
9 December 2008
สัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อปรับปรุงหลักสูตร MBA ของ Harvard Business School ซึ่งทางศาสตราจารย์ของ Harvard เขาได้มีการศึกษาขึ้นมา เพื่อเป็นแนว ทางในการปรับปรุงหลักสูตร MBA ของ Harvard โดยสัปดาห์ที่แล้วได้เน้นไปถึงปัญหาและข้อ จำกัดของการจัดการเรียนการสอน MBA ในยุคปัจจุบัน ดังนั้นในสัปดาห์นี้เราจะมาพิจารณากันนะครับว่าแล้วทาง Harvard Business School เขาจะมีแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงหลักสูตร MBA ของเขาอย่างไรบ้าง เผื่อ MBA ในบ้านเราจะได้นำไปใช้เป็นแนวทางได้บ้างครับ
ก่อนอื่นเราต้องมาดูแนวทางการจัดการเรียนการสอน MBA ในปัจจุบันนะครับ ซึ่งท่านผู้ อ่านก็คงทราบแล้วว่าในบ้านเรานั้นก็พัฒนาตามแบบชาติตะวันตกเป็นหลัก และของอเมริกานั้นเขาก็ได้รับอิทธิพลในการจัดหลักสูตร MBA จากรายงานการศึกษาของ Ford Foundation ในปี 1959 ซึ่งผลดังกล่าวทำให้หลักสูตร MBA เกือบทั่วโลก จะมีการจัดการเรียนการสอนตามสาขาวิชาหรือตามสายงานในองค์กร ท่านผู้อ่านลองหลับตานึกถึงหลักสูตร MBA ที่ท่านคุ้นเคยดูก็ได้ครับ จะสังเกตว่าส่วนใหญ่แล้ววิชาหรือสาขาต่างๆ นั้นจะเป็นไปตามวิชาชีพหรือหน่วยงานต่างๆ ภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นด้านตลาด การเงิน การผลิต ทรัพยากรบุคคล บัญชี ฯลฯ
ซึ่งประเด็นสำคัญที่ผลการศึกษาของทาง Harvard พบก็คือการจัดหลักสูตรและวิชาต่างๆ ตามวิชาชีพหรือตามสายงานต่างๆ ในองค์กรนั้นอาจจะมีความเหมาะสมกับอดีตที่คนทำงานส่วนใหญ่ จะทำงานและเติบโตในสายงานใดสายงานหนึ่งมาตลอด และการเรียนการสอน MBA ตาม แนวทางดังกล่าว จะทำให้ผู้บริหารมีความเชี่ยวชาญและชำนาญเฉพาะด้าน อย่างไรก็ดีแนวทางดังกล่าวเป็นแนวทางที่เหมาะกับสถานการณ์ในอดีต ซึ่งในปัจจุบันองค์กรมีลักษณะแบนราบมากขึ้น การทำงานที่ยึดติดหรือยึดมั่นกับสายงานต่างๆ ก็จะลดน้อยลง ผู้บริหารในยุคใหม่ จะต้องมีความรู้ ความสามารถในการมองเห็นโอกาสและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะของระหว่างหน่วยงานหรือ Cross-Discipline มากขึ้น
ที่สำคัญคือผู้บริหารในองค์กรต่างๆ ไม่ว่าขนาดใหญ่ กลาง หรือ เล็ก ต้องทำหน้าที่เสมือนผู้ประกอบการภายใน หรือ Entrepreneur มากขึ้น โดยจะต้องสามารถบูรณาการความรู้ ประสบการณ์ และทรัพยากร ในด้านต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทำให้แนวทางการจัดการเรียนการสอนของ MBA ในแบบดั้งเดิมนั้นไม่เหมาะสมกับสภาวะของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
ท่านผู้อ่านหลายท่านอาจจะสงสัยนะครับว่า การเรียน MBA นั้นถึงแม้จะเรียนตามสาขาวิชา หรือ Function ต่างๆ แต่ก็เป็นการเรียนในทุกสาขา ทำให้ผู้เรียนได้มีความรู้รอบในทุกๆ ด้าน ซึ่งก็น่าจะตรงกับสภาวะการทำงานในปัจจุบัน แต่เมื่อเราพิจารณาโดยถ่องแท้แล้ว ปัญหาที่พบคือการเรียนในแต่ละวิชานั้นยังเป็นลักษณะของ Functional-Approach อยู่ และเมื่อจบในวิชาหนึ่งและไปเรียนวิชาอื่นนั้น ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เรียนได้เห็นความสอดคล้องหรือเชื่อมโยงระหว่างวิชาแต่ละวิชาได้ ทำให้ปัญหาประการหนึ่งที่ผมเองก็พบจากการสอน MBA ที่ผ่านมาคือ ผู้เรียนขาดความสามารถในการประสานหรือเชื่อมโยงเนื้อหาสาระจากวิชาต่างๆ ถึงแม้หลักสูตร MBA ส่วนใหญ่จะมีวิชาปิดท้ายเป็นวิชากลยุทธ์แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่พบก็คือกว่าจะมาถึงวิชาสุดท้ายในหลัก สูตร สมองและความคิดของผู้เรียนก็จะมีลักษณะเป็นแท่งๆ เหมือน Silo ตามโครงสร้างองค์กร และไม่สามารถมองเห็นความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ระหว่างแท่งแต่ละแท่ง
อย่างไรก็ดีสำหรับที่ Harvard Business School นั้น ทางอาจารย์ของเขามองว่าถึงแม้ในช่วงหลังทาง Harvard จะรับอาจารย์ที่มีพื้นฐานเฉพาะด้านในแต่ละด้านมากขึ้น แต่ในการจัดหลักสูตร และการเรียนการสอนนั้นก็ไม่พยายามให้ MBA ของ Harvard นั้นอยู่บนหอคอยงาช้างหรือห่างจากธุรกิจเท่าใด เนื่องจากทาง Harvard นั้นจะมุ่งเน้นเรื่องของกรณีศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหรือ พัฒนากรณีศึกษากว่า 400 เรื่องต่อปี หรือ การเรียนการสอนด้วยกรณีศึกษา ซึ่งการให้คณาจารย์ของของสถาบันออกไปหาข้อมูล สัมภาษณ์ ภาคธุรกิจเพื่อเขียนหรือพัฒนากรณีศึกษานั้น ก็เป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้คณาจารย์ใกล้ชิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในภาคธุรกิจมากขึ้น ส่วนการสอนด้วยกรณีศึกษานั้น ก็จะทำให้ผู้เรียนได้มีมุมมองที่หลากหลาย และสามารถคิดเชื่อมโยงระหว่างสาขาวิชาต่างๆ ได้ชัดเจนขึ้น จากการที่ทาง Harvard มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับกรณีศึกษาอย่างมากนั้น กลับทำให้ ทาง Harvard ได้รับคำวิจารณ์ว่ามุ่งเน้นในด้านภาคปฏิบัติมากเกินไป จนหลายครั้งละเลยทฤษฎี สำหรับประเด็นหลักๆ ที่ทาง Harvard เผชิญนั้น บรรดาคณาจารย์ของเขาต่างมีความเห็นว่า เนื่องจากสภาวะการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป การสอน MBA นั้นแทนที่จะมุ่งเน้นการสอนให้รู้ถึง know-what หรือสอนให้รู้ถึงหลักการ ทฤษฎีต่างๆ ควรจะมุ่งเน้นสอนให้ผู้เรียนได้รู้ถึง know-how หรือรู้ถึงวิธีการในการคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคิดออกนอกแท่ง Silo ของแต่ละศาสตร์สาขา รวมทั้งการทำให้ผู้เรียนเกิดความตระหนัก รู้จักตนเองมากขึ้น เพื่อให้สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้