23 August 2009

ช่วงหลังผมจะเขียนถึงบทบาทของ Social Network พวก Facebook Hi5 มากขึ้น เนื่องจากกระแสความนิยมในเครือข่ายทางสังคมออนไลน์เหล่านี้มีมากขึ้นทุกขณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook ที่ได้กลายเป็นของเล่นชิ้นใหม่สำหรับคนวัยทำงานหรือผู้ใหญ่กันมากขึ้น ปัจจุบันเวลาไปเจอเพื่อนกลุ่มไหนก็แล้วแต่ คำถามหรือประเด็นหนึ่งที่มักจะพูดคุยกันก็เกี่ยวกับ Facebook นั้นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานเป็นสิบๆ ปี แต่มาเจออีกครั้งใน Facebook หรือ พูดถึงรูปหรือโพสต์ หรือ ที่เขียนแซวกันบน Facebook จนดูเหมือนว่าในปัจจุบันนอกเหนือจากอีเมลแล้ว FB กลายเป็นช่องทางในการสื่อสารที่สำคัญทางเน็ตไปแล้ว และยิ่งถ้าเป็นการสื่อสารอย่างไม่เป็นทางการนั้น FB อัตราการใช้ FB ในการสื่อสารอาจจะมากกว่าอีเมลแล้วก็ได้

            การใช้ FB นั้น นอกเหนือจากเพื่อความสนุกส่วนตัว การได้ระบายความรู้สึก หรือ การโพสต์รูปให้เพื่อนๆ แล้ว อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือเพื่อนที่อยู่บนเครือข่ายสังคมออนไลน์อย่างเช่น FB นั้นจะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการมากน้อยเพียงใด? ท่านผู้อ่านที่เล่นพวกเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้เป็นประจำลองพิจารณาดูเองก็ได้นะครับว่า ในการซื้อสินค้าหรือบริการบางอย่างนั้น ท่านได้รับอิทธิพลจากเครือข่ายเหล่านี้บ้างหรือไม่? ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาผมลองโพสต์ความเห็นหนึ่งไป โดยนำมาจากหน้าปกของนิตยสาร Fortune ฉบับใหม่ โดยเขียนว่า “ศึกนี้ดังมาก Fortune ขึ้นหน้าปกว่า BlackBerry vs. iPhone whose side are you on? และผู้ผลิต BB บริษัท RIM เป็น No.1 ใน Fortune’s 100 Fastest-Growing Companies” ผลปรากฎว่าก็มีเพื่อนๆ ผมตอบกลับมาสิบกว่าคนและแต่ละคนก็ให้ความคิดเห็นทั้งในเชิงบวกหรือลบต่อโทรศัพท์ทั้งสองยี่ห้อ ซึ่งก็ถือว่าเป็นข้อมูลโดยตรงจากผู้ใช้ และอาจจะมีอิทธิพลต่อคนที่เข้ามาอ่านได้

            อีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการสนับสนุนต่อบุคคลหรือทีมที่ตนเองเชียร์ ผมมีเพื่อนอยู่คนหนึ่งจะเข้ามาโพสต์เพื่อแสดงความรู้สึกตลอดเกี่ยวกับผลการแข่งขันของทีมฟุตบอลแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด หรือ ลูกศิษย์คนหนึ่งที่เข้ามาโพสต์เชียร์นักล่าฝันที่ตนเองชื่นชอบ (ช่วยเชียร์ให้ครับ V3) ปรากฎว่าเพื่อนๆ เขาก็เข้ามาช่วยกันเชียร์นักล่าฝันคนนี้กันเป็นแถวเลย ก็เลยเกิดข้อสงสัยว่าในเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้ การแสดงความคิดเห็นของเพื่อนคนหนึ่งจะส่งผลหรือมีอิทธิพลต่อเพื่อนคนอื่นๆ หรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าหรือบริการต่างๆ?

            มีงานวิจัยโดย Sunil Gupta อาจารย์จาก Harvard Business School เกี่ยวกับอิทธิพลของเพื่อนบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่อการซื้อสินค้าหรือบริการ ทำให้พบว่าในเชิงการตลาดแล้วเราสามารถแบ่งกลุ่มผู้ที่ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ออกเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือพวกที่ใช้ไม่บ่อย (ประมาณ 48% ของกลุ่มผู้ใช้ที่สำรวจ) ซึ่งคนพวกนี้มักจะใช้ไม่ค่อยบ่อยและมักจะไม่ค่อยเชื่อมโยงกับเพื่อนๆ ผ่านทางเครือข่ายเหล่านี้มากเท่าไร กลุ่มที่สองคือพวกที่ใช้ปานกลาง (ประมาณ 40% ของผู้ใช้ที่สำรวจ) ซึ่งพวกนี้จะใช้เครือข่ายเหล่านี้ปานกลาง และมักจะเป็นผู้ที่ได้รับอิทธิพลในทางบวกต่อการซื้อสินค้าหรือบริการของเพื่อนบนเครือข่าย และกลุ่มสุดท้ายคือพวกที่ใช้มาก (ประมาณ 12% ของผู้ที่สำรวจ) ซึ่งชื่อก็ชัดเจนครับว่าพวกนี้ใช้เครือข่ายเหล่านี้กันมาก แต่ผลคือพวกเหล่านี้จะไม่ได้รับอิทธิพลในการซื้อสินค้าหรือบริการจากเพื่อนบนเครือข่ายเท่าไร เนื่องจากคนเหล่านี้ต้องการความแตกต่างจากผู้อื่น ดังนั้นแทนที่จะซื้อตามผู้อื่นบนเครือข่าย กลับพยายามหาหรือสร้างความแตกต่างให้กับตนเองด้วยสิ่งที่ผู้อื่นไม่มี

            ถ้ามองในแง่ของรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากแต่ละกลุ่มแล้ว กลุ่มที่ใช้น้อยจะไม่มีอิทธิพลต่อการเพิ่มของรายได้เลย กลุ่มที่ใช้ปานกลางจะส่งผลให้รายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 แต่ในทางกลับกันกลุ่มที่ใช้มากนั้นจะทำให้รายได้ลดลงถึงร้อยละ 14 ทีเดียว ดังนั้นก็มีคำถามเลยครับว่าบริษัทจะอาศัยสื่อหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์เหล่านี้มาช่วยในการทำการตลาดได้อย่างไร มีงานวิจัยออกมาเหมือนกันครับที่ชี้ให้เห็นว่าการทำโฆษณาหรือ Ad บน Facebook นั้นอัตราการคลิ๊ก หรือ Click-Through rate นั้นไม่ค่อยสูงเท่าไร แต่ถ้าทำการตลาดโดยลักษณะของ Viral Marketing หรือเป็นลักษณะของปากต่อปากผ่านทางเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้นอาจจะได้ผลมากกว่าการลงโฆษณาบน Facebook ก็ได้

            ท่านผู้อ่านลองนึกดูนะครับว่าถ้าผมมีสินค้าชิ้นหนึ่งจะขาย แทนที่จะไปซื้อ Banner บน Facebook ผมแจกสินค้าดังกล่าวหรือขายสินค้าดังกล่าวในราคาที่ถูกกว่าปกติให้กับพวกที่ใช้ FB เยอะๆ เพื่อก่อให้เกิดกระแส Viral Marketing ผมอาจจะได้รับรายได้กลับมาที่คุ้มค่ากว่าการซื้อโฆษณาบน FB ก็ได้นะครับ ซึ่งการใช้กลยุทธ์แบบปากต่อปากนั้นก็ไม่ถือว่าใหม่ในโลกธุรกิจครับ เพียงแต่อดีตนั้นปากต่อปาก เป็นการพูดกันไปเรื่อยๆ แต่ปัจจุบันเราหันมาใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสังคมออนไลน์แทนการพูดแบบปากต่อปากแทนเท่านั้นเองครับ