16 July 2009

เรื่องของการบริหารความเสี่ยงเป็นเรื่องที่องค์กรต่างๆ ทั้งหน่วยงานราชการและเอกชนให้ความตื่นตัวและความสำคัญกันเป็นอย่างมากในปัจจุบัน อย่างไรก็ดีการบริหารความเสี่ยงขององค์กรต่างๆ นั้นยังละเลยการบริหารความเสี่ยงในประเด็นที่มีความสำคัญที่สุดต่อความอยู่รอดขององค์กร นั้นคือการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Risk Management

            ความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์นั้นยังเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่และยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ทั้งๆ ที่เป็นความเสี่ยงที่ส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กรต่างๆ อีกทั้งยังเป็นความเสี่ยงที่ยังขาดเครื่องมือในการระบุ การวิเคราะห์ และการจัดลำดับความสำคัญในเชิงปริมาณเช่นเดียวกับความเสี่ยงชนิดอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกันความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์นั้น นอกเหนือจากจะมีผลกระทบในเชิงลบต่อองค์กรแล้ว ถ้าองค์กรรู้จักที่จะบริหารและเกาะกุมประโยชน์ก็อาจจะกลายเป็นโอกาสที่นำพาองค์กรสู่ความสำเร็จได้เช่นเดียวกัน

            ปัญหาและข้อจำกัดของความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นเกิดขึ้นจากสาเหตุหลายประการครับ ตั้งแต่การที่เป็นความเสี่ยงที่ยังขาดระบบในการบริหารจัดการที่ชัดเจน หรือ แม้กระทั่งนิยามของความเสี่ยงทางกลยุทธ์ก็ยังมีความหลากหลายและสามารถมองได้จากหลายมุมมอง ในขณะเดียวกันผู้บริหารระดับสูงจำนวนมากที่มักจะไม่ค่อยยอมรับและปิดกั้นต่อการรับรู้ในความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์ เนื่องจากอาจจะเกิดจากการยึดมั่น ถือมั่นในกลยุทธ์ที่ตนเองเป็นผู้กำหนดขึ้น การไม่ยอมเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากผู้อื่น หรือ แม้กระทั่งการไม่ได้รับข้อมูล ข่าวสารที่ครบถ้วนถูกต้อง และที่สำคัญคือการบริหารความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้นยังขาดผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน หน่วยงานที่ดูแลเรื่องความเสี่ยงก็อาจจะมองว่าเป็นงานของฝ่ายแผนหรือฝ่ายกลยุทธ์ เนื่องจากเนื้อหาของการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์นั้นจะเป็นไปในด้านของกลยุทธ์มากกว่าความเสี่ยงธรรมดา แต่ฝ่ายแผนหรือฝ่ายกลยุทธ์ก็อาจจะมองว่าเป็นงานของฝ่ายบริหารความเสี่ยง เนื่องจากเป็นเรื่องของการบริหารความเสี่ยง

            ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์มีนิยามที่หลากหลายพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยที่จะส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กร หรือ ปัจจัยที่จะส่งผลต่อความสามารถในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ หรือ ความเสี่ยงที่กลยุทธ์ขององค์กรจะไม่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในการดำเนินงาน ซึ่งพอรวบรวมจากคำนิยามต่างๆ ข้างต้นก็พอจะเห็นได้ครับว่าเรื่องของนิยามความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้น พอที่จะแบ่งออกได้ตามกระบวนการหรือขั้นตอนการบริหารกลยุทธ์เป็นสามช่วง โดยในช่วงแรกจะเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กร อันจะมีผลต่อการกำหนดกลยุทธ์หรือการวางแผนกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ช่วงที่สองจะเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อความสามารถขององค์กรในการดำเนินงานให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ได้ตั้งไว้ และช่วงที่จะเป็นความเสี่ยงที่กลยุทธ์ซึ่งองค์กรใช้และวางแผนไว้ จะไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ว่าจะเป็นนิยามอย่างไรก็ตามความเสี่ยงทางกลยุทธ์นั้น เป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์กรอย่างแท้จริง

            จากประสบการณ์ของตนเองนั้นพบว่าองค์กรหลายแห่งในเมืองไทยได้เริ่มให้ความสนใจกับการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ในรูปแบบแรก นั้นคือให้ความสำคัญกับปัจจัยเสี่ยงต่างๆ โดยนำปัจจัยเสี่ยงเหล่านั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์ต่างๆ ที่องค์กรใช้ ตัวอย่างเช่น นำปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญมาเป็นส่วนหนึ่งใน SWOT Analysis จากนั้นก็จะมีการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีในความคิดเห็นของผมนั้นการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงที่ได้วิเคราะห์หรือระบุนั้น จะเป็นการกำหนดกลยุทธ์ใน ลักษณะเชิงรับมากกว่ารุก และกลายเป็นการตีกรอบของตนเอง ทำให้ไม่สามารถกำหนดกลยุทธ์ในเชิงรุกได้อย่างแท้จริง

            ส่วนที่องค์กรในประเทศไทยยังขาดนั้นจะเป็นการบริหารความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ในประเภทที่สองและสาม โดยในประเภทที่สองนั้นจะเป็นความเสี่ยงที่จะส่งผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ ซึ่งในประเด็นนี้องค์กรสามารถผสมผสานเรื่องของการบริหารความเสี่ยงเข้ากับ Balanced Scorecard เนื่องจากในการทำ Balanced Scorecard นั้นองค์กรจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ในมุมมองต่างๆ อยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่องค์กรควรจะพิจารณาก็คือ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ในมุมมองต่างๆ นั้น อะไรคือปัจจัยเสี่ยงที่จะเข้ามาส่งผลหรือมีผลกระทบบ้าง

            สำหรับความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ประเภทที่สามนั้นผมขอยกยอดไปสัปดาห์หน้านะครับ เนื่องจากจะเป็นประเด็นใหญ่และสำคัญเลย เนื่องจากว่าภายหลังจากที่องค์กรกำหนดกลยุทธ์ไปเรียบร้อยแล้ว และมีการดำเนินงานไประยะหนึ่ง องค์กรมีกลไกหรือมาตรการอะไรในการตรวจสอบและทบทวนว่ากลยุทธ์ที่องค์กรกำหนดขึ้นยังมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป