27 September 2009

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เขียนถึงเรื่องเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่กำลังเป็นเรื่องที่รัฐบาลพยายามส่งเสริมกันอย่างมากในปัจจุบัน และเสนอในตอนท้ายว่าเรื่องของการคิดเชิงสร้างสรรค์นั้นไม่ควรจะส่งเสริมหรือเน้นแต่ในอุตสาหกรรมที่ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์เพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น แต่ควรจะขยายและส่งเสริมให้การดำเนินงานในทุกอุตสาหกรรมได้หันมาสนใจกับเรื่องของความคิดสร้างสรรค์กันมากขึ้น เนื่องจากในยุคปัจจุบันนั้นปัจจัยแห่งความสำเร็จของทั้งบุคคลและองค์กรต่างๆ นั้นไม่ใช่อยู่ที่เรื่องของการมีความรู้ที่เหนือผู้อื่นแล้ว แต่กลับกลายเป็นเรื่องของความสามารถในการคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้เร็วและสำเร็จกว่าผู้อื่นหรือไม่?

            ถ้าเรามองย้อนกลับไปในอดีตท่านผู้อ่านจะพบว่าสังคมมนุษย์ได้ผ่านการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาสามยุคและปัจจุบันกำลังเข้าสู่ยุคที่สี่ โดยยุคแรกเป็นการเปลี่ยนจากการที่มนุษย์เราจะต้องล่าสัตว์ เพื่อดำรงชีวิตมาเป็นการลงหลักปักฐานทำอาชีพเกษตรกรรมมากกว่าขึ้น พอยุคที่สองก็เปลี่ยนจากสังคมเกษตรกรรมกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ยุคที่สามเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อไม่กี่สิบปีที่ผ่านมาคือเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศและข้อมูลข่าวสารต่างๆ โดยในยุคที่สามนั้นเราก็จะพบว่าอาชีพที่ประสบความสำเร็จมากสุดคือพวกที่เรียกว่าเป็น Knowledge Workers ทั้งหลายนั้นแหละครับ

            แต่ในปัจจุบันมองว่าเรากำลังจะเข้าสู่ยุคที่สี่ที่เรียกว่าเป็น Creativity Age ที่การมีความรู้นั้นไม่เพียงพอแล้วครับ เนื่องจากความรู้ในปัจจุบันเราสามารถเสาะแสวงหาได้อย่างรวดเร็ว ง่าย และ ในราคาที่ถูกหรือฟรี อีกทั้งงานหลายๆ อย่างที่ต้องใช้ความรู้นั้นก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งมนุษย์อีกต่อไป เนื่องจากคอมพิวเตอร์สามารถทำได้เร็วกว่าและถูกต้องกว่า ดังนั้นสิ่งที่จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จของสังคมยุคใหม่ จึงไม่ใช่เพียงแค่การมีความรู้เพียงอย่างเดียว แต่กลายเป็นความสามารถในการสร้างสรรค์หรือการคิดในสิ่งใหม่ๆ

            อย่างไรก็ดีคำถามสำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้เราสามารถคิดอย่างสร้างสรรค์? ดูเหมือนว่าหลายๆ ท่านก็จะยอมรับสภาพตนเองไปแล้วว่าเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้นก็เลยไม่ค่อยพยายามคิดเท่าไร แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายๆ ท่านที่สร้างสรรค์มาก จนกระทั่งคนอื่นไม่สามารถที่จะเข้าใจในสิ่งที่คิดสร้างสรรค์ออกมาได้ เลยทำให้เกิดข้อสงสัยนะครับว่า ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์นั้นมาจากไหน? ใช่ว่าเกิดขึ้นเนื่องจากพันธุกรรมหรือไม่? เป็นเพราะมียีนตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Creativity Gene ที่ว่าถ้าใครมียีนตัวนี้แล้วจะมีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่? หรือเป็นเพราะการศึกษาและการเลี้ยงดู? ระบบการศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันเอื้อและสนับสนุนต่อการให้เยาวชนของชาติเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่? หรือว่าสอนให้ท่องจำเป็นนกแก้ว นกขุนทอง? หรือ เกิดขึ้นเนื่องจากระบบสังคมไทย การเลี้ยงดู วัฒนธรรมต่างๆ ที่เอื้อหรือปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดีคำถามสำคัญก็คือเราสามารถเพิ่มความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ของเราได้หรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ใหญ่ คนทำงานทั้งหลาย ที่เคยคิดว่าตนเองไม่มีหรือด้อยในความคิดสร้างสรรค์ จะสามารถเพิ่มความสามารถในด้านนี้หรือไม่? เพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ในปัจจบัน?

            ท่านผู้อ่านจะเห็นว่าในปัจจุบันมีหนังสือ งานวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ออกมากันมากขึ้น และในหนังสือหลายๆ เล่มนั้นก็มักจะกล่าวถึงการใช้สมองข้างขวากันมากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจนะครับ ผมเองจะสังเกตว่าคนทำงานในองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่จะเน้นและให้ความสำคัญกับสมองข้างซ้ายเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่านิยมและระบบการศึกษาในปัจจุบันที่เน้นในเรื่องของการพัฒนาสมองข้างซ้ายกันค่อนข้างมาก ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือการเรียนในระดับ MBA ที่เปิดและเรียนกันทั่วบ้านทั่วเมืองนั้นส่วนใหญ่แล้วก็จะเน้นให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์ปัญหาและกรณีศึกษาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์งบการเงิน ด้านการตลาด หรือ ด้านกลยุทธ์ แต่สิ่งที่ผมพบคือเมื่อวิเคราะห์ได้แล้ว คำตอบในส่วนของข้อเสนอแนะนั้นกลับไม่ได้เป็นการคิดเชิงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น

            คุณสมบัติที่สำคัญของการคิดโดยใช้สมองข้างขวานั้นคือเรื่องของการมองเห็นความเชื่อมโยงหรือภาพรวมระหว่างสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน จริงๆ การพัฒนาความสามารถให้มองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งต่างๆ นั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นอย่างไม่ยากนักในการหัดคิดเชิงสร้างสรรค์ครับ ท่านผู้อ่านลองสังเกตดูซิครับว่าหลายๆ ครั้งที่สิ่งใหม่ๆ ที่เป็นความคิดสร้างสรรค์นั้นเกิดขึ้นจากการเชื่อมโยงในสิ่งที่อาจจะสัมพันธ์หรือไม่สัมพันธ์เข้าด้วยกันเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ Steve Jobs ของ Apple เองระบุไว้เลยครับ ว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นเป็นเพียงแค่การเชื่อมสิ่งต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ดังนั้นถ้าอยากจะฝึกคิดอย่างสร้างสรรค์ก็ไม่ยากครับ เพียงเริ่มจากการหัดที่จะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เข้าด้วยกัน

            ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เป็นงานสัมมนาของภาควิชาผมครับ แต่ยังไม่ได้เป็นแบบต้นทุนต่ำนะครับ เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องแบรนด์ แต่ผมเองก็จะนำเสนอแนวคิดในเรื่องของมุมมองใหม่เชิงกลยุทธ์ พร้อมทั้งเรื่องต่างๆ ที่คณาจารย์ของภาควิชาจะนำเสนอในเรื่องนวัตกรรมทางการจัดการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านกลยุทธ์ ด้านผู้นำ ด้านการบริหารความรู้ ด้าน IT ด้านบริการ โดยจะจัดในวันที่ 21-22 ตุลาคมนี้ครับ  ในชื่อ “ก้าวใหม่ในโลกธุรกิจ ครั้งที่ 2” สนใจก็โทรศัพท์เข้ามาสอบถามรายละเอียดได้ที่ คุณผ่องศรี 02-218-5764 ครับ