
22 March 2010
เรื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้นดูเหมือนเป็นเรื่องที่เขียนถึงได้ตลอดเวลาและไม่จบสิ้นนะครับ ในขณะเดียวกันแนวทางในการบริหารการเปลี่ยนแปลงนั้นก็เป็นสิ่งที่นักวิชาการและผู้บริหารเฝ้าติดตามศึกษากันอย่างใกล้ชิด แม้กระทั่งจากสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันเราก็สามารถเรียนรู้ถึงเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลงได้เช่นเดียวกันครับ เริ่มจากผู้ที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเลยครับ กล่าวกันว่าบทบาทหรือหน้าที่ที่สำคัญของผู้บริหารคือการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง แต่หลายครั้งที่เราพบว่าผู้บริหารกลับกลายเป็นผู้ที่ไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเสียเอง โดยมักจะยึดติดกับกรอบและวิธีการดำเนินงานแบบเดิมๆ จนไม่คิดและไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงอะไร ก็เลยมีข้อสังเกตว่าจริงๆ แล้วผู้ที่จะขึ้นมาเป็นผู้บริหารควรจะทำหน้าที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงหรือเป็นผู้ที่คอยฆ่าการเปลี่ยนแปลง?
ในทางวิชาการเราแบ่งผู้บริหารออกเป็นสองประเภทนะครับ นั้นคือผู้ที่เป็นผู้นำหรือ Leader กับผู้ที่เป็นผู้จัดการ หรือ Manager ซึ่งผู้ที่เป็นผู้นำนั้นจะเป็นผู้ที่คอยนำหรือชี้นำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน ทางที่ดีขึ้นแก่องค์กร ส่วนผู้ที่เป็นผู้จัดการนั้นเป็นผู้ที่คอยดูแลให้การดำเนินงานต่างๆ เป็นไปอย่างมี ประสิทธิภาพ ไม่มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารและนำการเปลี่ยนแปลงได้ นั้นควรจะมีลักษณะของความเป็นผู้นำมากกว่าผู้จัดการ แต่ก็ใช่ว่าในองค์กรควรจะมีแต่ผู้นำเพียงอย่างเดียว นะครับ แต่ควรจะต้องมีความสมดุลระหว่างผู้นำกับผู้จัดการ มิฉะนั้นผู้นำก็คอยแต่จะก้าวไปข้างหน้าหรือทำ การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยละเลยเรื่องของประสิทธิภาพและความถูกต้องต่างๆ
นอกเหนือจากความแตกต่างระหว่างผู้นำกับผู้จัดการแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจถัดมาเกี่ยวกับการบริหารการเปลี่ยนแปลงก็คือ จะเปลี่ยนไปเพื่อใคร? เรื่องนี้สามารถเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้เลยครับว่า ฝ่ายที่เรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ต้องการเปลี่ยนไปเพื่อใคร? ตามหลักการบริหารที่เราเรียกว่า Servant Leadership หรือผู้นำที่เป็นผู้รับใช้นั้น ระบุไว้เลยครับว่าผู้นำที่ดีนั้น จะต้องอยากจะเป็นผู้นำหรืออยากจะทำการใดๆ ก็ตาม เพื่อต้องการที่จะรับใช้ต่อบุคคลในองค์กรเป็นหลัก เช่นเดียวกับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงครับ การเปลี่ยนแปลงใดๆ นั้นจะต้องเริ่มจากคำถามก่อนว่าเปลี่ยนไปเพื่อใครหรือเพื่ออะไร? ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงไปเพื่อตัวบุคคลเพียงไม่กี่คนโดยไม่ได้คำนึงถึงบุคคลส่วนใหญ่ในองค์กร การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็ไม่มีความจำเป็นครับ แต่ถ้านำหลักของผู้นำที่เป็นผู้รับใช้มาคิด ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเพื่อเป็นการรับใช้หรือตอบสนองต่อบุคคลในองค์กรส่วนใหญ่ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่มีความจำเป็น
ประเด็นหนึ่งที่ผมเองเคยพูดคุยกับเพื่อนที่เป็นนักธุรกิจเรื่องของการเปลี่ยนแปลงนั้นก็คือ การเปลี่ยนแปลงที่ดีนั้นจะต้องเปลี่ยนที่คนหรือเปลี่ยนที่ระบบ? ส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่าการเปลี่ยนแปลงในองค์กรจะสำเร็จได้นั้นจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงที่คน เนื่องจากถ้าคนในองค์กรไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วองค์กรจะเปลี่ยนได้อย่างไร? อย่างไรก็ดีความยากก็มีอยู่ด้วยกันสองเรื่องหลักๆ ครับ นั้นคือถ้าเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่มาก และบุคลากรก็มีความหลากหลายในความคิดและค่านิยม การที่จะทำให้คนทั้งองค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงจะทำได้อย่างไร? อีกประเด็นคือการเปลี่ยนแปลงที่คนจะต้องใช้เวลานานพอสมควร แต่ถ้าผู้บริหารเข้ามาบริหารโดยมีวาระหรือเป็นการบริหารที่ขาดความต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวบุคคลได้อย่างไร?
ผมเองได้เคยพบเห็นประสบการณ์จากบางองค์กรที่แทนที่จะเปลี่ยนแปลงโดยเริ่มจากคนก่อน ผู้บริหารขององค์กรนั้นกลับมองอีกมุมหนึ่งแทน นั้นคือเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงที่ระบบก่อน จากนั้นใช้ตัวระบบเป็นสิ่งที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่คนอีกที พูดง่ายๆ ก็คือถ้าไม่สามารถเปลี่ยนคนจำนวนมากที่มีความหลากหลายและความแตกต่างทางความคิดได้ ก็ให้เริ่มเปลี่ยนแปลงที่ระบบแทน จากนั้นเมื่อระบบเปลี่ยน ก็จะง่ายขึ้นสำหรับการที่จะทำให้คนในองค์กรเปลี่ยน เนื่องจากเมื่อระบบเปลี่ยนแล้ว ทำให้คนซึ่งต้องปฏิบัติตามระบบต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
การบริหารการเปลี่ยนแปลงขององค์กรแต่ละแห่งนั้นไม่เหมือนกันนะครับ หรือสำหรับแต่ละวัฒนธรรมก็มีความแตกต่างกัน ถึงแม้จะมีหนังสือเรื่องของการบริหารการเปลี่ยนแปลงออกมามาก แต่ก็ใช่ว่าแนวทางในการบริหารการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นจะสามารถตัด ลอก และนำมาใช้ได้ในทุกองค์กร ผู้บริหารที่ดีจะต้องรู้ว่าองค์กรของตนเองนั้น การที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องมีแนวทางและวิธีการในการบริหารอย่างไร สูตรสำเร็จนั้นไม่มี เพียงแต่เราอาจจะหรือสามารถที่จะเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นได้เท่านั้นเองครับ เช่นเดียวกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เราก็สามารถศึกษาถึงแนวทางในการบริหารการเปลี่ยนแปลงของบรรดาแกนนำในฝ่ายต่างๆ ได้ รวมทั้งดูว่าสุดท้ายแนวทางดังกล่าวนำไปสู่ความสำเร็จหรือความล้มเหลว