
22 November 2009
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาทางสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ TMA ได้จัดงานวัน TMA 2009 ขึ้น โดยในปีนี้หัวข้อหลักเป็นเรื่องของ Agility และผมเองก็มีโอกาสได้ไปเป็นส่วนหนึ่งในผู้พูดในหัวข้อนี้ด้วยเช่นกันครับ โดยพูดในกลุ่มของ CPMG หรือ Corporate Performance Management Group และพูดร่วมกับวิทยากรอีกสองท่าน ผมเลยอยากจะขอนำเสนอเนื้อบางส่วนที่ได้พูดและไม่ได้มีโอกาสพูดในวันนั้นมานำเสนอผ่านทางบทความในสัปดาห์นี้นะครับ
คำว่า Agility ไม่ใช่คำใหม่ เพียงแต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำๆ นี้กันมากขึ้นในแวดวงธุรกิจ ดังนั้นก็เลยมีคำถามว่าจริงๆ แล้ว Agility มีความหมายความอย่างไร ซึ่งก็มีคำนิยามที่หลากหลายนะครับ ในส่วนตัวผมเวลานึกถึงคำว่า Agility นั้นจะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงหรือการเคลื่อนไหว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและไม่สูญเสียจังหวะหรือ Momentum แต่อย่างใด ก็ได้มีการพูดคุยกันในกลุ่มวิทยากรที่บรรยายร่วม (คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง และ ดร.นิธินารถ สินธุเดชะ) ว่าในคำภาษาไทยนั้นเราจะใช้คำว่าอะไร ก็มีคำๆ หนึ่งที่โผล่มาและผมชอบครับ นั้นคือคำว่าปราดเปรียว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหรือ Change ทั่วๆ ไปนั้น จะเกิดขึ้นได้จะต้องผ่านกระบวนการหรือขั้นตอนต่างๆ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กรนั้นก็มักจะใช้เวลาพอสมควร แต่สำหรับ Agility แล้วเป็นลักษณะขององค์กรที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยเร็ว ไม่เสียเวลา แต่อย่างใดไม่เสียจังหวะ คุณกิตติรัตน์เองก็เปรียบให้เห็นภาพว่าเหมือนนักฟุตบอลที่เลี้ยงบอลไปในทิศทางหนึ่งแล้วสามารถเปลี่ยนไปอีกทิศทางหนึ่งอย่างรวดเร็ว ฉับพลัน ไม่เสียจังหวะ หรือ ต้องปรุงแต่งลูกบอลแต่อย่างใด
ส่วนประเด็นถัดมาก็คือทั้งๆ ที่ Agility เป็นคำที่มีมานานแล้วนั้น ทำไมถึงเพิ่งมานิยมกันเมื่อไม่นานมานี้? จริงๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงในลักษณะของ Agility นั้น มีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะต่างๆ นั้นเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง และซับซ้อนขึ้น ในเชิงกลยุทธ์นั้นคำว่า Strategic Agility เริ่มเป็นที่พูดถึงกันมากขึ้น เนื่องจากการวางแผนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น เริ่มมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น การพยากรณ์ด้วยวิธีการต่างๆ เริ่มไม่แน่นอนมากขึ้น ดังนั้นแทนที่องค์กรจะอาศัยการพยากรณ์หรือการคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเดียว ถ้าองค์กรมีความพร้อมหรือความสามารถในการปรับเปลี่ยนอย่างปราดเปรียวและฉับพลันมากขึ้นเท่าใด องค์กรก็ยิ่งพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเท่านั้น อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Agility มีความสำคัญมากขึ้นในปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากความสามารถในการลอกเลียนแบบของคู่แข่งขันที่มากขึ้นทุกขณะ ถึงแม้องค์กรจะเน้นและให้ความสามารถกับนวัตกรรมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพียงใด แต่จากความสามารถที่เพิ่มขึ้นของคู่แข่งขันในการลอกเลียนแบบ องค์กรก็ยิ่งจะต้องให้ความสำคัญกับความปราดเปรียวและฉับพลันในการเปลี่ยนแปลง
จริงๆ ถ้าท่านผู้อ่านนึกถึงเรื่องของความเสี่ยงต่างๆ ที่องค์กรต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ก็จะพบว่าความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ทั้งหลายที่จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กรนั้นยากที่จะบริหารจัดการได้ทุกขณะ ดังนั้นนอกเหนือจากเรื่องของการบริหารความเสี่ยงแล้ว องค์กรควรจะมีลักษณะของ Agility ที่พร้อมจะเปลี่ยนได้อย่างฉับพลันและรวดเร็ว
ท่านผู้อ่านลองสังเกตองค์กรท่านดูนะครับว่าในอดีตองค์กรท่านมีความปราดเปรียวเพียงไหน และปัจจุบันองค์กรท่านเริ่มเปลี่ยนจากความปราดเปรียวมาเป็นความอุ้ยอ้ายหรือยัง? ในเวทีของ TMA เมื่อวันศุกร์เราก็ได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้พอสมควรครับ และท่านผู้อ่านลองสังเกตดูนะครับ เมื่อองค์กรเริ่มก่อตั้งใหม่ๆ และเริ่มจะขยายใหญ่ขึ้น องค์กรส่วนใหญ่จะยังมีความปราดเปรียวอยู่ แต่เมื่อองค์กรเริ่มขยายใหญ่ขึ้น ขอบเขตการทำงานเริ่มมากขึ้น จำนวนบุคลากรมากขึ้น และสิ่งต่างๆ ในองค์กรทั้งใหญ่และมากขึ้น ความอุ้ยอ้ายก็เริ่มเข้ามาครอบงำ เนื่องจากกระบวนการ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย แนวปฏิบัติต่างๆ ที่จะต้องมีเมื่อองค์กรมีขนาดใหญ่ขึ้น แต่ขณะเดียวกันองค์กรจะเติบใหญ่โดยขาดสิ่งต่างๆ ข้างต้นก็ไม่ได้ มิฉะนั้นองค์กรก็จะดำเนินงานในลักษณะที่ไร้ระเบียบหรือที่เรียกกันว่า Chaos ดังนั้นคำถามที่น่าสนใจก็คือจะสามารถสร้างดุลยภาพหรือความสมดุลระหว่างความปราดเปรียวได้อย่างไร หรือ จุดสมดุลนั้นอยู่ ณ ตรงไหน?
ทำอย่างไรถึงจะทำให้องค์กรยังมีลักษณะของความ Agility อยู่ แต่ในขณะเดียวกันก็มีกรอบ แนวทางต่างๆ ในการปฏิบัติงานที่ชัดเจน? ดูเหมือนคำถามข้างต้นจะเป็นคำถามที่ตอบยากนะครับ และน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้บริหารทุกคนพยายามเสาะแสวงหาสำหรับองค์กรตนเอง แล้วทีนี้ถ้าไม่มองเพียงแค่องค์กร แต่มองระดับประเทศละครับ? ประเทศไทยมีความ Agility มากน้อยเพียงใดครับ? นั้นคือเป็นประเทศที่ปราดเปรียวหรือเป็นประเทศที่อุ้ยอ้าย?
สัปดาห์นี้เราน่าจะพอเข้าใจและเห็นภาพของ Agility กันนะครับ สัปดาห์หน้าเราจะมาดูกันต่อดีกว่าครับว่าการที่องค์กรหรือประเทศไทยจะมีความเป็น Agility ได้ดีแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง