
13 November 2008
ผมเองจำได้ว่าได้นำเสนอบทความที่เกี่ยวกับเรื่องของการคิดเชิงกลยุทธ์ หรือ Strategic Thinking ผ่านทางหน้ากระดาษนี้มาหลายรอบพอสมควร แต่ก็ดูเหมือนว่าเรื่องของการคิดเชิงกล ยุทธ์จะยังเป็นสิ่งที่ลึกลับสำหรับท่านผู้อ่านหลายๆ ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทำอย่างไรถึงจะพัฒนา ความสามารถของผู้บริหารให้มีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วย่อมจะนำไปสู่ ประโยชน์ขององค์กรโดยรวม ผมได้มีโอกาสอ่านบทความที่เขียนโดย Ellen F. Goldman ในวารสาร MIT Sloan Management Review ชื่อ Strategic Thinking at the Top ซึ่งผู้เขียนบทความได้ ทำการศึกษาและวิจัยเพื่อเสาะหาว่าจะพัฒนาความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารได้อย่างไร และได้ข้อสรุปที่น่าสนใจและน่าจะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาผู้บริหารให้มีความ สามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์
ก่อนเริ่มลองมาดูนิยามของการคิดเชิงกลยุทธ์อีกครั้งหนึ่งนะครับ ประเด็นสำคัญอย่างแรกก็คือการคิดเชิงกลยุทธ์ การวางแผนเชิงกลยุทธ์ และการจัดการเชิงกลยุทธ์ ไม่ใช่เรื่องเดียวกันนะครับ ภาษาอังกฤษเขาใช้ว่า Strategic Thinking, Strategic Planning, Strategic Management ซึ่งความแตกต่างระหว่างคำทั้งสามนั้น เป็นความแตกต่างทั้งในเชิงวิชาการและทางปฏิบัตินะครับ ในส่วนของการคิดเชิงกลยุทธ์หรือ Strategic Thinking นั้น ผู้เขียนบทความ Strategic Thinking at the Top ได้ให้ความหมายไว้ว่า กิจกรรมที่ผู้บริหารทำเพื่อให้ได้มาซึ่งกลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการในการแข่งขัน รวมทั้งทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตแตกต่างจากในปัจจุบัน และการคิดเชิงกลยุทธ์นั้นควรจะต้องมีลักษณะที่เป็นองค์รวม (Conceptual) เป็นระบบ (System-Oriented) มีทิศทางที่ชัดเจน (Directional) และ มองโอกาส (Opportunistic)
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารนั้นมาจากที่ไหน? ใช่ติดตัวมาแต่ชาติปางก่อน หรือ เป็นสิ่งที่ผู้บริหารสามารถพัฒนาขึ้นมาได้? งานวิจัยนั้นเขาได้ค้นพบว่ามีปัจจัยอยู่สิบประการที่นำไปสู่ความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารนะครับ โดยปัจจัยทั้งสิบประการนั้นยังสามารถแบ่งเป็นกลุ่มได้สี่กลุ่ม ได้แก่ระดับบุคคล ระดับความสัมพันธ์ ระดับองค์กร และ ระดับภายนอก ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารทุกคนจะต้องมีปัจจัยทั้งสิบประการนั้นนะครับ เพียงแต่จากผลการศึกษาของเขา เขาพบว่าผู้บริหารทุกคนจะมีปัจจัยอย่างน้อยหนึ่งประการจากทุกระดับครับ
มาดูในระดับแรกคือระดับส่วนบุคคลหรือระดับ Personal กันก่อนนะครับ โดยในระดับนี้มีปัจจัยอยู่สามประการที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ครับ ปัจจัยทั้งสามประการประกอบด้วย การเลี้ยงดูของครอบครัวและการศึกษา หรือ Family Upbringing / Education ประสบการณ์ในการทำงาน หรือ General Work Experiences และการเป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์ กรหรือการเป็น CEO เราลองมาพิจารณาแต่ละประเด็นในรายละเอียดนะครับ
ปัจจัยในเรื่องของการเลี้ยงดูของครอบครัวและการศึกษานั้น พบว่ามักจะไปด้วยกันและส่งเสริมกัน ตัวอย่างหนึ่งของการเลี้ยงดูและการศึกษาที่สัมพันธ์ต่อความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ก็คือการได้มีโอกาสเปิดมุมมองที่หลากหลายและแตกต่าง ผ่านทางการเดินทางท่องเที่ยว การเรียนรู้ในวัฒนธรรมที่มีความแตกต่าง รวมถึงการได้ฝึกฝนในเรื่องของการโต้วาที และการได้ฝึกฝนแบบโซคราตีสที่เน้นการแสวงหาคำตอบโดยการตั้งคำถาม ก็มีส่วนต่อการเสริมสร้างความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ด้วยกันทั้งสิ้นครับ – ดังนั้นถ้าท่านอยากจะฝึกฝนลูกหลานท่านให้เป็นนักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เก่งในอนาคต ก็อย่าลืมให้เขาได้มีโอกาสเรียนรู้จากมุมมองที่แตกต่างและหลากหลายนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฝึกฝนการคิดโดยการใช้คำถามเป็นตัวตั้ง
ปัจจัยประการถัดมาคือเรื่องของประสบการณ์ทั่วไปในการทำงาน โดยเฉพาะการมีประสบการณ์ในการทำงานที่หลากหลาย ทั้งลักษณะของงานหรือแม้กระทั่งสถานที่ทำงานที่แตกต่างกันออกไป เนื่องจากความหลากหลายนั้น จะทำให้บุคคลผู้นั้นได้มีความคุ้นเคยกับปัญหาหรือประเด็นที่หลากหลาย รวมทั้งได้ประสบกับกลยุทธ์ที่มีความแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร และที่สำคัญก็คือบุคคลผู้นั้นควรจะต้องได้เคยมีความรับผิดชอบในโครงการสำคัญๆ เช่น การควบรวมของบริษัท หรือ การพลิกฟื้นกิจการ ฯลฯ และนอกเหนือจากการได้เข้ามารับผิดชอบแล้วยังต้องได้มีอิสระในการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวด้วยครับ
ปัจจัยประการสุดท้ายที่อยู่ภายใต้กลุ่มส่วนบุคคลนั้น คือการได้เป็นผู้บริหารสูงสุดขององค์กร หรือเป็นซีอีโอ โดยในประเด็นนี้อาจจะยังดูเหมือนจะขัดแย้งกันอยู่ นั้นคือบรรดากรรมการบริษัททั้งหลายต้องการซีอีโอที่มีความพร้อมและความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ แต่ผลการศึกษาวิจัยต่างๆ กลับพบว่าการได้เป็นซีอีโอ กลับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนผู้นั้นมีความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากเมื่อได้เป็นซีอีโอแล้ว บุคคลผู้นั้นจะมีมุมมองและภาพที่กว้างเกี่ยวกับองค์กรและธุรกิจของตนเอง
ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัจจัยที่นำไปสู่ความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ในสามประเด็นแรกนั้น ดูเหมือนว่าจะมีลักษณะที่คล้ายๆ กันนั้นคือคนผู้นั้นควรจะผ่านประสบการณ์หรือสถานการณ์ที่ทำให้คนผู้นั้นมีโลกทัศน์และมุมมองที่หลากหลายนะครับ ไม่ว่าจะผ่านการศึกษา การเลี้ยงดู ประสบการณ์ทำงาน และการมีโลกทัศน์ที่กว้างและมุมมองที่หลากหลาย ก็ดูเหมือนเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอย่างหนึ่งของความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์
สัปดาห์หน้าเรามาดูในปัจจัยประการอื่นที่ส่งผลต่อความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ของผู้บริหารต่อนะครับ