13 November 2008

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มเปิดประเด็นในเรื่องเกี่ยวกับการคิดเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Thinking ซึ่งถือเป็นทักษะและความสามารถที่สำคัญประการหนึ่งที่ผู้บริหารในระดับต่างๆ ควรจะต้องมี อย่างไรก็ดี ในอดีตเรายังมีข้อสงสัยกันว่า การที่จะคิดเชิงกลยุทธ์ได้นั้น บุคคลผู้นั้น ควรที่จะต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง หรือ สะสมประสบการณ์อะไรบ้าง เพื่อให้มีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งผมเองได้อ่านเจอบทความหนึ่งใน MIT Sloan Management Review ชื่อ Strategic Thinking at the Top เขียนโดย Ellen F. Goldman โดยในบทความดังกล่าวผู้เขียนเขาได้ทำการศึกษาและวิจัยถึงที่มาของความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ ซึ่งพบว่ามีปัจจัยสิบประการที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหาร แต่อย่างไรก็ดีไม่ได้หมายความว่าการจะมีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ได้นั้น จะต้องมีปัจจัยทั้งสิบประการนะครับ เพียงแต่พบว่าปัจจัยสิบประการข้างต้น ส่งผลต่อความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์

            ในสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอไปแล้วในสามปัจจัยแรกได้แก่เรื่องของพื้นฐานครอบครัว การศึกษา เรื่องของประสบการณ์ในการทำงาน และเรื่องของการได้มีโอกาสเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ซึ่งจากปัจจัยทั้งสามประการที่นำเสนอไปในสัปดาห์ที่แล้วก็พบว่าการได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์ที่หลากหลาย เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งต่อความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์เลยทีเดียว ในสัปดาห์ที่เรามาดูกันต่อนะครับว่าปัจจัยที่เหลืออีกเจ็ดประการมีอะไรบ้าง

            ปัจจัยประการที่สี่คือเรื่องของการมีที่ปรึกษาที่สามารถให้คำแนะนำได้หรือที่เราเรียกกันว่ามี Mentor โดยผลการวิจัยพบว่าการที่ผู้บริหารได้มีผุ้ที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและให้คอยให้คำแนะนำอยู่อย่างสม่ำเสมอนั้นมีผลต่อการสร้างความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้มีโอกาสติดต่อและพูดคุยกันอย่างน้อยวันละครั้ง โดยบุคคลเหล่านี้จะทำหน้าที่ให้การให้คำปรึกษาแนะนำในด้านต่างๆ ให้กับผู้บริหาร

            ปัจจัยประการที่ห้าคือการมีเพื่อนร่วมงานที่คอยท้าทายอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะดูแล้วเหมือนกับมีเพื่อนร่วมงานที่จะคอยท้าแข่งขันนะครับ แต่จริงๆ แล้วในความหมายของเพื่อนร่วมงานในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะในระดับเดียวกันนะครับ เขาหมายรวมถึงผู้บังคับบัญชา เจ้านาย  รวมถึงเพื่อนร่วมงานและลูกน้องในระดับต่างๆ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเราอยู่ตลอดเวลา และบุคคลเหล่านี้จะคอยเสนอความคิด คำถาม ต่างๆ ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่ท้าทายความคิดของเราอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผมก็มองว่าเป็นสิ่งที่ดีนะครับ เนื่องจากถ้าคนรอบข้างเห็นด้วยกับเราหมด เราก็จะไม่มีมุมมองที่หลากหลาย และจะคิดอยู่เพียงด้านเดียว แต่การมีคนที่คอยท้าทายสติปัญญาเราอยู่ตลอดเวลา ก็จะช่วยลับความสามารถในการคิดของเราขึ้นมาได้

            ปัจจัยประการที่หกคือการได้มีโอกาสติดตามข้อมูลและประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ตนเองดูแลและรับผิดชอบ ซึ่งถ้าอ่านดูก็รู้สึกเหมือนกับว่าเป็นสิ่งที่ผู้บริหารต้องทำอยู่แล้ว และไม่น่าเกี่ยวกับการพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์แต่อย่างใด แต่การได้ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลและผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ กลับเป็นสิ่งที่ช่วยฝึกความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล การมองหาความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล รวมทั้งการนำข้อมูลมาใช้เป็นประโยชน์ ซึ่งน่าจะเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นสำหรับการคิดเชิงกลยุทธ์นะครับ เพราะในปัจจุบันผู้บริหารจำนวนมากเวลาดูข้อมูลหรือผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ แล้วก็มักจะดูเพื่อให้ทราบไปเท่านั้น แต่ไม่ได้มีการวิเคราะห์ต่อในด้านต่างๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดายครับ

            ปัจจัยประการที่เจ็ดคือการได้มีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ครับ โดยการมีส่วนร่วมในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์จะช่วยในการคิดเชิงกลยุทธ์ได้ถ้าผู้บริหารได้มีการประชุมกับกลุ่มผู้บริหารอย่างสม่ำเสมอเช่นเดือนละครั้งหรือไตรมาสละครั้งเพื่อพูดคุยกันในเรื่องของแผนกลยุทธ์ หรือ ถ้าผู้บริหารได้มีโอกาสอ่านและศึกษาข้อมูลต่างๆ ก่อนการประชุม ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารได้มีการเตรียมพร้อมและรู้ว่าจะประชุมไปเพื่ออะไรมากขึ้น หรือ ถ้าผลลัพธ์ของการประชุมจะนำไปสู่การกำหนดกรอบและทิศทางในการดำเนินงาน รวมทั้งแนวทางในการปฏิบัติขั้นต่อไปได้ ดังนั้นถ้ามีปัจจัยทั้งสามประการครบถ้วน ย่อมจะทำให้กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ได้

            ปัจจัยประการที่แปดคือการได้มีโอกาสดูแลหรือรับผิดชอบต่อโครงการทางกลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กร ซึ่งควรจะต้องเป็นโครงการที่มีความสำคัญและใช้ระยะเวลาที่นานพอสมควรในการทำให้สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโรงงาน การเข้าไปซื้อบริษัทอื่น และที่สำคัญคือต้องได้รับอิสระในการตัดสินใจในโครงการดังกล่าวด้วย ปัจจัยประการที่เก้าคือได้ผจญและเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความอยู่รอดขององค์กร ไม่ว่าการจะถูกควบรวมกิจการโดยองค์กรอื่น หรือ การล้มละลายของบริษัท ซึ่งผู้บริหารที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านี้มาได้ย่อมจะได้รับการพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ได้เช่นกัน

            ประการสุดท้ายคือการได้มีปฏิสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอและเป็นประจำกับบุคคลอาจจะเป็นในระดับเดียวกันหรือบุคคลที่สามารถสะท้อนความคิดให้กันได้ ไม่ว่าจะเป็นการได้มีโอกาสเข้าร่วมงานของสมาคมหรือชมรมต่างๆ หรือ การเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ จะทำให้ผู้บริหารได้มีโอกาสเสริมสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น

            เป็นอย่างไรบ้างครับปัจจัยสิบประการที่จะเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ ปัจจัยทั้งสิบประการนี้ไม่จำเป็นต้องเกิดพร้อมกันก็ได้นะครับ และส่วนใหญ่จะใช้เวลามากกว่าหนึ่งปีขึ้นไปครับ ท่านผู้อ่านลองนำแนวคิดทั้งสิบประการไปค่อยๆ พัฒนาความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ของท่านดูนะครับ