือนศิลปินเอกของอิตาลี Leonardo da Vinci นั้นแหละครับที่เป็นทั้งอัจฉริยะทางศิลปะและทางด้านเทคโนโลยีในตัวคนๆ เดียว

            ศิลปินกับความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน และภาคธุรกิจน่าจะศึกษาแนวทางในการคิดอย่างสร้างสรรค์จากศิลปินกันบ้างนะครับ นิตยสาร Fast Company เขาได้มีการจัดอันดับ 100 บุคคลแรกของโลกที่สร้างสรรค์ที่สุดในทางธุรกิจ หรือ Most Creative People in Business แล้วท่านผู้อ่านลองเดาดูนะครับว่าใครได้รับเลือกให้เป็นอันดับหนึ่ง? ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นอันดับหนึ่ง ก็คือศิลปินชื่อดัง Lady Gaga นั้นเองครับ โดยความสำเร็จของ Lady Gaga นั้นไม่ใช่เรื่องของเพลงครับ แต่เป็นความสามารถของเธอในการผสมผสานระหว่างเพลงป๊อบที่เธอชื่นชอบกับการใช้ประโยชน์จากเว็บ สร้างอาณาจักรทางธุรกิจของเธอเอง โดยมีทั้งอัลบั๊มเพลง การออกแบบ การตลาด และแบรนด์

            คงเป็นที่ยอมรับนะครับว่าเรื่องของความคิดสร้างสรรค์เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จในอนาคต และปัจจัยหนึ่งที่จะกระตุ้นและพัฒนาให้คนเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ก็เป็นเรื่องของศิลปะและวัฒนธรรมครับ ประเทศไทยเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยทั้งศิลปะและวัฒนธรรมอยู่แล้ว ดังนั้นเราอาจจะต้องเร่งใช้ประโยชน์จากศิลปะและวัฒนธรรมที่มีอยู่ในการสร้างความคิดสร้างสรรค์ และคิดว่าเราอย่ามัวแต่ฝากความหวังไว้ที่รุ่นเด็กๆ นะครับ เพราะขืนรอไปถึงจุดนั้น ประเทศไทยและองค์กรของไทยก็คงจะตามคนอื่นเขาไม่ทันกันแล้ว องค์กรต่างๆ ควรจะต้องหันมาให้ความสนใจต่อการสนับสนุนให้บุคลากรภายในของตนเองรับรู้ เข้าใจ และชื่นชมต่อศิลปะ วัฒนธรรม มากขึ้น เพื่อจะได้นำไปสู่ความสามารถในการคิดอย่างสร้างสรรค์มากขึ้นนะครับ