
4 December 2008
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอผลการจัดอันดับสถาบันการสอนทางด้านบริหารธุรกิจในระดับปริญญาโท หรือ MBA ของนิตยสาร Business Week ที่จัดเป็นประจำทุกๆ ปี มาในสัปดาห์นี้ขอนำข้อมูลในเชิงลึกของ Harvard Business School หรือ HBS ซึ่งเขากำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยเพื่อปรับปรุงหลักสูตร MBA ของเขาเนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงครบ 100 ปีของการเริ่มการ เรียนการสอน MBA ที่ Harvard และคิดว่า MBA นั้นเริ่มมาถึงทางแยกที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนกันได้ แล้ว
สำหรับในเมืองไทยเองผมก็สนับสนุนอย่างแรงนะครับ ที่สถาบันการศึกษาใดก็ตามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และวิธีการเรียนการสอนของระดับ MBA ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่มหรือลด วิชาลงแบบเดิมๆ เท่านั้น แต่เป็นการปรับปรัชญา แนวคิด และวิธีการเรียนการสอน MBA เสียใหม่ เนื่องจากในปัจจุบัน ถ้ามอง MBA เป็นอุตสาหกรรมหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เริ่มเข้าสู่ยุคอิ่ม ตัวแล้ว ถึงแม้ในปีหน้าจะมีความต้องการในการเรียน MBA กันมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี และ MBA ก็เป็นทางเลือกที่ดีประการหนึ่ง แต่ยังอยากจะเห็นการปรับปรัชญา แนวคิด ของหลักสูตร MBA ในบ้านเราครับ
กลับมาที่กรณีศึกษาของ Harvard ซึ่งน่าสนใจว่าถึงแม้เขาจะเป็นผู้นำในการศึกษาในด้าน MBA อยู่ในปัจจุบัน แต่ก็รู้จักและพร้อมที่จะปรับตัว โดยไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ที่มีมาในอดีต โดยการปรับหลักสูตรของ Harvard นั้นก็ไม่ใช่คิดจะปรับก็ปรับขึ้นมาลอยๆ เหมือนบางที่นะครับ แต่มีการสัมภาษณ์บรรดาคณบดีของสถาบันด้านบริหารธุรกิจกว่า 30 แห่ง มีการทำ Focus Group กับผู้ที่เรียน MBA กว่า 100 คน สัมภาษณ์นักการศึกษา ผู้บริหาร และฝ่ายบุคคลของบริษัทต่างๆ กว่า 30 บริษัท รวมทั้งเก็บข้อมูลในเชิงลึกและการเปรียบเทียบหลักสูตรของสถาบันการศึกษา ทางด้าน MBA ชั้นนำกว่าสิบแห่ง
ผลการศึกษาที่พบนั้น ทางผู้วิจัยระบุว่าออกมาค่อนข้างจะน่าหดหู่และน่าเป็นห่วงสำหรับอุตสาหกรรม MBA พอสมควรครับ โดยถึงแม้ว่าอัตราการสมัครและความสนใจในการเรียน MBA ยังคงมีสูงอยู่ในสหรัฐอเมริกา แต่ข้อวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเรียนการสอน และการจัดหลักสูตรของ MBA นั้นก็มีเยอะพอสมควรครับ โดยหลักๆ นั้นก็เป็นเรื่องของการที่ MBA ให้ความสำคัญกับ ทฤษฎีที่มากเกินไปจนละเลยต่อเรื่องของภาวะผู้นำในสภาวะแวดล้อมสากลเช่นในปัจจุบัน หรือ การที่ไม่ได้มุ่งเน้นในทักษะที่เรียกว่าเป็น Soft Skill เท่าที่ควร เป็นต้น
ในช่วงหลายๆ ปีที่ผ่านมาได้มีทั้งนักวิชาการและผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่างๆ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการเรียนการสอนทางด้าน MBA ของสถาบันการศึกษาชื่อดังต่างๆ ว่าแนวทางในการจัดการเรียนการสอนนั้นจะมุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับศาสตร์หรือสาขาใดสาขาหนึ่งโดยเฉพาะมากขึ้น ทำให้ขาดความเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจที่แท้จริง หรือ มีการวิพากษ์ผลงานวิจัยและวิชาของบรรดาคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาทางด้าน MBA ต่างๆ ว่างานวิจัยที่จัดทำขึ้นมา นั้นเป็นลักษณะที่เน้นทางด้านวิชาการมากเกินไป จนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่วงการธุรกิจ
นอกจากนี้ยังมีข้อวิจารณ์อีกว่า โดยเนื้อแท้แล้วหลักสูตร MBA มุ่งเน้นในการสร้างหรือพัฒนาผู้นำสู่วงการธุรกิจจริงหรือไม่ เนื่องจากนักวิชาการหลายท่านมองว่าการจะสร้างหรือพัฒนาผู้นำได้นั้น ไม่สามารถสอนกันได้ด้วยวิธีการปกติที่สอนในชั้นเรียน MBA ในปัจจุบัน อีกทั้งยังมีข้อวิจารณ์อีกครับว่าสถาบันการสอนด้าน MBA ทั้งหลายผลิตบัณฑิตที่ก่อให้เกิดเรื่องเดือดร้อนแก่ สังคม เนื่องจาก MBA มุ่งเน้นสอนให้ผู้เรียนให้ความสำคัญต่อผู้ถือหุ้นหรือ Shareholder เป็นหลัก จนลืมหรือละเลยต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ และสังคม (Stakeholders and Social)
ในอดีตนั้นผู้ที่ต้องการว่าจ้าง MBA คือบริษัทที่ต้องการบุคลากรที่มีทักษะ ความรู้ ความสามารถ ที่เฉียบคม มีความรู้ในเรื่องใหม่ๆ แต่ในปัจจุบันคณบดีหลายๆ ท่านที่ร่วมในการวิจัยของทาง Harvard กลับมองว่าไม่เป็นความจริงอีกต่อไป เนื่องจากการจบ MBA นั้นกลายเป็น มาตรฐานที่ทุกคนจะต้องจบ และไม่ได้ก่อให้เกิดความแตกต่างอีกต่อไป นอกจากนี้หลายๆ บริษัทที่เคยจ้าง MBA เป็นจำนวนมากก็เริ่มพัฒนาหลักสูตรอบรมและพัฒนาบุคลากรภายในบริษัทที่ได้ความรู้ ประสบการณ์เทียบเท่ากับการเรียน MBA ตามสถาบันการศึกษาชั้นนำ ทำให้พนักงานที่มีศักยภาพและต้องการเพิ่มพูนความรู้ นั้นหันมาเรียนและอบรมจากภายในองค์กรมากขึ้น แทนที่จะต้องลาออกไปให้เสียเวลาในการทำงาน
จากข้อกังวลหรือข้อวิจารณ์ต่างๆ เหล่านี้ที่ทางคณะผู้วิจัยของ Harvard พบ ทำให้ทาง Harvard คิดที่จะปรับเปลี่ยนหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอน MBA เสียใหม่ อย่างไรก็ดีทาง Harvard เองก็ยังคงยึดมั่นอยู่ที่กระบวนการเรียนการสอนด้วยกรณีศึกษาอยู่เหมือนเดิมนะครับ นั้นคือเขาจะยังคงยึดการสอนด้วยกรณีศึกษาเป็นพื้นฐาน แต่จะปรับเปลี่ยนวิธีการหรือกระบวนการ เรียนการสอนบางประการ เพื่อให้ MBA ที่จบไปเหมาะสมกับโลกการทำงานภายนอกมากขึ้น