4 June 2009

ขณะนี้มีหนังสือเล่มเล็กๆ ที่น่าสนใจเล่มหนึ่งของ Jim Collins ชื่อ How The Mighty Fall ซึ่งเป็นหนังสือที่มาจากผลการศึกษาวิจัยของ Collins และคณะเพื่อศึกษาว่าบรรดาองค์กรยักษ์ใหญ่ ทั้งหลายที่เคยประสบความสำเร็จอย่างสุดๆ นั้น ทำไมถึงอยู่ดีๆ ถึงล้มหรือพังลงมาได้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามหนังสือทางด้านการบริหารก็คงพอจะคุ้นชื่อของ Jim Collins กันบ้างนะครับ เขาเองเป็นผู้ เขียนหนังสืขายดีระดับโลกมาแล้วสองเล่มคือ Built To Last และ Good To Great โดยลักษณะหนังสือที่ Jim Collins เขียนขึ้นมานั้น จะมีเนื้อหามาจากงานวิจัยของเขาที่ศึกษาประวัติขององค์กรธุรกิจต่างๆ จากนั้นมองหารูปแบบต่างๆ ที่ทำให้องค์กรเหล่านั้นประสบความสำเร็จ และนำเสนอออกมา เช่นในหนังสือ Built to Last หรือ Good to Great ส่วนหนังสือ How The Mighty Fall นั้นก็มารูปแบบเดียวกันครับ แต่แทนที่จะมองว่ารูปแบบที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ กลับมองหารูปแบบขององค์กรที่เคยประสบความสำเร็จและพังหรือล้มเหลว

            สิ่งที่ Collins พบก็คือความล้มเหลวหรือตกต่ำขององค์กรธุรกิจนั้น จะประกอบด้วยทั้งหมดห้าขั้นตอน โดยเขาตั้งชื่อแต่ละขั้นตอนไว้ดังนี้ครับ ขั้นที่ 1 Hubris born of success ขั้นที่ 2 Undisciplined pursuit of more ขั้นที่ 3 Denial of risk & peril ขั้นที่ 4 Grasping for salvation และขั้นที่ 5 Capitulation to irrelevance or death ดูชื่อแต่ละขั้นแล้วก็น่ากลัวนะครับ และที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้นก็คือองค์กรใดก็ตามสามารถเริ่มเข้าสู่ห้าขั้นตอนแห่งความล้มเหลวนี้ได้ แม้ผลการดำเนินงานจะยังดีอยู่ หรือ ยังคงประสบความสำเร็จในการแข่งขันและการทำธุรกิจอยู่ นั้นคือหลายครั้งที่ผู้บริหารองค์กรจะไม่ทราบว่าองค์กรของตนเองเริ่มเข้าสู่ความตกต่ำจนกระทั่งเข้าสู่ขั้นที่ 4 หรืออีกนัยหนึ่งอาจจะกล่าวได้ว่า ความเสียหายจะเริ่มปรากฎได้ชัดเจนก็เมื่อองค์กรเข้าสู่ขั้นที่ 4

            ในขั้นที่ 1 หรือที่พอจะแปลเป็นไทยได้ว่าซากปรักหักพังเกิดขึ้นจากความสำเร็จ (ยาวมากครับ) จะเกิดขึ้นในขณะที่องค์กรประสบความสำเร็จสุดๆ และบุคลากรในองค์กรก็จะมีความหยิ่งผยองหรือภูมิใจในความสำเร็จ ทั้งผู้บริหารและบุคลากรก็มักจะคิดว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเนื่องจากฝีมือหรือความสามารถของตนเองเป็นหลัก โดยไม่พยายามทำความเข้าใจว่าโดยแท้จริงแล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นเพราะอะไร ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วความสำเร็จที่เกิดขึ้นอาจจะมาจากความโชคดี หรือ การอยู่ในที่ๆ เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสมก็เป็นได้ครับ

            ขั้นที่ 2 เป็นการเติบโตหรือต้องการมากขึ้น อย่างขาดวินัย ซึ่งเป็นทัศนคติที่สืบเนื่องต่อมา จากขั้นที่ 1 ครับ เนื่องจากพอประสบความสำเร็จสุดๆ ก็มักจะมีความย่ามใจ คิดว่าตนเองสามารถทำอะไรได้หมด ดังนั้นในช่วงนี้ก็จะเติบโตหรือขยายตัวไปในด้านต่างๆ หรืออาจจะเรียกได้ว่าไม่คิดจะพอ และนอกจากนี้การขยายตัวหรือเติบโตที่เกิดขึ้นยังไม่ได้อยู่บนพื้นฐานที่เคยทำให้ตนเองประสบความสำเร็จด้วย หลายครั้งที่องค์กรเริ่มเติบโต จนกระทั่งขาดแคลนบุคลากรหรือคนทำงานที่เหมาะสม นอกจากนี้การเติบโตไปยังธุรกิจที่ตนเองไม่มีความคุ้นเคยหรือคุ้นชินก็มักจะเป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่พบได้สำหรับองค์กรที่เข้าสู่ขั้นที่ 2 ซึ่งองค์กรต่างๆ ในขั้นนี้พอจะสรุปได้ว่าเป็น พวกโตเกินตัวนั้นเองครับ

            ขั้นที่ 3 เป็นขั้นของการปฏิเสธต่อสัญญาณเตือนภัยต่างๆ เนื่องจากในขั้นนี้องค์กรจะเริ่มพบ กับสัญญาณเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ แต่ผลการดำเนินงานโดยรวมนั้นยังอยู่ในขั้นที่ดี ทำให้ผู้ บริหารมักจะปฏิเสธต่อข้อมูล หรือ ตัวเลขต่างๆ ที่เป็นลบ และจะให้ความสำคัญแต่เฉพาะข้อมูลที่เป็นบวกเท่านั้น

            ขั้นที่ 4 เป็นขั้นของการไขว่คว้าหาทางรอดครับ เนื่องจากบรรดาสัญญาณเตือนภัย หรือ ข้อมูลในเชิงลบต่างๆ ที่ปรากฎขึ้นในขั้นที่ 3 จะเริ่มส่งผลต่อการดำเนินงานขององค์กร และทำให้องค์กรเริ่มประสบกับปัญหาหรือเริ่มตกต่ำลง ซึ่งในขั้นนี้ส่วนใหญ่แล้วตัวผู้บริหารระดับสูงก็พยายาม หาหนทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการหาผู้บริหารสูงสุดคนใหม่ การใช้กลยุทธ์ใหม่ การเปลี่ยนแปลง การพลิกฟื้นกิจการ การพยายามไปซื้อกิจการในอุตสาหกรรมอื่น ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลง หรือ ความพยายามต่างๆ เหล่านี้อาจจะได้ผลดีหรือดูดีในระยะต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปแล้วความพยายามหรือการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็จะไม่ยั่งยืนเท่าที่ควร

            ขั้นที่ 5 เป็นขั้นของการจมดิ่งสู่ความล้มเหลวครับ โดยยิ่งองค์กรอยู่ในขั้นที่ 4 นานเท่าใด โอกาสที่จะล้มเหลวหรือเข้าสู่ขั้นที่ 5 ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น โดยในขั้นที่ 5 นั้นจะเป็นขั้นที่องค์กร และตัวผู้บริหารหมดหวังต่ออนาคตขององค์กร และอาจจะมีการขายกิจการทิ้ง หรือ แม้กระทั่ง ปล่อยให้ล้มละลายลงไป (ดังที่ปรากฎในองค์กรยักษ์ใหญ่ของอเมริกาหลายแห่ง)

            ท่านผู้อ่านลองนำทั้งห้าขั้นของการล้มของยักษ์ใหญ่ไปลองพิจารณาดูนะครับ โดยเฉพาะอาจจะเปรียบเทียบกับผู้ทรงอำนาจวาสนาหรือประสบความสำเร็จในชีวิตที่อาจจะมีสิทธิ์ล้มเหลวและตกต่ำได้เหมือนกับองค์กรธุรกิจ