
29 November 2009
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอหลักการและแนวคิดของคำว่า Agility มาเล่าสู่กันฟังนะครับ ซึ่งเนื้อหาหลักๆ นั้นนำมาจากที่ผมได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในวิทยากรของสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศ ไทยหรือ TMA เมื่อวันศุกร์ที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีเนื้อหาในสัปดาห์ที่แล้วเพียงแต่เป็นการนำเสนอ ให้เห็นถึงหลักการและแนวคิดของคำว่า Agility ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันเยอะพอสมควร สัปดาห์นี้ผมจะขอนำเสนอต่อว่าการที่องค์กรไม่มีความ Agility นั้นคือมีความอุ้ยอ้าย เชื่องช้า และไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับ การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ยังไม่ได้นำเสนอในงานสัมมนาของ TMA ที่ผ่านมา
สาเหตุสำคัญของการที่องค์กรไม่สามารถปรับตัวได้อย่างคล่องแคล่วและปราดเปรียวนั้นก็เริ่มจากตัวผู้บริหารเลยครับ โดยผู้บริหารในที่นี้ครอบคลุมทั้งตัวผู้บริหารสูงสุดและทีมผู้บริหารในระดับต่างๆ ด้วย ซึ่งปัญหาในเรื่องของผู้บริหารนั้นยังแยกได้เป็นอีกหลายประเด็นย่อยๆ แต่สาเหตุสำคัญที่ผมพบเจอบ่อยมากในกลุ่มผู้บริหารขององค์กรในประเทศไทย (ทั้งภาครัฐและเอกชน) ก็คือการยึดติดและไม่เปิดใจให้กว้างที่จะยอมรับในสิ่งที่แปลกและแตกต่าง ท่านผู้อ่านอาจจะนึกว่าผมกล่าวตามทฤษฎี แต่ต้องเรียนว่านี้คือประสบการณ์ตรงๆ ที่พบเจอผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทย หลายครั้งที่ดูจากภายนอกว่าผู้บริหารสมัยใหม่นั้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงและปรับตัว แต่สิ่งที่พบเจอคือภายในนั้นยังยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ
ประเด็นในเรื่องของความยึดติดที่พบเจอบ่อยมากก็คือชอบมองว่าองค์กรตนเองมีความแตกต่างหรือไม่เหมือนกับองค์กรอื่น ไม่ว่าจะอยู่คนละอุตสาหกรรม หรือ ไม่ใช่องค์กรธุรกิจที่แสวงหากำไร หรือ เหตุผลอีกมากมาย ดังนั้นเมื่อผู้บริหารเริ่มคิดว่าตนเองแตกต่าง ไม่เหมือนกับที่อื่นแล้ว ดังนั้นการที่จะเปิดใจและพร้อมจะยอมรับ เรียนรู้ และปรับตัวนั้นก็เริ่มที่จะไม่ง่ายอย่างที่คิดแล้วครับ จริงอยู่ที่องค์กรแต่ละแห่งมีความแตกต่างจากกัน และไม่มีทางเป็นไปได้ที่องค์กรสองแห่งจะมีลักษณะที่เหมือนกัน แต่องค์กรแต่ละแห่งก็สามารถที่จะเรียนรู้จากผู้อื่นได้ไม่ว่าจะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ความคิดที่ชอบมองว่าตนเองแตกต่าง ไม่เหมือนองค์กรอื่นนั้น ก็เป็นเสมือนปราการที่คอยปิดกั้นไม่ให้ผู้บริหารได้เห็นและยอมรับถึงความสำคัญที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
นอกจากปัญหาความยึดติดในความเข้าใจ (ผิด) ว่าองค์กรตนเองแตกต่างแล้ว ผู้บริหารจำนวนมากยังมีความยึดติดต่อความสำเร็จหรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ซึ่งในปัจจุบันตำราและผู้รู้จำนวนมากก็จะออกมาเตือนอยู่ตลอดเวลาว่าสิ่งที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในอดีต ไม่ได้เป็นเครื่องรับประกันว่าจะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต ดังนั้นองค์กรจะต้องรู้จักที่จะปรับตัวและปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ยึดติดในรูปแบบและวิธีการทำงานในอดีต ที่อาจจะเคยทำให้องค์กรประสบความสำเร็จมาในอดีต แต่อาจจะไม่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จต่อไปในอนาคต
ผู้บริหารในองค์กรที่มี Agility สูงจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเสียใหม่ จากที่เคยคิดว่าผู้บริหารคือผู้ที่ทำหน้าที่ในการตัดสินใจและคอยบอกหรือสั่งผู้อื่นเพียงอย่างเดียว ผู้บริหารสำหรับองค์กรที่ต้องการความปราดเปรียวนั้น จะต้องหันมาถามและปรับตัวแทน ผู้บริหารจะต้องเรียนรู้ที่จะถามผู้อื่น ไม่ว่าจะถามผู้บริหารด้วยกันหรือถามผู้ใต้บังคับบัญชา เนื่องจากข้อมูลต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำคัญกับต่อการปรับตัวนั้น บางครั้งผู้ที่จะรู้เร็วและรู้ดีที่สุดจะไม่ใช่ตัวผู้บริหารระดับสูง แต่จะเป็นพนักงานที่อยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าและตลาดมากที่สุด ดังนั้นผู้บริหารระดับสูงจะต้องเรียนรู้ที่จะถามผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้ข้อมูลที่สำคัญและจำเป็นต่อการปรับตัว และเมื่อถามแล้วผู้บริหารก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้าสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าผู้บริหารในยุคของการเปลี่ยนแปลงเช่นในปัจจุบันจะต้องเป็นผู้ที่มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัว แนวคิด และสไตล์การบริหารให้สอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ปัญหาที่สำคัญอีกประการของผู้บริหารก็คือการขาดความหลากหลาย องค์กรที่ต้องการที่จะมี Agility นั้น ผู้บริหารควรจะมีความหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายในมุมมองและวิธีคิด ทั้งนี้เนื่องจากการที่องค์กรจะสามารถปรับตัวและมีความปราดเปรียวได้นั้น ผู้บริหารจะต้องมีมุมมองที่หลากหลายเพื่อให้สามารถรับรู้ต่อข้อมูลการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน การที่ผู้บริหารระดับสูงมีวิธีการคิดและมุมมองต่างๆ ในลักษณะที่เหมือนกันหมด จะทำให้ผู้บริหารเองมีมุมมองต่อเหตุการณ์ต่างๆ เพียงด้านเดียว ในขณะที่องค์กรที่มีผู้บริหารที่มีมุมมองที่หลากหลาย จะทำให้มีมุมมองที่หลากหลายต่อข้อมูลและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และทำให้มีทางเลือกในการปรับตัวได้ดีกว่า ถึงแม้ว่าการมีมุมมองที่หลากหลายมักจะทำให้เกิดความเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย แต่ผู้บริหารสูงสุดที่มีความสามารถก็ย่อมที่จะสามารถพิจารณาและเลือกในสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับองค์กร
จริงๆ ยังมีอีกหลายประการนะครับที่เป็นตัวฆ่า Agility ในองค์กร แต่วันนี้ก็ขอเน้นที่ผู้บริหารก่อนแล้วกันนะครับ ก็หวังว่าองค์กรของท่านผู้อ่านคงไม่มีผู้บริหารที่มีคุณลักษณะต่างๆ ข้างต้นที่จะทำให้องค์กรไม่สามารถทำตัวให้ปราดเปรียวและปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนะครับ