25 April 2010

ในช่วงที่ผ่านมามีสถานการณ์ทั้งที่เป็นโอกาสและวิกฤตมากมายนะครับ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ในประเทศไทย หรือ เหตุการณ์ที่สนามบินทั่วยุโรปจะต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากเถ้าภูเขาไฟ ข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมพบเห็นจากเหตุการณ์ในช่วงนี้คือเรื่องของการตัดสินใจของผู้บริหารหรือผู้นำในระดับต่างๆ รวมทั้งการตัดสินใจของบุคคลที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย ผมว่าจากเหตุการณ์นี้ถ้าเราได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ด้วย เราก็อาจจะได้เรียนรู้ถึงรูปแบบและวิธีการในการตัดสินใจในหลายๆ รูปแบบนะครับ บางคนก็ตัดสินใจอย่างรวดเร็วและฉับไว โดยอาจจะไม่ได้ฟังข้อมูลรอบข้างให้ครบถ้วนหรือสอบถามความเห็นของทุกคนที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน แต่ก็เน้นการตัดสินใจให้ทันกับเวลาที่กำหนด บางคนก็ให้ความสำคัญกับการตัดสินใจเป็นหมู่คณะหรือ Decision by Committee ที่จะต้องรอข้อมูลและความคิดเห็นของทุกคนให้ ครบถ้วนก่อน เป็นต้น

            ถ้าท่านผู้อ่านช่างสังเกต ลองดูวิธีการและแนวทางในการตัดสินใจของผู้นำในองค์กรท่านดูนะครับว่าเป็นอย่างไร เราจะพบว่าผู้นำแต่ละคนมีรูปแบบและวิธีการตัดสินใจที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าวิเคราะห์ไปลึกๆ อาจจะพบว่าความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นจากพื้นฐานการศึกษา บุคลิกภาพ ประสบการณ์ในอดีต วัฒนธรรมในองค์กรที่ทำงานอยู่ ฯลฯ รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามก็คือในระหว่างการตัดสินใจที่สำคัญและต้องใช้ความคิดเห็นจากหลายๆ คนนั้น ผู้นำชอบที่จะให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่างผู้มีส่วนร่วมแต่ละคน หรือ ชอบที่จะให้มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน?

            ลองสังเกตดูในองค์กรของท่านนะครับว่าในที่ประชุมที่ต้องการการตัดสินใจนั้นผู้นำของท่านชอบให้มีความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่าง หรือ ชอบให้ความคิดเห็นของทุกคนไปในทิศทางเดียวกัน?? ผู้นำหลายท่านคงจะชอบแบบหลังมากกว่านะครับ เนื่องจากถ้าความเห็นของทุกคนไปในทิศทางเดียวกันแล้วการตัดสินใจก็จะทำได้ง่ายและข้อขัดแย้งก็จะไม่ค่อยมี แต่ดูเหมือนว่าในปัจจุบันผู้นำหลายๆ ท่านโดยเฉพาะในโลกตะวันตกกลับชอบให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันก่อนทำการตัดสินใจนะครับ เหมือนกับที่เราพยายามอยากจะให้เมืองไทยมีความคิดที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยกนั้นแหละครับ

            ข้อดีของการมีความคิดเห็นที่หลากหลายและแตกต่างในการตัดสินใจนั้นมีหลายประการด้วยกันครับ ทั้งทำให้เกิดมุมมองที่หลากหลาย ไม่ใช่การมองเรื่องๆ หนึ่งจากมุมมองเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น อีกทั้งหลักการสมัยใหม่ที่เน้นนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ก็กระตุ้นให้มีความหลากหลายในข้อมูลและมุมมองก่อนการตัดสินใจ อย่างไรก็ดีความยากสำหรับผู้นำในการตัดสินใจท่ามกลางความคิดเห็นที่หลากหลายก็มีอยู่เยอะพอสมควรเลยครับ เริ่มตั้งแต่การที่ผู้นำจะเปิดใจและยอมรับในความคิดเห็นของผู้อื่นที่แตกต่างจากตนเอง เนื่องจากผู้นำหลายท่านที่ประสบความสำเร็จ และมีความมั่นใจในตนเองสูงก็จะมีความยึดมั่นและถือมั่นต่อความคิดของตนเองพอสมควรครับ ดังนั้นการที่สมาชิกในทีมจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันได้นั้นจะต้องเริ่มจากการที่ผู้นำจะต้องเปิดใจและยอมรับต่อความแตกต่างนั้นเสียก่อน

            นอกจากนี้ผู้นำยังจะต้องมีทักษะและความสามารถในการบริหารและนำการประชุมที่ดีครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการความขัดแย้ง (ดูเหมือนกลายเป็นทักษะที่สำคัญในปัจจุบันเลยนะครับ) เนื่องจากพอที่ประชุมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน และถ้าสมาชิกต่างยึดมั่นและถือมั่นต่อความเห็นของตนเอง การที่ความแตกต่างทางความคิดนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งจะไม่ใช่เรื่องยาก ดังนั้นผู้นำเองจะต้องมีทักษะในการนำการประชุม มีทักษะในการบริหารความขัดแย้ง รวมทั้งอาจจะต้องมีบารมีที่ทำให้ผู้อื่นฟังและยอมรับกันพอสมควรครับ สุดท้ายและสำคัญที่สุดคือผู้นำจะต้องมีความสามารถที่จะเลือกรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย และจะต้องสามารถตัดสินใจให้ได้ และเป็นการตัดสินใจที่ถึงแม้จะไม่ได้เป็นไปตามความต้องการของทุกคน (เนื่องจากความคิดเห็นที่หลากหลาย) แต่เมื่อผู้นำตัดสินใจแล้ว ก็จะต้องสามารถทำให้ผู้ที่มีความเห็นที่แตกต่างนั้นยอมรับและปฏิบัติตามการตัดสินใจได้

            ประเด็นสุดท้ายนั้นแหละครับที่ผมมองว่ายากและท้าทายที่สุดสำหรับผู้นำ ผมเจอผู้นำหลายท่านที่พอเจอความเห็นที่แตกต่างกันแล้ว แทนที่จะตัดสินใจกลับชะลอหรือดึงเรื่องออกไปเรื่อยๆ เนื่องจากไม่ชอบเผชิญกับความขัดแย้ง หรือบางท่านก็นิยมการโหวตแบบพวกมากลากไป ทั้งๆ ที่สิ่งที่ความคิดเห็นของคนส่วนมากนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร แต่ผู้นำก็ไม่สามารถแสดงวุฒิภาวะทางด้านผู้นำของตนเองออกมาได้ทั้งในการชักจูงให้คนอื่นเห็นสอดคล้องกับตนเอง และการตัดสินใจที่ชัดเจนและเฉียบคม ผมเองเคยอ่านเจอประวัติของอดีตประธานาธิบดีเคเนดี้ของสหรัฐที่ชอบที่จะรวบรวมคนเก่งๆ มาไว้ด้วยกัน จากนั้นโยนปัญหาหรือโจทย์ให้ และปล่อยให้คนเก่งเหล่านั้นได้โต้เถียงและแสดงความคิดเห็นกัน อดีตประธานาธิบดีก็จะนั่งฟังการโต้เถียงของคนเก่งเหล่านั้นไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งก็จะเข้ามายุติการโต้เถียง และทำการตัดสินใจ โดยเมื่อตัดสินใจแล้วก็จะก้าวไปในประเด็นต่อไป

            น่าศึกษาและคงต้องคอยเฝ้าสังเกตถึงแนวทางการตัดสินใจของผู้นำของท่านนะครับว่าท่ามกลางความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย จะมีวิธีการในการตัดสินใจอย่างไร