
30 July 2009
ท่านผู้อ่านลองสังเกตผู้บริหารรอบๆ ตัวท่านดูนะครับว่าท่านเหล่านั้น มีลักษณะอย่างไร เป็นผู้บริหารที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Aggressive หรือเป็นผู้บริหารในลักษณะที่มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน? ในส่วนนี้ก็มีประเด็นที่สามารถถกเถียงกันได้เยอะพอสมควรครับ บางท่านบางตำราก็บอกว่าผู้บริหารที่ดีต้องเด็ดขาด ต้องมีลักษณะที่ Assertive ที่มีลักษณะที่มุ่งมั่น และจะพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ดังสิ่งที่ตนเองต้องการ ในขณะเดียวกันผู้บริหารที่ดีก็ต้องแสดงออกให้เห็นว่าข้าเก่ง อาจจะต้องมีความสามารถในการเสนอหน้า จะต้องพยายามให้ตนเองอยู่จุดกึ่งกลางของรูปทุกครั้งที่เป็นไปได้ แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางตำราและบางท่านก็บอกว่าผู้บริหารที่ดีนั้นควรจะมีลักษณะที่อ่อนน้อมถ่อมตน เป็นผู้บริหารที่ไม่ใช่ว่าจะวิ่งไปหรือไปยืนอยู่แถวหน้า และจุดกึ่งกลางทุกครั้งที่มีการถ่ายรูป แต่เป็นผู้บริหารที่พยายามจะผลักดันลูกน้อง หรือ บุคคลอื่นในองค์กรให้ประสบความสำเร็จ หรือ อาจจะมีความเห็นในลักษณะที่สามว่าผู้บริหารที่ดีจะต้องเดินสายกลาง นั้นคือเมื่อสมควรแข็งก็จะต้องแข็ง แต่เมื่อใดที่สมควรอ่อนน้อม ก็ควรที่จะอ่อนน้อม
เชื่อว่าข้อถกเถียงในลักษณะข้างต้นดังกล่าวคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ง่ายๆ แต่แนวโน้มที่ผมพบเจอบ่อยมากขึ้น ในบทความหรือวารสารทางวิชาการต่างๆ ก็คือในอดีตเราคิดว่าผู้นำที่ดีนั้น จะต้องมีลักษณะที่ Aggressive หรือ Assertive ที่มีความมุ่งมั่น กล้าแสดงออก อาจจะเป็นพวกแรงผลักดันที่ต้องการให้ตนเองประสบความสำเร็จสูง แต่แนวโน้มใหม่ (ที่ไม่ได้ใหม่มาก) ก็คือผู้บริหารที่ดีนั้นควรจะมีลักษณะที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อในอดีต โดยผู้นำยุคใหม่ ควรจะเป็นผู้นำที่ไม่ได้มองที่ตนเองหรือความสำเร็จของตนเองเป็นหลัก แต่ควรจะให้ความสำคัญต่อความสำเร็จของลูกน้องหรือทีมงานของตนเอง พร้อมกันนั้นผู้นำในยุคใหม่ควรจะเป็นผู้ที่มีความถ่อมตน ไม่แสดงออกมาก หรือ ไม่พยายามเป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล แต่ควรจะมีการแสดงออกเล็กๆ น้อยๆ ที่เมื่อผู้อื่นเห็นแล้วเกิดความประทับใจ และความรู้สึกที่ดีด้วย
ถ้าจะบอกว่าจุดเริ่มต้นหรือคุณสมบัติแรกเริ่มของผู้นำสมัยใหม่จะต้องได้รับความเชื่อถือ และความไว้วางใจทั้งจากบุคลากรภายในองค์กร และจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ กับองค์กร ซึ่งในส่วนนี้อาจจะตรงกับคำว่า Credible หรือ Trust ในภาษาอังกฤษ และการจะได้รับความเชื่อถือและความไว้วางใจจากบุคคลต่างๆ ได้นั้น ก็ต้องเริ่มต้นจากการที่ผู้นำดังกล่าวมีความรู้ ความสามารถจริงๆ แต่เรื่องของความรู้ ความสามารถอย่างเดียวคงจะไม่เพียงพอที่จะสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นภายในองค์กร แต่ผู้นำจะต้องมีความอ่อนน้อม มีความประพฤติ การปฏิบัติที่เหมาะสม และคิดและให้ความสำคัญกับคนอื่นมากกว่าตนเอง
การคิดถึงผู้อื่นให้มากขึ้นนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องคิดถึงตนเองให้ลดน้อยลงนะครับ (ซึ่งคงจะเป็นไปลำบากที่จะให้คนไม่คิดถึงตนเอง) แต่เป็นการคิดถึงตนเองให้บ่อยน้อยลงเท่านั้นเอง หรือ ถ้าอธิบายในอีกมุมหนึ่งคือ ยังให้คิดถึงตัวเองเท่าเดิม แต่คิดถึงตัวเองให้บ่อยน้อยลง โดยคิดถึงคนอื่นให้บ่อยมากขึ้นเท่านั้นเองครับ นอกจากการคิดถึงคนอื่นให้บ่อยมากขึ้นแล้ว ผู้นำยุคใหม่ยังควรจะมีความมุ่งมั่นหรือความต้องการที่จะทำให้คนอื่นในองค์กรประสบความสำเร็จ ความสำเร็จของผู้นำยุคใหม่ไม่ได้อยู่ที่ความสำเร็จของตนเองหรือความสำเร็จขององค์กรเพียงอย่างเดียวครับ แต่เป็นความสำเร็จของคนในองค์กรตนเอง ยิ่งถ้าลูกน้องหรือลูกทีมของตนเองสามารถก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กรอื่นๆ ยิ่งเป็นสิ่งที่น่าดีใจและภูมิใจกว่าการที่ตนเองประสบความสำเร็จ
การแสดงออกที่ดีและเหมาะสมของผู้นำยุคใหม่นั้น ควรจะเป็นลักษณะของการแสดงออกโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เช่น การให้ความเอื้อเฟื้อหรืออนุเคราะห์ต่อลูกน้องที่ประสบปัญหานั้น ก็ไม่ใช่เพื่อหวังผลในอนาคตว่าลูกน้องนั้นจะตอบแทนบุญคุณหรือกระทำการใดๆ เพื่อเป็นการตอบแทน แต่ควรจะเป็นไปโดยเจตนาสุจริต ปราศจากความคาดหวังในผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น เรียกได้ว่าผู้นำยุคใหม่ควรจะมีลักษณะเป็นผู้นำที่ “ให้” โดยเฉพาะ
ดูๆ ไปเหมือนกับว่าผู้นำยุคใหม่ควรจะลดความเป็นตะวันตกให้น้อยลง และเพิ่มความเป็นชาวตะวันออกให้มากขึ้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนะครับว่าทำไมในปัจจุบันหลักการบริหารของชาวตะวันออกหรือหลักการของพระพุทธศาสนา ถึงได้เข้ามามีบทบาทและความสำคัญในการบริหารยุคใหม่มากยิ่งขึ้น
ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์หน่อยนะครับ ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ได้เชิญ Patrick Georges ซึ่งเป็นผู้คิดและผู้ให้กำเนิด Management Cockpit มาพูดคุยและเล่าถึงพัฒนาการ ของ Management Cockpit ในปัจจุบัน โดยจะจัดเป็นงานสัมมนาขึ้นมาในวันพฤหัสที่ 13 สิงหาคม 2552 ระหว่างเวลา 8.30 – 12.00 ภายใต้หัวข้อเรื่อง Management Cockpit in 2010: Managing in an Economic Downturn ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็สอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 หรือ www.acc.chula.ac.th ครับ