13 December 2009

เรามักจะศึกษาถึงหลักการและแนวคิดในด้านภาวะผู้นำและการบริหารจัดการจากบรรดาผู้บริหารระดับสูงหรือนักวิชาการของโลกตะวันตก ทำให้หลายๆ ครั้งการนำแนวคิดต่างๆ มาปรับใช้ในบ้านเรานั้นไม่สามารถเป็นไปได้ตามทฤษฎีหรือหลักการทั้งหมด ในปัจจุบันเราจึงหันมาให้ความสนใจกับการศึกษาหลักการและแนวทางในการบริหารในแบบไทยๆ มากขึ้น ซึ่งเท่าที่ผมสังเกตนั้นคนไทยจะศึกษาแนวคิดการบริหารองค์กรแบบไทยๆ นั้นมาจากสามแหล่งด้วยกันครับ แหล่งแรก คือการศึกษาจากพระราชกรณียกิจและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการโดยแท้จริง แหล่งที่สองคือการศึกษาจากหลักการของพระพุทธศาสนา ซึ่งหลักธรรมคำสั่งสอนหลายๆ ข้อนั้นสามารถนำมาปรับใช้กับการบริหารจัดการ และ แหล่งที่สามคือจากบรรดาผู้บริหารระดับสูงชาวไทยที่ประสบความสำเร็จ โดยในการศึกษาจากบรรดาผู้บริหารระดับสูงที่ประสบความสำเร็จนั้นเราก็มักจะศึกษาหนังสือ ประวัติ การเข้าฟังงานสัมมนาต่างๆ

            สำหรับการศึกษาจากแนวคิดทางการบริหารจัดการจากพระราชกรณียกิจและพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น ที่เราเห็นกันบ่อยๆ ก็เป็นเรื่องของการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการบริหารองค์กร ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วผมก็ได้นำส่วนหนึ่งของผลงานวิจัยของคุณพัชรินทร์ สุวรรณธาร ซึ่งเป็นนิสิต MBA ของที่คณะบัญชี จุฬาฯ ซึ่งได้ทำงานวิจัยเรื่อง “การบริหารธุรกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มานำเสนอ นอกจากนี้เรายังพบว่ามีบริษัทจำนวนมากที่นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการบริหารองค์กร อย่างเช่น บริษัทบาธรูม ดีไซน์ ซึ่งมีคุณวัชรมงคล เบญจธนะฉัตร์เป็นผู้บริหารสูงสุด โดยผมเองก็ได้มีโอกาสฟังและอ่านแนวคิดในการบริหารบริษัทจนประสบความสำเร็จของคุณวัชรมงคล แล้วก็พบว่าทางคุณวัชรมงคลเองได้นำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการบริหารองค์กรได้อย่างกลมกลืน

            โดยในหลักการสามประการที่สำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น ได้ถูกทางบริษัทบาธรูม ดีไซน์มาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น ในด้านความพอประมาณนั้น ทางบริษัทก็ระบุไว้เลยครับว่าจะมุ่งดำเนินธุรกิจที่ตนเองชำนาญ ส่วนการขยายกิจการนั้นก็จะกระทำอย่างพอเพียง มีการบริหารจัดการ Stock ให้สินค้าคงคลังน้อยที่สุดและ หมุนเวียนเร็วที่สุด เป็นต้น ส่วนหลักความมีเหตุผลนั้น ทางบริษัทได้คำนึงถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกส่วนอย่างเป็นธรรม พิจารณาการดำเนินงานใดๆ ด้วยความถี่ถ้วนรอบคอม ไม่ย่อท้อ ไร้อคติ คำนึงถึงเหตุและปัจจัยแวดล้อมทั้งหมด และ หลักการสร้างภุมิคุ้มกันนั้น ครอบคลุมทั้งการจัดทำระบบตรวจสอบภายในองค์กร การจัดการด้านความเสี่ยง และแผนการตลาดเพื่อสร้าง Global Brand ในอนาคต

            นอกเหนือจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว เมื่อปี 2549 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบ ราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการส่งเสริมและพัฒนาระบบการ บริหารการจัดการในภาครัฐ ได้จัดพิมพ์หนังสือ “พระอัจฉริยภาพในการบริหารจัดการ” ขึ้นมาเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยในหนังสือเล่มนี้ได้มีการรวบรวมพระราชกรณียกิจและพระบรมราโชวาทเนื่องในวโรกาสต่างๆ โดยแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ อาทิเช่น ในการบริหารจัดการโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวนั้น เป็นไปตามหลักการบริหารจัดการที่มุ่งประโยชน์สุดของประชาชนเป็นหลัก ตลอดจนการบริหารจัดการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ มีการลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการปฏิบัติงาน และการบริหารจัดการที่มุ่งเน้นความคุ้มค่าในเชิงภารกิจภาครัฐ มีการกำกับตรวจสอบและติดตามประเมินผลการปฏิบัติงาน

            นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้นำในการบริหารจัดการแบบบูรณาการ ทรงเน้นเรื่องการร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาและการทำงาน ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่ทรงสนับสนุนกิจการสหกรณ์ในทุกรูปแบบเพื่อให้เกษตรกรร่วมมือและมีการรวมกลุ่มกัน ทรงเชื่อในประสิทธิภาพของการทำงานเป็นหมู่คณะว่าจะทำให้งานประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ทรงให้ความสำคัญในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ทรงมองวิธีการแก้ไขปัญหาและการพัฒนาอย่างครบวงจร ซึ่งเป็นการบริหารในลักษณะองค์รวม ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการบูรณาการทุกภาคส่วนเข้ามาใช้และเป็นต้นแบบของการทำงานแบบบูรณาการอย่างแท้จริง

            เราศึกษาแนวคิดการบริหารของทางตะวันตกนั้นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และมุมมองที่หลากหลาย แต่ท่านผู้อ่านก็ต้องอย่าลืมหันกลับมาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการจากองค์พระประมุขของประเทศซึ่งทรงมีพระอัจฉริยภาพทางการบริหารจัดการอย่างเหลือล้นนะครับ และหลักการและแนวทางการบริหารของพระองค์นั้นก็เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม ชัดเจน และเห็นผลมาแล้วตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อเทียบกับแนวคิดของตะวันตกแล้ว แนวคิดตะวันตกอาจจะดูน่าตื่นเต้น แต่ก็ยังเป็นสิ่งที่ยังไม่สามารถเห็นและจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย