
25 February 2010
เมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยได้จัดงานสัมมนาเรื่อง TLCA Annual Risk Management Conference 2010 – Challenge of Risk Management โดยในหัวข้อแรก CEO Challenge – Leading through uncertainty ได้มีการเชิญซีอีโอจากองค์กรที่ประสบสำเร็จสี่แห่งได้แก่ คุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ ประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ. บ้านปู คุณอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ดร. ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ. ธนาคารกสิกรไทย และ คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องของความเสี่ยงในมุมมองของซีอีโอแต่ละท่าน และพอดีผมได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินรายการจึงขอสรุปประเด็นสำคัญๆ จากมุมมองของผู้บริหารแต่ละท่านในมุมมองของผมเองมานำเสนอต่อท่านผู้อ่านนะครับ ยิ่งในภาวะปัจจุบันที่เราเต็มไปด้วยความเสี่ยง การเรียนรู้มุมมองอีกด้านในเรื่องของความเสี่ยงจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจครับ
เมื่อถามถึงความเสี่ยงบริษัทต่างๆ เผชิญแล้วดูเหมือนคำตอบของซีอีโอทั้งสี่ท่านจะไม่ค่อยแตกต่างกันนะครับ ถ้าไม่นับความเสี่ยงทางการเมืองที่ทุกท่านทราบดีกันแล้ว ก็จะหนีไม่พ้นเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก ตลาดต่างประเทศ อัตราแลกเปลี่ยน และกฎเกณฑ์ของธุรกิจต่างๆ ที่อาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งก็สะท้อนลักษณะของธุรกิจแต่ละท่านนะครับ ที่ทั้งสี่บริษัทมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการดำเนินงานธุรกิจในต่างประเทศ อีกประเด็นที่น่าสนใจก็คือบริษัทต่างๆ ได้เริ่มให้ความสนใจและความสำคัญต่อการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ หรือ Strategic Risks กันมากขึ้น โดยการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์ที่สำคัญก็คือ การหมั่นทบทวนกลยุทธ์ของบริษัทอยู่ตลอดเวลาเพื่อดูว่ากลยุทธ์ที่ใช้อยู่ยังเหมาะสมต่อสภาวะแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการก็คือการสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตกับความเสี่ยงครับ องค์กรธุรกิจทุกแห่งย่อมมุ่งเน้นที่จะเติบโต แต่ขณะเดียวก็ต้องระมัดระวังเรื่องของความเสี่ยงจากการเติบโตเกินตัวด้วย (ตัวอย่างที่ชัดเจนในปัจจุบันคือกรณีของโตโยต้าครับที่ซีอีโอเขาเองก็ออกมายอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการเติบโตที่เร็วเกินไป) ดังนั้นผู้บริหารที่ดีจะมีการมีมองไปข้างหน้า (Forward Looking) อีกทั้งต้องมีการติดตามความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องมีการประเมินความเสี่ยง ของกลยุทธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ข้อคิดที่สำคัญที่ได้รับอีกประการก็คือ องค์กรอาจจะไม่ควรจะมองความเสี่ยงเฉพาะความเสี่ยงของตนเองเท่านั้น แต่อาจจะต้องมองไปถึงความเสี่ยงของลูกค้าด้วย เนื่องจากถ้าลูกค้าเผชิญกับความเสี่ยงและมีการบริหารจัดการที่ไม่ดีแล้ว ความเสี่ยงดังกล่าวก็จะส่งต่อมายังตัวองค์กรเอง
ในขณะเดียวกันเมื่อพูดถึงปัจจัยสำคัญต่อความสำเร็จในการบริหารความเสี่ยงนั้นก็ดูเหมือนว่าจะย้อนกลับมาที่ภายในองค์กรเองทั้งตัวบุคลากรภายใน วัฒนธรรม และ ตัวผู้บริหาร ในส่วนของบุคลากรและวัฒนธรรมองค์กรนั้น จะเป็นอุปสรรคที่สำคัญถ้าวิธีคิดของคนในองค์กรยังยึดติดอยู่กับความสำเร็จต่างๆ ในอดีต และทั้งไม่ให้ความสำคัญและมองไม่เห็นต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ส่วนตัวผู้บริหารนั้น ระดับของการรับรู้ ตระหนัก และยอมรับต่อความเสี่ยงก็ส่งผลต่อแนวทางการดำเนินงานและบริหารความเสี่ยงขององค์กร
สำหรับข้อเสนอแนะของบรรดาซีอีโอต่อองค์กรต่างๆ ในการบริหารความเสี่ยงนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประการครับ ทุกท่านยังคงเตือนให้ระมัดระวังภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ที่ถึงแม้ตัวเลขจะออกมาดี แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะวางใจได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้นองค์กรต่างๆ จะต้องมองเรื่องของการบริหารความเสี่ยงเป็นเชิงระบบ ในปีนี้องค์กรยังคงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของสภาพคล่องและต้นทุนเหมือนในปีที่ผ่านมา ความไม่แน่นอนในการดำเนินธุรกิจยังมีอยู่มาก และการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อลักษณะความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้ องค์กรจะต้องมีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานที่สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันอย่าทำให้เรื่องของการบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนจนเกินเหตุ อีกทั้งในสถานการณ์ของความไม่แน่นอนต่างๆ จะต้องมีการสร้างทางเลือกไว้หลายๆ ทาง
นอกจากนี้ยังมีข้อแนะนำว่าการบริหารความเสี่ยงที่ดีนั้นไม่ใช่เพียงแค่การนั่งคิดและวิเคราะห์อย่างเดียว ต้องมีการลงมือทำด้วย ดังนั้นอย่ามัวแต่คิดอย่างเดียวขอให้ลงมือทำด้วย ในขณะเดียวกันก็อย่าไปยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ ขอให้ปรับการบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องกับลักษณะขององค์กร
ก็เป็นข้อคิดในเรื่องของการบริหารความเสี่ยงที่น่าสนใจจากมุมมองของซีอีโอของบริษัทที่ประสบความสำเร็จของไทยทั้งสี่บริษัทนะครับ และขอขอบคุณสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทยที่ได้จัดงานสัมมนาดีๆ ขึ้นมาครับ