4 December 2009

ในโอกาสที่เราเพิ่งผ่านพ้นช่วงแห่งการเฉลิมฉลองพระชนม์พรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมจึงขออนุญาตนำผลการวิจัยของนิสิต MBA ของคณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ทำวิจัยเรื่อง “การบริหารธุรกิจตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” มานำเสนอต่อท่านผู้อ่านนะครับ      โดยบัณฑิตของคณะคนนี้ชื่อ นางสาวพัชรินทร์ สุวรรณธาร ซึ่งได้ทำงานวิจัยนี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษาในระดับ MBA ที่คณะ โจทย์ที่ตั้งต้นขึ้นตอนเริ่มทำงานวิจัยชิ้นนี้ ก็ได้คุยกันในประเด็นที่ว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหลักปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่ และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยจากวิกฤต เพื่อความมั่นคง และความยั่งยืนของการพัฒนา ดังนั้นนอกเหนือจากการน้อมนำหลักดังกล่าวมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันแล้ว เราน่าจะสามารถนำหลักดังกล่าวมาปรับใช้กับการบริหารธุรกิจได้ด้วย

            ทั้งนี้เนื่องจากหลักในการบริหารธุรกิจในปัจจุบันเป็นหลักการที่มาจากโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งในหลายๆ เรื่องก็อาจจะไม่มีความสอดคล้องกับวัฒนธรรมและสังคมไทย การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับแนวทางการบริหารธุรกิจ น่าจะเป็นอีกทางเลือกที่สำคัญสำหรับประเทศไทยนะครับ งานวิจัยของคุณพัชรินทร์นั้น ได้ศึกษาเปรียบเทียบหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กับหลักในการบริหารทางธุรกิจต่างๆ ที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันในปัจจุบัน อีกทั้งได้มีการเข้าไปศึกษาในเชิงลึกจากองค์กรสองแห่งได้แก่ ชุมพรคาบาน่า รีสอร์ต และ สหกรณ์โคนมหนองโพราชบุรี(ในพระบรมราชูปถัมภ์) ซึ่งทั้งสองแห่งได้มีการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้กับการดำเนินงานของตนเอง

            ผลการศึกษาของคุณพัชรินทร์นั้นพบว่าแนวทางการประยุกต์ใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการบริหารองค์กรทั้งสองนั้น เกิดขึ้น อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยในแต่ละด้านของการบริหารงาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการในเรื่องของการผลิตหรือการให้บริการ การจัดการในด้านการตลาด การบริหารบุคคลากร การบริการการเงิน และการกำหนดกลยุทธ์ นั้นล้วนแต่เริ่มจาก การศึกษาความต้องการพื้นฐานขององค์กร สมาชิก และการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (เปรียบได้กับการหาความต้องการของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินงาน) การเรียนรู้จุดเด่น จุดด้อย และปัญหาที่เกิดขึ้น และเรียนรู้ที่จะวางแผนเพื่อแก้ไขปัญหา (เปรียบเสมือนการวิเคราะห์ SWOT และการกำหนดแผน) การดำเนินแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างความต่อเนื่อง (เปรียบเสมือนการนำแผนไปปฏิบัติ) และการประเมินผลของการแก้ไขปัญหา (เปรียบเสมือนการประเมินผลการดำเนินงาน)

            เมื่อเปรียบเทียบการบริหารตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการบริหารตามแนวทางของตะวันตก จะพบว่าการบริหารตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมีความ ครบถ้วนสมบูรณ์ในตัว โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเชื่อมโยงของเหตุและผล ภายใต้หลักจริยธรรม คุณธรรม ลักษณะพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรม โดยไม่มีการแบ่งแยกแนวคิดออกเป็นส่วนๆ อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนการประยุกต์ใช้ได้ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่หลักการบริหาร ในขณะที่หลักการบริหารตามแบบตะวันตกนั้น โดยส่วนใหญ่จะมีการแบ่งแนวคิดออกเป็นส่วนๆ แล้วนำมาขยายความเพิ่มเติมในรายละเอียด ทำให้มีความชัดเจนในทางปฏิบัติ

            แต่หากพิจารณาในรูปแบบของการสื่อสารของแนวคิดการบริหารแบบตะวันออกแล้ว จะพบว่าแนวคิดแบบตะวันออกนั้น ไม่ได้ถูกนำออกมาถ่ายทอดในรูปแบบของทฤษฎีอย่างเป็นรูปธรรม และเป็นขั้นตอนที่ชัดเจนในทางปฏิบัติเหมือนดังเช่นแนวคิดทางตะวันตก ทั้งนี้เนื่องจากการถ่ายทอดหลักปรัชญาหรือแนวคิดของการบริหารแบบตะวันออกนั้น ได้แฝงอยู่ในรูปแบบของการดำเนินชีวิตประจำวัน ประเพณีหรือ วัฒนธรรมแบบดั้งเดิมทางพุทธศาสนา ซึ่งได้สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่า ผู้ออกแบบแนวคิดการบริหารแบบตะวันออกนั้น ต้องการให้ผู้ที่จะนำไปใช้ ได้มีการคิดทบทวน ทำความเข้าใจ และตรึกตรองอย่างละเอียดรอบคอบ ถึงวิธีการนำไปปรับใช้ และผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจของตน จึงทำให้ผลลัพธ์ที่ได้จากการประยุกต์ใช้แนวคิดการบริหารแบบตะวันออกนั้น สามารถใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัยนั่นเอง

            ในขณะที่แนวคิดทางการจัดการของโลกตะวันตกนั้น ท่านผู้อ่านจะพบได้ว่ามักจะเป็นไปตามกระแส ความนิยมในช่วงนั้นๆ เน้นคำที่ดูแปลกตา ชวนให้สนใจ และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับสมัยนิยม แนวคิดทางด้านการบริหารของโลกตะวันตกนั้น ผู้คิดจะพยายามนำหลักการทางด้านการตลาดเข้ามาจับ ทำให้ดูหวือหวา เป็นที่ตื่นตัวและสนใจ แต่ส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นไปในช่วงระยะเวลาอันสั้น แล้วไม่ช้าไม่นานก็จะมีแนวคิดหรือหลักการใหม่ๆ เข้ามาแทนที่

            งานวิจัยของคุณพัชรินทร์ ได้ชี้ให้เห็นนะครับว่าเราสามารถนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการบริหารองค์กรได้อย่างไร เพียงแต่ผู้บริหารเองจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจที่ดีพอในหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งต้องปรับใช้ให้เข้ากับสภาพกิจการแต่ละแห่ง

            ก่อนจบขอฝากประชาสัมพันธ์นะครับ ตอนนี้หลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต (Master of Management) ซึ่งเป็นหลักสูตรนานาชาติของคณะบัญชี จุฬาฯ กำลังเปิดรับสมัครผู้สนใจจะศึกษาต่อโดย เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไปครับ ถ้าสนใจก็สอบถามได้ที่ 02-218-5912 หรือ http://mmchula.acc.chula.ac.th