
6 April 2010
ช่วงนี้เป็นช่วงหยุดยาว ดังนั้นผมจึงขอพักจากเรื่องเครียดๆ รอบตัวเรา และชักชวนท่านผู้อ่านให้ใช้เวลาที่หยุดยาวนี้ให้เป็นประโยชน์ครับ โดยส่วนใหญ่เมื่อถึงช่วงปีใหม่ของฝรั่งเราก็มักจะตั้งจิตอธิษฐานหรือตั้งความหวังไว้ว่าปีหน้าเราจะทำอะไรบ้าง คราวนี้เราลองถือโอกาสช่วงปีใหม่ไทยหันกลับมาทบทวนตนเอง รวมทั้งทบทวนในสิ่งที่จะทำต่อไปด้วยกันดีกว่าครับ แต่คราวนี้ผมขอเสนอให้ลองนำพวกเครื่องมือทางการบริหารจัดการทั้งหลายที่ท่านผู้อ่านพอจะคุ้นเคยอยู่แล้ว ให้นำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารตนเองดูครับ หลายๆ ท่านที่เป็นผู้บริหารจะมีการใช้บรรดาเครื่องมือทางการจัดการใหม่ๆ ในการบริหารองค์กรของท่านอยู่แล้ว แต่ลองกลับมามองอีกมุมหนึ่งนะครับว่าท่านได้เคยนำเครื่องมือหรือแนวคิดเหล่านั้นมาใช้ในการวิเคราะห์และบริหารชีวิตของท่านเองบ้างไหม?
เริ่มต้นง่ายๆ จากการวิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และข้อจำกัด หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อของเจ้า SWOT ก่อนเลยครับ องค์กรทุกแห่งเวลาทำแผนก็ต้องมีการวิเคราะห์ SWOT กัน แต่เราได้เคยวิเคราะห์ SWOT ของตัวท่านเองบ้างไหมครับว่า ณ ปัจจุบัน ตัวท่านเองทั้งชีวิตส่วนตัวหรือการทำงานนั้น มีอะไรบ้างที่เป็นจุดแข็ง เป็นจุดอ่อน มีโอกาสหรืออุปสรรค อะไรบ้างที่กำลังผ่านเข้ามาในชีวิตของท่าน แต่การวิเคราะห์ SWOT ของท่านนั้นก็ต้องก้าวข้ามปัญหาที่องค์กรต่างๆ เผชิญด้วยนะครับ นั้นคือต้องวิเคราะห์ด้วย ความเที่ยงธรรม ตามข้อเท็จจริงที่เป็นอยู่ ไม่ใช่วิเคราะห์เข้าข้างตัวเอง อีกทั้งข้อมูลต่างๆ ก็ควรจะเกิดขึ้นจาก ข้อเท็จจริงที่จับต้องได้ ไม่ใช่แค่ความรู้สึก และที่สำคัญคือไม่ควรจะมองจากตนเองเพียงอย่างเดียว ควรจะ มองจากภายนอกเข้ามาภายในด้วย นั้นคือลองสอบถามความเห็นจากบุคคลรอบข้างถึงจุดแข็งหรือจุดอ่อน ของเราก็ได้ครับ เหมือนกับการรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าในองค์กรเลย
แต่ถ้าท่านผู้อ่านรู้สึกว่าถ้าทำให้ถูกต้องตามหลักการนั้นมันยุ่งยากมากเกินไป ก็ลองทำง่ายๆ ก่อนก็ได้ครับ มิฉะนั้นจะหมดกำลังใจไปเสียก่อน ทีนี้เมื่อท่านวิเคราะห์ SWOT ตัวท่านเองแล้ว ก็ต้องอย่าลืมนำผลของ SWOT ดังกล่าวมาใช้นะครับ อย่าทำตัวเหมือนองค์กรทั่วๆ ไปที่วิเคราะห์แต่ SWOT เพื่อให้เป็นไปตาม ที่เขากำหนด แต่ไม่ค่อยได้นำผลของการวิเคราะห์ SWOT มาใช้
การจะนำผลของ SWOT มาใช้นั้นสามารถทำได้หลายรูปแบบครับ รูปแบบแรก จากผลการ วิเคราะห์ SWOT ท่านลองนำมาใช้ในการกำหนดวิสัยทัศน์ของตัวท่านเองดูซิครับ องค์กรส่วนใหญ่มีการกำหนดวิสัยทัศน์หรือสิ่งที่ต้องการจะบรรลุในอนาคตไม่ไกล ท่านผู้อ่านก็ลองถามตนเองดูนะครับว่า สำหรับตัวท่านแล้ว ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า อะไรคือสิ่งที่ท่านต้องการจะบรรลุ เปรียบเสมือนเป็นวิสัยทัศน์ของตัวท่านเอง จากนั้น ท่านก็ย้อนกลับไปทบทวนผลจาก SWOT ของท่านว่า ท่านจะใช้ประโยชน์จากจุด แข็งและโอกาสที่จะเข้ามาได้อย่างไร หรือ จะหาทางหลบเลี่ยงหรือพัฒนาข้อจำกัดหรือจุดอ่อนได้อย่างไร เพื่อให้ท่านสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ที่ท่านกำหนดขึ้นมาได้
ข้างต้นทั้งหมดนั้นก็เปรียบเสมือนขั้นตอนของการวางแผนกลยุทธ์ของตัวท่านเองครับ ซึ่งก็เหมือนในองค์กรทั่วๆ ไปอีกครับว่าการเขียนวิสัยทัศน์หรือแผนงานต่างๆ นั้น ทำได้ไม่ยากแต่ที่ยากคือการนำแผนนั้นไปปฏิบัติ กับตัวเราเองก็เช่นเดียวกันครับ ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านจำนวนมากเคยนั่งวางแผนชีวิตตนเองกันมาบ้างแล้ว แต่ก็มักจะมาตกม้าตายในขั้นของการนำแผนนั้นไปปฏิบัติ ซึ่งก็เหมือนกับองค์กรต่างๆ นั้นเองครับ
ความยากนั้นเริ่มจากต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงครับ ในองค์กรทั่วๆ ไปนั้น จะนำแผนไปปฏิบัติก็ต้องอาศัยความสามารถในการบริหารการเปลี่ยนแปลง แต่การบริหารตนเองนั้น เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงนั้น ก็ต้องมีการบริหารการเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นเดียวกันครับ และที่ยากที่สุดก็คือการเปลี่ยนแปลงตนเองนั้น ยากกว่าการเปลี่ยนแปลงผู้อื่นครับ ผมพบเจอผู้บริหารหลายท่านเลยครับที่สารภาพออกมาเลยว่า ตนเองบริหารองค์กรจนสำเร็จ สามารถบริหารการเปลี่ยนแปลงได้จนประสบผลสำเร็จมานักต่อนัก แต่ก็มักจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตนเองได้ ท่านผู้อ่านลองนึกดูง่ายๆ ก็ได้ครับว่าท่านประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงตนเองบ้างหรือไม่?? เช่น เราบอกว่าอยากจะผอม ดังนั้นต้องกินให้น้อย และออกกำลังกายให้มาก แต่การจะกินให้น้อยลงหรือออกกำลังกายให้มากขึ้นนั้น ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่ก็มักจะไม่ประสบความสำเร็จในการลดความอ้วน
หลักสำคัญต่างๆ ของการบริหารการเปลี่ยนแปลงของสามารถนำมาปรับใช้ในการบริหารการเปลี่ยนแปลงในตัวเราได้เช่นเดียวกันครับ เช่น การเริ่มต้นจากความจำเป็นหรือความเร่งด่วนที่จะเปลี่ยนแปลง สังเกตพวกที่อยากจะลดความอ้วนแต่ไม่สำเร็จดูก็ได้ครับ ถ้าเกิดคนเหล่านี้ไปตรวจร่างกายแล้วพบว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อโรคร้ายบางอย่าง ความจำเป็นหรือความเร่งด่วนก็จะเกิดขึ้น และการเปลี่ยนพฤติกรรมในการออกกำลังกายและการบริโภคถึงจะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ดีหลักสำคัญในการบริหารการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่แค่การเริ่มต้นจากความจำเป็นหรือความเร่งด่วนแล้วก็จบนะครับ กว่าจะจบจริงๆ ก็คือการทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นฝังรากลึกจนเป็นแนวทางปฏิบัติไปเลย ซึ่งในชีวิตส่วนตัวเราก็มีปัญหาในส่วนนี้เช่นเดียวกัน หลายท่านเริ่มเปลี่ยนแปลงเนื่องจากมีความจำเป็นหรือความเร่งด่วน เช่น เริ่มกินอาหารที่ถูกสุขภาวะมากขึ้น เนื่องจากสุขภาพไม่ดี แต่พอทำได้ซักระยะก็กลับไปบริโภคเหมือนเดิม เสมือนไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาเลย
ท่านผู้อ่านคงพอจะเห็นได้จากเนื้อหาในสัปดาห์นี้นะครับว่าเราสามารถที่จะปรับหรือนำหลักการในการบริหารองค์กรสมัยใหม่ มาปรับใช้กับการบริหารและพัฒนาตนเองได้นะครับ เพียงแต่ต้องรู้จักที่จะปรับให้เหมาะสมและนำมาใช้อย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญครับ