24 January 2010

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จัดงานสัมมนา CEO Showcase ถอด DNA องค์กรนวัตกรรมยอดเยี่ยม โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของสาม บริษัทที่ได้รับรางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมประจำปีที่แล้วมาบรรยายและร่วมอภิปราย (ทั้งสามบริษัทได้แก่ เครือซิเมนต์ไทย ทรูคอร์ป และ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) และผมเองได้มีโอกาสเป็นพิธีกรและผู้ดำเนินราย การ ซึ่งเชื่อว่าผู้ที่เข้าฟังคงได้รับประโยชน์และมุมมองที่เป็นประโยชน์กันไปพอสมควรนะครับ แต่เสียดาย ว่าเวลาที่มีอยู่น้อยเกินไป ทำให้คำถามหลายๆ คำถามที่เตรียมไว้ ไม่สามารถถามได้ และคำถามหนึ่งที่ผม เตรียมไว้แต่ยังไม่ได้มีโอกาสถามผู้บริหารระดับสูงจากทั้งสามบริษัทก็คือ การที่พนักงานคนๆ หนึ่งจะมีความสามารถในด้านของความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้นั้น คนๆ นั้นควรจะต้องมีคุณสมบัติ อย่างไรบ้าง?

            จริงอยู่นะครับที่ผู้บริหารทั้งสามบริษัทได้อธิบายถึงแนวทางในการทำให้องค์กรของตนเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรมขึ้นมา โดยส่วนใหญ่แล้วก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของค่านิยมและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นในเรื่องของนวัตกรรมมากขึ้น อีกทั้งบทบาทของผู้บริหารที่ไม่ใช่แค่พูดเรื่องของนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องปฏิบัติและสนับสนุนต่อเรื่องของนวัตกรรมอย่างเต็มที่อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีพวกกิจกรรมต่างๆ ที่สนับสนุนความเป็นองค์กรนวัตกรรมอีก ไม่ว่าจะเป็นการจัดประกวดนวัตกรรมภายในบริษัท การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา การปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมทางด้านกายภาพภายในองค์กรเพื่อเอื้อให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์และเกิดจินตนาการขึ้น ฯลฯ อย่างไรก็ดีคำถามที่ผมเองยังอยากจะถามเพิ่มเติมอีกก็คือคุณสมบัติของคนที่จะสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์หรือมีจินตนาการได้นั้น ควรจะมีอะไรบ้าง? และถ้าเป็นคนที่ไร้ซึ่งจินตนาการหรือความคิดสร้างสรรค์ จะสามารถสร้างความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้อย่างไร?

            กลับมาผมเลยลองค้นๆ พวกงานวิจัยต่างๆ ของต่างประเทศจากหลายๆ แหล่ง เพื่อหาคำตอบว่าการที่คนจะมีความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมได้นั้น ควรจะต้องมีคุณลักษณะหรือคุณสมบัติอย่างไรบ้าง? ซึ่งสิ่งที่พบนั้นก็มีลักษณะที่คล้ายๆ กันจากหลายๆ แหล่งนะครับ ก็เลยขอนำสิ่งที่พบมานำเสนอต่อท่านผู้อ่าน เพื่อที่จะได้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมว่าในการเป็นองค์กรนวัตกรรมนั้น นอกจากผู้นำ สภาพแวดล้อม วัฒนธรรมในการทำงานแล้ว บุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการคิดค้น จินตนาการ และสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ นั้น ควรจะมีคุณลักษณะอย่างไร

            คุณสมบัติประการแรกคือการมีประสบการณ์ที่หลากหลายครับ การมีประสบการณ์ที่หลากหลายนั้นหมายความว่าจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรอบรู้ในหลายๆ เรื่อง เรียกได้ว่าควรจะเป็นคนที่ทั้งรู้ลึกและรู้รอบ และมีลักษณะเป็นตัวอักษร T ในภาษาอังกฤษ นั้นคือมีความรู้ลึกเหมือนเส้นแนวดิ่ง และรู้รอบเหมือนเส้นที่ครอบอยู่บนตัวทีนั้นเองครับ  เนื่องจากการมีความรู้รอบและประสบการณ์ที่หลากหลายนั้น ก็จะนำไปสู่คุณสมบัติข้อที่สองครับ นั้นคือต้องมีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งนี้เนื่องจากหลายครั้งสิ่งใหม่ๆ ที่คิดขึ้นมานั้น จริงๆ แล้วเป็นการเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้วเข้าไว้ด้วยกันมากกว่า ดังนั้นการที่เรามีทั้งประสบการณ์และความรอบรู้ที่หลากหลาย อีกทั้งมีความรู้ลึกในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อีกทั้งมีความสามารถในการเชื่อมโยงสิ่งที่อาจจะดูเหมือนกันหรือไม่เหมือนกันเข้าไว้ด้วยกันได้ ย่อมทำให้บุคคลผู้นั้นสามารถเชื่อมโยงในสิ่งที่ตนเองรู้รอบ ให้เข้ากับสิ่งที่ตนเองรู้ลึก เพื่อสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆ

            ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมนั้นมักจะเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงในสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน ทั้งสิ่งที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวข้องกันก็ได้ ดังนั้นคุณสมบัติประการถัดมาคือความเป็นคนช่างสังเกตครับ ซึ่งก็เหมือนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญของนักวิทยาศาสตร์ นั้นคือความเป็นคนช่างสังเกต โดยเฉพาะสังเกตในสิ่งต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานหลักที่ทำ จากนั้นเชื่อมโยงสิ่งที่ได้สังเกตเห็นหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์เข้ากับงานหลักที่ตนเองทำเพื่อสร้างสรรรค์สิ่งใหม่ๆ

            นอกจากนี้ยังพบว่าพวกที่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้นั้นมักจะเป็นพวกที่ชอบตั้งคำถาม และลองผิดลองถูก นั้นคือไม่เคยพอใจต่อสิ่งที่เป็นอยู่ คนเหล่านี้จะคอยตั้งคำถามอยู่ตลอดเวลา และคำถามเหล่านี้สามารถคนทั่วๆ ไปแล้วก็อาจจะรับไม่ได้เนื่องจากบางคำถามอาจจะดูขัดกับวิธีการคิดแบบปกติ เช่น ผมสอนหนังสือก็ปกติสอนในห้องเรียน แต่ถ้ามีคนถามว่าทำไมต้องนั่งเรียนในห้องเรียนด้วย? สามารถไปเรียนกลางสนาม นั่งเรียนที่ร้านกาแฟ หรือ เดินไปเรียนไปที่มาบุญครองได้ไหม? นอกจากความเป็นคนชอบตั้งคำถามแล้ว คนเหล่านี้ยังจะต้องพร้อมและกล้าที่จะลองผิดลองถูกครับ เพราะถ้าไม่กล้าและไม่พร้อมที่จะลองแล้ว ก็ไม่พร้อมที่จะออกนอกกรอบเดิมๆ ที่ทำไว้ องค์กรจะต้องเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้ทดลอง ได้ลองผิดลองถูก ซึ่งอาจจะพบว่าลองผิดลองถูกสิบครั้งอาจจะผิดเก้าครั้งถูกหนึ่งครั้ง แต่การถูกหนึ่งครั้งนั้นอาจจะทำให้องค์กรพบอะไรใหม่ๆ ที่มีค่ามากกว่าการลองผิดเก้าครั้งที่ผ่านมาก็ได้

            ดังนั้นถ้าองค์กรท่านอยากจะส่งเสริมให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์และความสามารถทางนวัตกรรมเพิ่มขึ้นก็ลองนำหลักต่างๆ ข้างต้นไปปรับใช้ดูนะครับ ทั้งการทำให้มีประสบการณ์ที่หลากหลาย การทั้งรู้รอบและรู้ลึก การช่างสังเกต การเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน การตั้งคำถาม และการลองผิดลองถูกครับ