20 December 2009

ท่านผู้อ่านลองพลิกอ่านหนังสือพิมพ์หรือวารสารทางด้านธุรกิจในปัจจุบันแล้วลองนับดูนะครับว่าในฉบับหนึ่งๆ จะมีคำว่านวัตกรรมปรากฏอยู่กี่แห่งทั้งในส่วนที่เป็นเนื้อหาบทความและส่วนที่เป็นโฆษณา สำหรับนสพ.กรุงเทพธุรกิจฉบับวันอังคารนี้ นอกเหนือจากบทความของผมแล้วก็คงจะพบเจอกันได้ในอีกหลายที่ คงไม่ต้องเขียนถึงความสำคัญและความจำเป็นของนวัตกรรมต่อความสำเร็จขององค์กรกันแล้วนะครับ เพียงแต่คำถามต่อมาที่มักจะพบเจอก็คือปัจจุบันเมื่อทุกคนได้เห็นความสำคัญและความจำเป็นของนวัตกรรมแล้ว จะหาหรือสร้างคนที่มีความสามารถในการคิดสร้างสรรค์และสามารถคิดนวัตกรรมขึ้นมาได้อย่างไร? หรือในบางครั้งท่านผู้อ่านอาจจะมีความรู้สึกว่าเมื่อนวัตกรรมกลายเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นแล้ว ตัวท่านผู้อ่านเองจะมีความสามารถในด้านนวัตกรรมได้อย่างไร? เนื่องจากการเข้าใจถึงความสำคัญและความจำเป็น กับความสามารถในการคิดออกมาให้ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ นั้นไม่เหมือนกัน

            คำถามต่างๆ ข้างต้นก็นำไปสู่ประเด็นที่เราเถียงกันมานานนะครับว่าทำไมคนบางคนถึงได้มีความสามารถในความคิดสร้างสรรค์ได้เหนือกว่าผู้อื่น ความสามารถในด้านการสร้างสรรค์นั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด เป็นไปตามพันธุกรรมหรือเป็นสิ่งที่สามารถจะสร้างและพัฒนาขึ้นมาได้? ท่านผู้อ่านเคยคิดสงสัยไหมครับว่าทำไมผู้บริหารบางท่านสามารถที่จะคิดและสร้างสรรค์ธุรกิจหรือสินค้าบริการใหม่ๆ ที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันผู้บริหารบางท่านเป็นผู้บริหารที่ดี แต่ก็ไม่สามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้ หรือ ไม่เฉพาะแต่ผู้บริหารเท่านั้นครับระหว่างเพื่อนกับเพื่อน หรือ ระหว่างบุคคลในครอบครัวด้วยกัน ทำไมเราไปเที่ยวไปเห็นสิ่งเดียวกัน แต่ทำไมผู้อื่นถึงดูสามารถที่จะคิดหรือสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆ ได้ดีกว่าเรา?

            ท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารระดับสูงหลายท่านอาจจะมองอีกมุมหนึ่งว่าหน้าที่ของผู้บริหารระดับสุงไม่ใช่การที่จะต้องคิดหรือสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาเอง แต่ผู้บริหารระดับสูงมีหน้าที่ในการสร้างบรรยากาศและกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กร โดยนวัตกรรมควรจะเป็นหน้าที่ทุกๆ คนในองค์กรในการช่วยกันคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ดังนั้นผู้บริหารที่ดีไม่จำเป็นจะต้องมีความคิดสร้างสรรค์ก็ได้ ขอเพียงให้มีความสามารถในการสร้างบรรยากาศ กลไก และสามารถกระตุ้นให้บุคลากรในองค์กรสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาได้ก็เป็นพอ

            ความเชื่อข้างต้นเป็นความเชื่อโดยทั่วไปนะครับ แต่เคยอ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งของต่างประเทศพบว่าร้อยละ 15 ของซีอีโอที่สอบถามนั้นไม่ได้มอบหมายงานเรื่องของการคิดสร้างสรรค์หรือคิดสิ่งใหม่ๆ ให้กับลูกน้อง แต่เป็นผู้ที่รับผิดชอบเองเลยในเรื่องของนวัตกรรม แต่ก็เป็นผลสำรวจของต่างประเทศนะครับ ไม่ทราบเหมือนกันว่าสำหรับผู้บริหารคนไทยแล้ว ท่านๆ ทั้งหลายจะรับเรื่องของนวัตกรรมมาเป็นหนึ่งในภารกิจหรือหน้าที่ของตนเองมากน้อยเพียงใด? จริงๆ แล้วเรื่องนี้ก็ถือเป็นประเด็นที่น่าสนใจนะครับว่าหนึ่งในหน้าที่ของซีอีโอนั้น ควรจะมีเรื่องของนวัตกรรมอยู่ด้วยหรือไม่?

            อ่านหนังสือหรืองานวิชาการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของซีอีโอมาก็เยอะ ส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นกล่าวไว้เลยนะครับว่าผู้บริหารสูงสุดขององค์กรมีหน้าที่ในด้านนวัตกรรม และการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในองค์กร ส่วนใหญ่ที่พบเจอก็เป็นแต่เรื่องของการสร้างบรรยากาศ สภาวะแวดล้อม และกลไกต่างๆ ที่เหมาะสมที่จะทำให้องค์กรเกิดนวัตกรรม และขับเคลื่อนให้บุคลากรภายในคิดค้นนวัตกรรมให้เกิดขึ้น แต่เท่าที่ทราบมาในบางบริษัทอย่างเช่น Apple นั้นนวัตกรรมที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนใหญ่จะมาจากสมองของ Steve Jobs เป็นหลักเลยครับ เคยได้คุยกับอาจารย์ชาวต่างประเทศที่มีชื่อทางด้านนวัตกรรม แล้วเขาเคยเข้าไปสัมภาษณ์ผู้บริหารและบุคลากรต่างๆ ของ Apple ว่าทำไมถึงคิดโน่นคิดนี้ขึ้นมาได้ คำตอบที่เขาได้รับมาทั้งหมดนั้น ชี้ไปในทิศทางเดียวกันเลยครับว่าเป็นเพราะ Steve คิดขึ้นหรือเป็นเพราะ Steve ชอบ อาจารย์ฝรั่งคนนี้เขาเลย  เตือนเลยครับว่าเมื่อใดก็ตามที่ Apple ไม่มี Steve Jobs หมดเสน่ห์ ด้านนวัตกรรมของ Apple ก็อาจจะหมดไป ด้วย

            พอฟังตัวอย่างนี้ก็น่ากลัวนะครับว่า ผู้บริหารสูงสุดไม่ควรที่จะรับผิดชอบเรื่องนวัตกรรมขององค์กรไว้คนเดียว แต่ผมเองก็มองว่าในขณะเดียวกันผู้บริหารก็ไม่ควรจะละเลยหรือปล่อยให้เรื่องของนวัตกรรมเป็นการคิดมาจากข้างล่างเพียงอย่างเดียว การที่ผู้บริหารมีความใส่ใจ มีความพยายามในการคิดค้นนวัตกรรมในด้านต่างๆ ขององค์กรนั้นน่าจะเป็นการส่งสัญญาณที่ดีไปทั่วทั้งองค์กรถึงการให้ความสำคัญต่อนวัตกรรมของผู้บริหารสูงสุด และต้องอย่าลืมด้วยนะครับว่าผู้บริหารสูงสุดเป็นผู้ที่มีโอกาสเห็นทั้งภายในองค์กรได้อย่างครอบคลุมในทุกๆ ด้าน รวมทั้งมีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ต่างๆ จากภายนอกได้เป็นอย่างมาก ดังนั้นผู้บริหารสุงสุดเองก็ควรจะมีส่วนร่วมเป็นหนึ่งในการคิดนวัตกรรมขององค์กร เพียงแต่ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เรื่องของนวัตกรรมกลายเป็นหน้าที่ของผู้บริหารเพียงผู้เดียวเท่านั้น มิฉะนั้นถ้าผู้บริหารไม่อยู่ก็ทำอะไรต่อไปไม่ได้