31 January 2010

ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งงงว่าหัวข้อบทความในสัปดาห์นี้เป็นชื่อหนังเรื่องใหม่นะครับ เพียงแต่สังเกตว่าในช่วงนี้มีทั้งงานคืนสู่เหย้า งานเลี้ยงรุ่นกันเยอะมาก ผมเองเมื่อศุกร์ที่แล้วก็มีงานคืนสู่เหย้าของคณะบัญชี จุฬาฯ พอวันเสาร์ก็เลี้ยงรุ่นเพื่อนๆ สมัยเรียนสาธิตจุฬาฯ พอไม่ได้เจอเพื่อนเก่าๆ ที่ไม่ได้เจอกันเป็นสิบๆ ปี สิ่งที่คุยกันก็หนีไม่พ้นการพูดคุยถึงเรื่องต่างๆ ในอดีต ก็เลยทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมานะครับว่าทำไมเรื่องราวบางเรื่องราว ชื่อคน สถานที่ เหตุการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นมาเป็นสิบๆ ปีที่แล้วกลับยังจดจำได้เป็นอย่างดี แต่เหตุการณ์หลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้กลับลืมเลือนไปจากความทรงจำของเราได้

            ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับว่าทำไมเราถึงจำทั้งชื่อ นามสกุล ชื่อพ่อ ชื่อแม่ ของเพื่อนเก่าที่รู้จักกันมาตั้งแต่ประถมทั้งๆ ที่ไม่ได้เจอกันเป็นสิบๆ ปี ได้ แต่เรากลับลืมชื่อของคนที่เราเพิ่งประชุมด้วยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หรือ เรายังจำเหตุการณ์ที่ไปเที่ยวกับเพื่อนๆ เมื่อนานมาแล้วได้ แต่ทำไมเรากลับลืมถึงการไปซื้อของกับภรรยาเมื่อไม่นานมานี้ (อันนี้ไม่ใช่ผมนะครับ) ทำไมเราสามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตนานมาแล้วได้ แต่กลับลืมเลือนเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้?

            เคยอ่านเจอเกี่ยวกับเรื่องนี้ แล้วเขาอธิบายว่าคนเรามีความทรงจำอยู่สามแบบครับ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Sensory Memory, Shot-Term Memory, Long-Term Memory เมื่อเราได้รับรู้ข้อมูลใดๆ ก็ตามไม่ว่าทางสื่อไหนก็แล้วแต่ เราจะใช้ Sensory Memory ในการจดจำข้อมูลดังกล่าว เพียงแต่ข้อมูลนั้นจะคงอยู่เพียงแค่ไม่วินาทีเท่านั้นเองครับ จากนั้นถ้าข้อมูลที่เรารับรู้นั้นไม่ได้รับความสนใจจากเรา ความทรงจำดังกล่าวก็จะถูกลบไป แต่ถ้าเป็นข้อมูลหรือสิ่งที่สมองเราสนใจ ข้อมูลดังกล่าวก็จะถูกส่งไปยังเจ้า Short-Term Memory หรือความทรงจำระยะสั้นครับ

            เมื่อข้อมูลเข้ามาอยู่ในความทรงจำระยะสั้นแล้ว บรรดานักวิชาการเขาก็บอกว่าข้อมูลเหล่านี้จะเก็บอยู่ไม่นาน บางคนบอกว่าไม่เกิน 20 วินาทีเท่านั้นเองครับ และแถมเจ้าความทรงจำระยะสั้นนั้นยังเก็บข้อมูล ได้ไม่มากอีกด้วย มีงานวิจัยที่บอกว่าเก็บได้มากที่สุดไม่เกิน 7 อย่างเท่านั้นเองครับ ส่วนการที่เราจะทำให้ความทรงจำระยะสั้นสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้นนั้น ก็ต้องมีการแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนๆ ครับ เหมือนกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ แทนที่เราจะบอกไปทีเดียวทั้งสิบตัว เราก็จะแบ่งเป็นสามสามสี่ นั้นคือสามตัวแรก สามตัวที่สอง และสี่ตัวสุดท้าย (08x-xxx-xxxx)

            สำหรับความทรงจำแบบสุดท้ายที่ทำให้เราสามารถจดจำสิ่งต่างๆ ได้ในระยะเวลาอันนานนั้นเรียกว่า Long-Term Memory หรือความทรงจำระยะยาวครับ ซึ่งเจ้าความทรงจำระยะยาวนั้นจะได้รับข้อมูลมาจากความทรงจำระยะสั้น แต่การที่ข้อมูลในหน่วยความทรงจำระยะสั้นจะถูกเก็บในความทรงจำระยะยาวได้นั้น จะต้องผ่านการย้ำแล้วย้ำอีกหลายๆ ครั้ง นอกจากนี้สิ่งที่จะถูกเก็บในหน่วยความทรงจำระยะยาวจะต้องมีความหมายและสามารถเชื่อมโยงกับสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว ดังนั้นลองสังเกตดูนะครับว่าเรื่องไหนที่ไม่ถูกตอกย้ำอยู่บ่อยๆ หรือ ไม่มีความหมายหรือสามารถเชื่อมโยงกับเรื่องต่างๆ ที่มีอยู่แล้วได้ เราก็จะจำได้เพียงสั้นๆ และไม่ถูกเก็บเข้าหน่วยความจำระยะยาวของเรา

            อย่างไรก็ดีใช่ว่าเมื่อข้อมูลหรือเหตุการณ์ถูกเก็บเข้าความจำระยะยาวแล้ว จะอยู่ไปตลอดจนวันตายของเรานะครับ ข้อมูลเหล่านั้นก็มีสิทธิ์ที่จะลืมหรือหายไปได้ แต่ถ้าเรามีการนึกถึงหรือเรียกขึ้นมาใช้บ่อยๆ ข้อมูลเหล่านั้นก็จะไม่หายไปครับ มีงานวิจัยที่น่าสนใจอีกชิ้นหนึ่งครับที่ระบุว่าการนอนหลับของเราก็ส่งผลต่อการเก็บข้อมูลต่างๆ เข้าสู่ความทรงจำระยะยาวครับ แล้วที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการที่เราฝันนั้นเป็นวิธีการหนึ่งในการเก็บบันทึกข้อมูลต่างๆ ลงในความทรงจำระยะยาวของเรา (เหมือนนิยายกำลังภายในที่ฝึกวิชาฝีมือในความฝันเลยครับ)

            ความรู้เกี่ยวกับเรื่องของความทรงจำก็ได้ถูกพวกนักการศึกษานำไปปรับใช้กับการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิธีการในการสอนหนังสือที่ทำให้เด็กสามารถจดจำเนื้อหาต่างๆ เข้าสู่ความจำระยะยาวได้ ไม่ใช่จำได้แค่ช่วงรับฟังการบรรยายแล้วหลังจากนั้นก็ลืมเลือนไป สังเกตเวลาดูหนังสือสอบก็ได้ครับ การดูหลายๆ เที่ยวก็เปรียบเสมือนการตอกย้ำให้ความรู้เหล่านั้นฝังลงไปในความทรงจำระยะยาวของเรานั้นเอง และยิ่งถ้านำในสิ่งที่ได้ดูกลับมาทบทวนป็นระยะๆ ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถจดจำได้นานมากขึ้น

            ดังนั้นท่านผู้อ่านก็อย่าแปลกใจนะครับว่าทำไมในช่วงเทศกาลคืนสู่เหย้าและเลี้ยงรุ่นในช่วงนี้ เรื่องเก่าๆ ที่นานมาแล้วสามารถจำได้ดี แต่เรื่องใหม่ๆ บางเรื่องกลับจำไม่ได้ เนื่องจากเรื่องเก่าๆ เหล่านั้นได้ถูกบันทึกเข้าสู่ความจำระยะยาวของเราไปเรียบร้อยแล้ว ด้วยทั้งวิธีตอกย้ำกับการเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีความหมาย แล้วเรื่องราวในอดีตก็มักจะถูกเรียกขึ้นมาทบทวนเพื่อไม่ให้ความจำนั้นหายไปอีกเป็นระยะๆ ยิ่งปัจจุบันสื่ออย่าง Facebook ที่ใช้กันแพร่หลายขึ้นก็ทำให้คนจำนวนมากขุดรูปสมัยโบราณขึ้นมาสแกนและลงไปใน Facebook เพื่อเป็นการกระตุ้นความทรงจำกันมากขึ้น ก็น่าสนใจนะครับว่าสังคมออนไลน์กลับกลายเป็นเครื่องมือให้คนจดจำความหลังและนึกถึงความหลังกันมากขึ้น