23 May 2010

เหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศไทยถือว่าผ่านไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว ส่วนของการหาผู้ที่กระทำผิดมาลงโทษก็เป็นสิ่งที่ฝ่ายรักษากฎหมายต้องดูแลกันต่อไป ส่วนการฟื้นฟูจิตใจและแก้ไขปัญหาให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว สิ่งที่อยากจะร่วมคิดดังๆ กับท่านผู้อ่านก็คือการพัฒนาประเทศไทยในระยะกลางถึงยาว เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและอุดช่องโหว่ต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา

            ถึงแม้ความไม่สงบที่เกิดขึ้นจะเกิดขึ้นจากความไร้คุณธรรมและความเห็นแก่ตัวของบุคคลเพียงไม่กี่คนเป็นหลัก แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้นะครับว่าอีกสาเหตุที่สำคัญของการมาชุมนุมก็คือความแตกต่างที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งเป็นความแตกต่างในหลายๆ เรื่องระหว่างผู้ที่มีกับผู้ที่ไม่มี หรือ ระหว่างผู้ที่มีการศึกษากับผู้ที่ด้อย หรือ ระหว่างผู้ที่อยู่ในเมืองกับในชนบท ฯลฯ ส่วนของความแตกต่างที่เกิดขึ้นนั้นก็มีอยู่หลายประการครับ ทั้งความแตกต่างทางฐานะ ทางสังคม ทางวัตถุ ทางโอกาส ทางความคิด ทางความรู้ การศึกษา ทางข้อมูลที่ได้รับ ฯลฯ ถ้าเรามองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส แล้วช่วยกันคิด ช่วยกันปฏิบัติเพื่อหาทางลดความแตกต่างนี้ที่เกิดขึ้น และเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

            ผมมองว่าการที่เราจะลดความแตกต่างเหล่านี้ได้ จะต้องมองทุกอย่างเป็นระบบหรือเชิงองค์รวมพอสมควรนะครับ ไม่ใช่แค่การปรับเพียงด้านใดด้านหนึ่งหรือเพียงแค่ไม่กี่ปัจจัยแล้วก็จะลดช่องว่างหรือความแตกต่างที่เกิดขึ้นมาได้ การพัฒนาและปรับปรุงประเทศเพื่อที่จะลดช่องว่างและความแตกต่างที่จะเกิดขึ้นนั้นควรที่จะเกิดขึ้นทั้งในเชิงสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา ข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ ในส่วนของสังคมนั้น ความแตกต่างที่เกิดขึ้นมาจากความแตกต่างทางสังคมระหว่างผู้ที่มีและผู้ที่ไม่มี ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจสมัยใหม่ก็จะยิ่งทำให้ความแตกต่างนี้ขยายวงชัดเจนมากขึ้น ซึ่งในสภาพเศรษฐกิจสมัยใหม่ความแตกต่างดังกล่าวถ้าปล่อยไว้เรื่อยๆ ก็จะยิ่งทวีความแตกต่างมากขึ้น และถ้าไม่แก้ไขหรือทำสิ่งใดปัญหาที่เกิดขึ้นกับประเทศในช่วงที่ผ่านมาก็อาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง เท่าที่ทราบมาในปัจจุบันบุคคลชั้นนำกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยกำลังเสนอแนวทางในการลดความแตกต่างทางสังคมนี้ โดยการกระตุ้นและสนับสนุนให้พัฒนาระบบสวัสดิการต่างๆ ให้กับประชาชนชาวไทยอย่างทั่วถึง ซึ่งในส่วนนี้อาจจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของประเทศในการพัฒนาไปสู่ให้ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ในการที่ประชาชนทุกส่วนทุกระดับจะมีระบบสวัสดิการที่เท่าเทียมและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม

            นอกเหนือจากเรื่องของการลดความแตกต่างในสังคมแล้ว ความแตกต่างทางเศรษฐกิจก็เป็นช่องว่างที่สำคัญอีกประการของประเทศ (เป็นความแตกต่างและช่องว่างที่สัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับช่องทางสังคม) การจะลดช่องว่างในส่วนนี้อาจจะต้องนำหลักการทางบริหารธุรกิจในช่วงหลังที่เน้นให้สนใจต่อกลุ่มบุคคลฐานปิรามิดหรือ Bottom of the Pyramid เข้ามาใช้มากขึ้น ซึ่งกลุ่มบุคคลเหล่านี้คือบุคคลที่มีจำนวนมากที่สุด ในประเทศแต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดของประเทศเช่นเดียวกัน ในการลดช่องว่างทางเศรษฐกิจนี้ ภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นครับ ซึ่งในทีนี้ไม่ใช่เพียงแค่การทำกิจกรรมเพื่อชุมชนหรือสังคม แบบที่เรารู้จักกันดีในชื่อของ CSR หรือ Corporate Social Responsibility ที่องค์กรธุรกิจต่างๆ นิยมทำกันในปัจจุบัน แต่เป็นการพัฒนา สินค้า หรือ บริการต่างๆ เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มฐานของปิรามิดมากกว่าที่จะพัฒนาสินค้าหรือบริการเพื่อชั้นกลางและชั้นสูง สรุปก็คือธุรกิจควรจะมุ่งตอบสนองต่อความต้องการของกลุ่มฐานปิรามิดให้มากขึ้น แทนที่จะมุ่งเน้นสนองต่อความต้องการของผู้มีอันจะกินเพียงอย่างเดียว จริงๆ แล้วกลุ่มฐานของปิรามิดนั้น ถือเป็นลูกค้าที่ไม่ได้รับความใส่ใจหรือ Ignored Customer ขององค์กรธุรกิจจำนวนมาก อย่างไรก็ดีสิ่งที่ผมนำเสนอนั้นวัตถุประสงค์แตกต่างจากนโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองหันมาใช้กันมากขึ้นนะครับ หลักการของการมุ่งตอบต่อความต้องการของกลุ่มบุคคลที่เป็นฐานปิรามิดนั้น ก็เพื่อให้กลุ่มดังกล่าวได้มีสินค้าและบริการที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตนเองโดยเฉพาะ เพื่อที่จะนำไปสู่การลดช่องว่างหรือความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ส่วนประชานิยมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างฐานและคะแนนนิยมให้กับพรรคการเมืองมากกว่า

            นอกจากนิ้องค์กรที่มีลักษณะเป็น Social Enterprise หรือผู้ประกอบการที่มีลักษณะเป็น Social Entrepreneur ก็ควรจะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น โดยองค์กรเพื่อสังคมเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรสาธารณกุศลหรือ NGO ในแบบเดิมที่เราคุ้นเคยแต่เป็นองค์กรหรือผู้ประกอบการที่มุ่งเน้นการแสวงหากำไรเหมือน องค์กรธุรกิจทั่วๆ ไป เพียงแต่แทนที่จะมุ่งเน้นแต่ผลกำไรเพียงอย่างเดียวองค์กรและผู้ประกอบการลักษณะนี้ จะมุ่งผลตอบแทนที่สังคมจะได้รับด้วย และอย่างที่ย้ำนะครับ เนื่องจากชอบมีผู้เข้าใจผิดตลอดว่าองค์กรและผู้ประกอบที่ในลักษณะดังกล่าวแตกต่างจาก CSR ที่นิยมกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุประสงค์ของ ก่อตั้งและดำรงอยู่ขององค์กรธุรกิจ เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ไม่ได้มุ่งตอบสนองต่อผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนเพียงอย่างเดียว แต่วัตถุประสงค์ที่สำคัญในระดับเดียวกันก็คือเพื่อสังคมด้วย             ขอนำเสนอสองปัจจัยแรกในการปรับปรุงและพัฒนาสังคมเพื่อนำไปสู่การลดวามแตกต่างและช่องว่างของคนในประเทศก่อนนะครับ ผมมองว่าถ้าเราสามารถพลิกวิกฤตในครั้งนี้และมีกรอบและแนวทางในการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน ก็น่าจะทำให้ประเทศไทยเหมือนกับนกฟินิกซ์ ซึ่งเป็นนกในตำนานของฝรั่งที่เมื่อถึงรอบระยะเวลาหนึ่งก็จะเผาตนเองเป้นเถ้าถ่านเพื่อเกิดใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม เราอาจจะเผชิญกับเพลิงไฟและเถ้าถ่านจากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น แต่ถ้ามีกรอบและแนวทางที่ชัดเจน อีกทั้งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเราก็อาจจะสามารถนำพาประ