
17 January 2010
เวลาเรานึกถึงสิ่งเสพติดนั้น เรามักจะนึกถึงสารเสพติดต่างๆ แต่ยังมีสิ่งเสพติดอีกชนิดหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงานของสมองเราที่ปัจจุบันเราเสพกันติดโดยไม่รู้ตัว นั้นคือข้อมูลครับ ดูเหมือนว่าด้วยเทคโนโลยีและพฤติกรรมของเราในปัจจุบันจะทำให้คนทำงานและนิสิตนักศึกษาจำนวนมากเป็นพวกที่จะต้องออนไลน์ตลอดเวลา และคนเหล่านี้จะต้องคอยรับข้อมูลข่าวสารอยู่ตลอดเวลา ท่านผู้อ่านลองสังเกตพฤติกรรมของตัวท่านเองและบุคคลรอบข้างดูซิครับว่า ท่านจะรับข้อมูลข่าวสารต่างๆ แบบออนไลน์ทั้งอีเมล ข้อความต่างๆ ความคิดเห็นใน Twitter / Facebook หรือ การติดต่อผ่านทาง MSN ผ่านทางทั้งคอมพิว เตอร์และโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลาหรือไม่? ยิ่งปัจจุบันเทคโนโลยีและกระแสความนิยมในมือถือรุ่นใหม่ๆ อย่างเช่นเจ้า BB ที่ทำให้ทุกข้อความหรืออีเมลที่ส่งมาหาท่านจะถูกแจ้งให้ท่านทราบโดยทันที ซึ่งต่างจากในอดีตที่ว่าเราจะทราบว่าเรามีเมลใหม่เข้ามาต่อเมื่อเราได้เข้าไปตรวจสอบ แต่ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน แค่วางมือถือไว้ข้างหน้า เมื่อมีเมลฉบับใหม่เข้ามาเราก็จะทราบแล้ว และโดยส่วนมากที่ผมพบเห็นจากคนรอบตัวก็คือเมื่อคนเหล่านี้พบว่ามีเมลหรือข้อความใหม่เข้ามา ก็มักจะอดไม่ได้ที่จะเข้าไปอ่าน
ท่านผู้อ่านเป็นพวกที่เสพติดต่อข้อมูลออนไลน์เหล่านี้หรือเปล่าครับ? ถ้าใช่ก็ขอแจ้งให้ทราบต่อเลยนะครับว่ามีงานวิจัยจาก University of London ที่ระบุว่าการเสพติดต่อข้อมูลแบบออนไลน์นั้นจะส่งผลต่อความสามารถในการทำงานของสมองครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำให้ระดับไอคิวของคนเราลดลงในระดับที่มากกว่าการสูบสารเสพติดอย่างเช่นฝิ่นถึงสองเท่า แสดงว่าการเสพติดต่อข้อมูลออนไลน์นั้นส่งผลร้ายแรงต่อความสามารถในการทำงานของสมองเรามากกว่ายาเสพติดเสียอีกนะครับ และก็ไม่น่าแปลกใจที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่มีรายงานว่าเด็กไทยอ่านหนังสือน้อยลง เพราะไปเสพสื่ออินเตอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งผมว่าถ้าสำรวจกันดีๆ ผู้ที่อ่านหนังสือน้อยลงคงไม่ได้มีเพียงแค่เด็กหรอกนะครับ ผู้ใหญ่ที่เสพติดต่อข้อมูลออนไลน์เหล่านี้ก็เช่นเดียวกันครับ เวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือก็จะน้อยลงเนื่องจากใช้เวลาส่วนหนึ่งในการคอยติดตามชีวิตหรือความเคลื่อนไหวของผู้อื่นผ่านทางเว็บต่างๆ อย่างเช่น Facebook เป็นต้น
จากการทดลองพบว่าความสามารถของสมองคนเราในการคิดหรือตัดสินใจจะค่อยๆ เพิ่มมากขึ้น เมื่อสมองของเราสามารถที่จะอยู่อย่างสงบและไม่ต้องมีสิ่งที่จะต้องคิดถึงอยู่ตลอดเวลา แต่เมื่อเรารับข้อมูลออนไลน์ผ่านทางสื่อต่างๆ มากขึ้นและตลอดเวลา ทำให้สมองของเราจะต้องถูกกระตุ้น ใช้งาน และจะต้องคอยคิดอยู่ตลอดเวลา และเมื่อสิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีระดับที่สูงขึ้นก็จะย่อมส่งผลต่อสมองในการคิด ตัดสินใจ และแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างไรก็ตามในโลกปัจจุบันข้อมูลและข่าวสารต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น ดังนั้นท่านผู้อ่านควรที่จะมีกลยุทธ์ในการรับมือเพื่อไม่ให้เราเสพติดต่อข้อมูลออนไลน์
สิ่งแรกที่ควรทำคือเราควรจะเป็นผู้บงการเจ้าอีเมล ไม่ใช่ให้อีเมลมาบงการชีวิตเรา ดังนั้นท่านผู้อ่านไม่ควรอ่านอีเมลเป็นสิ่งแรกในตอนเช้า หรือ ท่านผู้อ่านอาจจะปิดระบบแจ้งเตือนในมือถือของท่านผู้อ่าน ไม่ให้แจ้งเตือนท่านทุกครั้งที่มีเมลใหม่เข้ามา ดังนั้นช่วงเช้าๆ ของวันท่านผู้อ่านควรจะใช้พลังของสมองของท่านกับสิ่งที่มีค่ามากกว่าแค่การตามเช็กเมลเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้เราควรจะแจ้งให้เพื่อนร่วมงานทั้งหลายทราบด้วยนะครับว่าการส่งอีเมลนั้นควรจะใช้สำหรับกรณีที่ไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะสื่อสารด้วยวิธีการอื่นๆ บางคนที่ผมรู้จักชอบใช้อีเมลในทางที่ผิดคือไม่สื่อสารด้วยการพูดหรือการฟัง แต่จะใช้แต่อีเมลอย่างเดียว และการสื่อสารด้วยตัวอักษรนั้น ถ้าทักษะการสื่อสารไม่ดี ก็มักจะทำให้สารนั้นถูกแปลงไปแปลงมาได้ตลอดเวลา
นอกจากนั้นท่านผู้อ่านอาจจะต้องคอยปิดตัวเองจากสื่อออนไลน์บ้างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นอินเตอร์เน็ต โทรทัศน์ วิทยุ ต่างๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วที่ผมเขียนเรื่องของความเครียดนั้นก็มีท่านผู้อ่านส่งอีเมลเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่าการเสพสื่อออนไลน์เหล่านี้ก็ส่งผลต่อการเพิ่มความเครียดของคนเราในปัจจุบัน ผมเองก็เห็นด้วยครับ และอยากจะเสริมอีกครับว่าการเปิดรับสื่อออนไลน์อยู่ตลอดเวลานอกจากอาจจะทำให้เราเครียดได้แล้ว ยังลดความสามารถในการทำงานของสมองเราอีกด้วย ทำให้เราขาดสมาธิในการทำงาน ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูซิครับว่าปัจจุบันเวลาว่างของท่านผู้อ่านในการนั่งนิ่งๆ หรือ สงบๆ และคิดไปในเรื่องต่างๆ นั้นลดน้อยลงจากในอดีตหรือไม่ ถ้าใช่นั้นก็สังเกตต่อนะครับว่าสาเหตุส่วนใหญ่นั้นไม่ได้มาจากท่านยุ่งมากขึ้นหรอกครับ แต่เป็นเพราะสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ทำให้ท่านมีเวลาที่จะนั่งนิ่งๆ สงบๆ ลดน้อยลง หลายครั้งเวลาเราเจอปัญหาหรือความยากลำบากในการคิดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การอยู่นิ่งๆ สงบๆ จะช่วยให้เราคิดได้ดีขึ้น ดังนั้นท่านผู้อ่านอย่าลืมหาเวลาสำหรับ unplugged ตัวท่านเองจากสื่อออนไลน์ต่างๆ นะครับ เผื่อจะทำให้ท่านมีเวลาและมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
ก่อนจบมีข่าวประชาสัมพันธ์สำหรับผู้ที่กำลังหาที่เรียนต่อนะครับ ทางหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (Master of Management) สาขาการจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ ของคณะพาณิชยศาสตร์และ การบัญชี จุฬาฯ กำลังเปิดรับสมัครผู้ที่สนใจเรียนต่อในระดับปริญญาโทอยู่นะ ครับ โดยเป็นการเรียนในวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ และเป็นหลักสูตรนานาชาติ ผู้ที่สนใจก็ลองโทร.มาสอบถามได้ที่ 02-218-5912 หรือ http://mmchula.acc.chula.ac.th นะครับ