20 September 2009

ปัจจุบันคำศัพท์ที่ดูเหมือนจะเป็นคำที่บรรดานักการเมือง ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆ รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องกับนโยบายของประเทศ จะพูดถึงกันมากก็คือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy ถึงขนาดมีนโยบายที่จะจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์แห่งชาติ (เข้าใจว่ากำลังรอเข้าครม.อยู่ ไม่ทราบว่าวันนี้จะเข้าได้หรือไม่?)  และดูเหมือนว่าทุกคนทุกภาคส่วนจะฝากความหวังไว้กับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์กันมาก ถึงขนาดผู้รู้หลายๆ ท่านมองว่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นทางรอดและทางออกของประเทศไทยเลยเชียว

            ผมเองไม่ได้คัดค้านการชูประเด็นเรื่องของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์เป็นวาระแห่งชาตินะครับ เพียงแต่สงสัยว่าสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันจะสามารถขับเคลื่อนประเทศไทยให้ไปสู่เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ได้จริงหรือไม่? อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ก็จะพบว่าเรื่องของหน่วยราชการหรือเอกชนต่างๆ ประชาสัมพันธ์โครงการต่างๆ ของตนเองว่าสนับสนุนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างไร หรือ รัฐบาลหรือหน่วยราชการต่างๆ จะมีการให้งบประมาณสำหรับโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง

            ผมเองมีข้อสงสัยอยู่ในใจหลายประการเหมือนกันครับสำหรับนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ประเด็นแรกก็คือนิยามหรือคำจำกัดความของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ครับ นิยามที่ดูเหมือนจะเป็นที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในไทยนั้นที่ระบุว่าเป็น “แนวคิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนพื้นฐานของการใช้ความรู้  การศึกษา  การสร้างสรรค์งาน  และการใช้ทรัพย์สินทางปัญญา ที่เชื่อมโยงกับพื้นฐาน ทางวัฒนธรรม การสั่งสมความรู้ของสังคม และเทคโนโลยี/นวัตกรรมสมัยใหม่” และพอไปดูเอกสารเพิ่มเติมของสภาพัฒน์ก็พบว่าขอบเขตของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่กำหนดขึ้นมานั้น มีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนนั้นคือครอบคลุม การสืบทอดทางมรดกและวัฒนธรรม ศิลปะ สื่อสมัยใหม่ และงานสร้างสรรค์และออกแบบ

            ขอไม่เถียงเรื่องความถูกต้องของนิยามนะครับ เพียงแต่มีข้อสงสัยถึงความแตกต่างของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์กับเศรษฐกิจบนฐานองค์ความรู้หรือ Knowledge Economy ที่เราเคยเห่อกันเมื่อหลายปีก่อนครับ? ดูเหมือนว่าจะมีเพียงเส้นบางๆ ที่แบ่งแยกระหว่างเศรษฐกิจทั้งสองแบบนะครับ อาจจะเถียงได้ว่าความแตกต่างระหว่างเศรษฐกิจทั้งสองประเภทนั้นก็คือเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์จะเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แต่ถ้าเป็นเศรษฐกิจบนฐานองค์ความรู้นั้น เน้นการทำงานที่อาศัยความรู้เป็นหลัก อย่างไรก็ดีถึงแม้ข้อโต้แย้งดังกล่าวจะดูมีเหตุผล แต่ก็ทำให้เกิดข้อสงสัยต่อไปว่าเมื่อมีการกำหนดขอบเขตของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่นอกขอบเขตดังกล่าวจะไม่อยู่ในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ใช่หรือไม่? Department of Cultural Media and Sports ของอังกฤษระบุอุตสาหกรรมที่อยู่ในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ไว้ 13 อุตสาหกรรมด้วยกัน ดังนั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ที่อยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้จะไม่อยู่ในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์? เช่น ถ้าอุตสาหกรรมการศึกษา หรือ การธนาคารและการเงิน ไม่ได้อยู่ในขอบเขตอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่กำหนดไว้ ก็จะไม่ถือว่าอยู่ในเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ หรือ ไม่เน้นการสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ๆ อย่างนั้นหรือ?

            การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายเพื่อพัฒนานั้นเป็นสิ่งที่ง่ายสำหรับการจัดทำยุทธศาสตร์และจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้กำหนดนโยบายนะครับ แต่ผมอยากจะให้มองเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้กว้างกว่าที่กำหนดไว้ เนื่องจากเรื่องของความคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดคุณค่านั้นสามารถที่จะเกิดขึ้นมาได้ในทุกอุตสาหกรรม สิ่งที่เราควรจะสนับสนุนนั้นไม่ใช่อยู่แค่ที่อุตสาหกรรมเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น แต่ควรจะทำให้ประเทศไทยเป็น Creative Economy อย่างแท้จริง นั้นคือทุกอุตสาหกรรม ทุกภาคส่วนควรให้ความสำคัญกับการคิดค้น และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดคุณค่า เนื่องจากการเศรษฐกิจที่เป็น Knowledge Economy นั้นไม่เพียงพอแล้วครับ ความรู้นั้นทุกคนสามารถแสวงหาได้อย่างถูก เร็ว และง่ายขึ้น และแถมคอมพิวเตอร์ก็สามารถที่จะทำงานและคิดแทนมนุษย์ได้ในหลายๆ อย่าง ดังนั้นอนาคตของประเทศ อุตสาหกรรม และองค์กรต่างๆ ไม่ได้อยู่บนแค่ความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ก่อให้เกิดคุณค่าด้วย

            การคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking นั้นไม่ควรจะจำกัดอยู่เฉพาะอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ควรจะสามารถนำแนวคิดในเรื่องของการคิดเชิงออกแบบและสร้างสรรค์ไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วย ท่านผู้อ่านลองสำรวจธุรกิจที่ท่านทำอยู่ซิครับ และช่วยกันลองคิดดูว่าจะใช้แนวคิดเชิงออกแบบและการสร้างสรรค์เข้าไปผสมผสานไปได้อย่างไร? ผมเองอยู่ในอุตสาหกรรมการศึกษา สิ่งที่ผมจะต้องพิจารณาก็คือจะใช้แนวคิดของการออกแบบและสร้างสรรค์ มาช่วยในการคิดค้นรูปแบบหรือวิธีการสอนในรูปแบบใหม่ๆ ได้อย่างไร เช่น ตอนนี้ก็ลองทำ Quiz เล็กๆ ให้นิสิตที่เรียนเข้ามาทำบน Facebook แล้ว

            ดังนั้นสิ่งที่อยากจะให้ช่วยกันมองก็คือไม่อยากจะให้ตีกรอบเรื่องของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ไว้ที่อุตสาหกรรมเพียงไม่กี่อุตสาหกรรม (ถึงแม้จะเป็นนโยบายของรัฐบาล) แต่ทุกอุตสาหกรรมควรจะช่วยกันมองว่าจะนำแนวคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์มาปรับใช้กับการดำเนินงานของตนเองได้อย่างไร เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ไม่ควรจะตีกรอบตัวเองอยู่ภายใต้ไม่กี่อุตสาหกรรม แต่ทุกๆ อุตสาหกรรมควรที่จะสามารถทำให้ตนเองเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ได้