3 January 2010

สวัสดีปีใหม่ครับท่านผู้อ่านทุกท่าน เริ่มต้นปีอย่างนี้ก็ขอเขียนเรื่องเบาๆ หน่อยนะครับ นั้นคือเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานั้นคือ “เมื่อไทยบุกเกาหลีใต้” ท่านผู้อ่านก็อย่าเพิ่งตกใจนะครับว่าประเทศไทยจะบุกเกาหลีในด้านการทหาร ด้านเศรษฐกิจ หรือ ดาราไทยบุกตลาดเกาหลีนะครับ ซึ่งเมื่อฟังดูแล้วการใช้กลยุทธ์การบุกหรือเชิงรุกนั้นน่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บุก แต่การที่ไทยบุกเกาหลีใต้ในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมานั้นเป็นการบุกของทัพนักท่องเที่ยวไทยครับ ซึ่งพอมองในแง่นี้ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยมากน้อยเพียงใด ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในทัพคนไทยที่บุกเกาหลีใต้เช่นเดียวกันครับ (โดยเจตนาลึกๆ ที่แอบแฝงนั้นก็เพื่อหาเนื้อหามาเขียนเป็นบทความนำเสนอท่านผู้อ่านครับ)

            นอกเหนือจากกระแสของวัฒนธรรม ดารา ภาพยนตร์ นักร้อง อาหาร หนังสือ ฯลฯ ของเกาหลีที่ไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงแล้ว ผมคิดว่ายังมีอีกหลายๆ เรื่องที่น่าจะศึกษาและเรียนรู้จากเกาหลีใต้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างประเทศขึ้นมาภายหลังสงครามเกาหลี แรงฮึดของคนเกาหลีที่ต้องการพลิกฟื้นประเทศตนเองขึ้นมาให้สามารถเอาชนะประเทศอื่นที่เคยรุกรานตนเอง รวมทั้งการที่เกาหลีสามารถพัฒนาตนเองจากผู้ผลิตสินค้าลอกเลียนแบบทั้งทางด้านเครื่องใช้ไฟฟ้า แฟชั่น และด้านอื่นๆ จนกระทั่งในปัจจุบันกลับมีการออกแบบและแบรนด์ของตนเองที่ชาวต่างประเทศต้องยอมรับ ตัวอย่างเช่น Samsung ที่ปัจจุบันชื่อชั้นของแบรนด์นั้น สามารถเทียบเท่าหรือดีกว่า Sony ของญี่ปุ่นด้วยซ้ำไป

            นอกจากนี้ในปีนี้เองทางกรุงโซลของเกาหลีนั้นก็ได้รับการคัดเลือกจาก International Council of Societies of Industrial Design (ICSID) ซึ่งประกอบด้วยนักออกแบบอุตสาหกรรมชั้นนำกว่า 15,000 คนทั่วโลกในคัดเลือกให้เป็น นครหลวงแห่งการออกแบบ หรือ World Design Capital in 2010 ซึ่งถือเป็นการได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติต่อกรุงโซลในเรื่องของการออกแบบเลยครับ นอกจากนี้เมื่อไปอ่านนโยบายของนายกเทศมนตรีกรุงโซลนั้น เขามองว่าโซลจะสามารถสร้างความโดดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างจีน และคู่แข่งตลอดกาลอย่างญี่ปุ่น ด้วยการทำให้โซลเป็นศูนย์กลางการออกแบบของโลก โดยนายกเทศมนตรีของโซลนั้นเชื่อว่าการปลูกฝังและให้ความสำคัญเรื่องของการออกแบบนั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในระดับบุคคลและระดับชาติ โดยในระดับบุคคลนั้นจะช่วยให้ชาวเกาหลีที่มุ่งเน้นและทำงานอย่างหนักได้สามารถผสมผสานวัฒนธรรมและสุนทรียเข้าไปในชีวิตประจำวันมากขึ้น ส่วนในระดับชาตินั้นเขาก็มองว่าการออกแบบจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโซลและประเทศ จนกระทั่งกล่าวออกมาเลยครับว่า ‘Design is everything’

            การให้ความสำคัญกับการออกแบบของเกาหลีนั้นสามารถเห็นและจับต้องได้อย่างชัดเจนผ่านทั้งทางสินค้าและเครื่องใช้อิเลกทรอนิกส์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของ Samsung, LG, SK Telecom หรือผ่านทางสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรม และ สินค้าต่างๆ ที่ทัพนักท่องเที่ยวไทยแห่กันไปบุก ไม่ว่าจะเป็นเกาะเล็กๆ กลางแม่น้ำ (เกาะนามิ) ที่ในอดีตไม่มีอะไรนอกจากทิวสนและทิวแปะก๊วยแต่พอกลายเป็นฉากของ Winter Love Song ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่จะต้องไป และหลังจากนั้นก็มีการก่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยว อื่นๆ เพิ่มเติมบนเกาะ หรือ ป้อมโบราณในเมืองซูวอนที่พอกลายเป็นฉากจบของละครเรื่องลีซาน ก็กลายเป็นคำอธิบายที่ไกด์ให้ เมื่อไปเยี่ยมชม (แทนที่จะอธิบายถึงประวัติ ความเป็นมาในเชิงประวัติศาสตร์) หรือ พระราชวังโบราณในเมืองหลวงที่สร้างขึ้นมาใหม่แทนที่ของเดิมที่ถูกทำลายไป ก็เป็นหนึ่งในรายการท่องเที่ยวที่พลาดไม่ได้

            นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวที่ทางเกาหลีสามารถออกแบบและสร้างขึ้นมาได้อย่างประสบความสำเร็จแล้ว สินค้าต่างๆ ก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันคนไทยจะรู้จักสินค้าของเกาหลีใต้ในฐานะผู้นำทางด้านแฟชั่น เสื้อผ้าที่ซื้อที่ตลาดต่างๆ ของเกาหลีนั้นราคาอาจจะไม่ถูกกว่าเมืองไทยเท่าไร แต่การออกแบบนั้นจะทันสมัยและโฉบเฉี่ยวกว่าที่มีขายที่เมืองไทย หรือ ที่ชัดเจนคือบรรดาเครื่องสำอางและเครื่องประทินผิวต่างๆ ของเกาหลีไม่ว่าจะเป็น Etude หรือ Face Shop หรือ Skin Food และอื่นๆ อีกมากนั้น กลายเป็นสินค้าประจำชาติ ของเขาไปเสียแล้ว โดยเฉพาะสำหรับคนไทย ซึ่งจะว่าไปคุณภาพของเครื่องสำอางเหล่านี้ก็ไม่ได้เลิศล้ำกว่า เครื่องสำอางที่มีกันอยู่แล้วเท่าไร เพียงแต่เนื่องจากความสามารถในการออกแบบแบรนด์ ตัวผลิตภัณฑ์ และการวางตำแหน่งของสินค้าที่โดดเด่น ทำให้เขาประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ หรืออย่างที่เห็นชัดเจนสุดครับคือหน้าตา ที่ดารา นักร้องของเกาหลีใต้จะดูสวยหล่อกันด้วยมีดหมอเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งก็ถือเป็นการออกแบบชนิดหนึ่ง แต่เมื่อจะหาคนเกาหลีที่มีหน้าตาแบบนั้นตามท้องถนนกลับหาไม่เจอเลย

มีข้อสงสัยเหมือนกันนะครับว่าทำไมประเทศอย่างญี่ปุ่น หรือ เกาหลีใต้ ซึ่งบอบช้ำจากสงครามต่างๆ สามารถพลิกฟื้นประเทศของตนเองจนมีสภาพเช่นทุกวันนี้ได้ และเมื่อศึกษาประวัติศาสตร์และพฤติกรรมของคนทั้งสองประเทศนั้นก็อาจจะเป็นเพราะสงครามที่ทำให้คนของทั้งสองประเทศมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตนเอง นอกจากนั้นความมีวินัยของคนในประเทศเขาก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญครับ ดูเหมือนว่าการทำงานต่างๆ ของชาวเกาหลีใต้จะมีความเป็นมืออาชีพในงานที่ตนเองทำครับ ซึ่งจะแตกต่างจากองค์กรบางแห่งของไทยที่ยังขาดความเป็นมืออาชีพในวิชาชีพของตน ผมสังเกตง่ายๆ จากการไปครั้งนี้เลยครับ ทัวร์ที่เดินทางไปด้วยที่บอกว่า เป็นทัวร์คุณภาพ บริการมาตรฐาน แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นไปตามนั้นเลย และน่าผิดหวังในชื่อเสียงที่มีมาอย่างยาวนานด้วยซ้ำไป