10 June 2009

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอเนื้อบางส่วนจากหนังสือ How The Mighty Fall ของนักคิดชื่อดังอย่าง Jime Collins มานำเสนอ โดยสาระสำคัญก็คือการที่บริษัทที่ประสบความสำเร็จ มีความเจริญรุ่งเรืองนั้น จะมาประสบกับปัญหาทางธุรกิจและถึงขั้นล้มได้อย่างไร ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาเราก็จะเห็นยักษ์โดยเฉพาะยักษ์ทางธุรกิจในประเทศตะวันตกที่ล้มครืนลงมา ซึ่งถ้าดูจากสิ่งที่ Collins พบนั้นก็จะเป็นเพราะยักษ์ใหญ่เหล่านั้นเมื่อประสบความสำเร็จก็มักจะมีอาการเหลิง ได้ใจ คิดว่าข้า แน่ ซึ่งย่อมเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การเติบโต ขยายตัวที่ไม่อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง และสุดท้ายย่อมนำไปสู่หายนะได้ในที่สุด

            จากวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมาเราคงจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆ ในเมืองไทยสามารถที่จะประคองตนเองให้อยู่รอดมาได้ ซึ่งอาจจะเป็นเนื่องจากประสบการณ์เมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือ อาจจะเป็นเนื่องจากคนไทยเริ่มหันมาบริหารตามแนวทางพุทธศาสนากับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น ทำให้เริ่มที่จะระมัดระวังตัว เดินสายกลาง ไม่ขยายตัวอย่างบุ่มบ่าม รวมทั้งไม่เหลิงจนเกินพอดี จริงๆ แล้ววัฎจักรหรือวงจรของความล้มเหลวของยักษ์ใหญ่ที่ Jim Collins เขียนไว้ในหนังสือเขานั้น สามารถนำมาปรับใช้ได้กับทุกระดับและสถานการณ์เลยนะครับ ไม่ว่าบุคคลท่านไหนที่ประสบ ความสำเร็จมากๆ จากนั้นก็เกิดอาการมั่นใจในตนเองจนเกินเหตุ เหลิง และคิดว่าตนเองสามารถทำได้ทุกอย่าง ก็จะทำให้เริ่มเข้าสู่วงจรของความหายนะในที่สุด หรือแม้กระทั่งพรรคการเมืองหรือรัฐบาลเองก็เช่นเดียวกันครับ

            มีบทสัมภาษณ์อดีต CEO ของ Fannie Mae ที่เป็นหนึ่งในบริษัทที่เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤต เศรษฐกิจในรอบนี้ไว้อย่างน่าสนใจครับ โดยซีอีโอคนนี้ชื่อ Daniel Mudd และเป็นอดีตผู้บริหาร ของ GE ซึ่งอดีตผู้บริหารของ GE ส่วนใหญ่แล้วจะได้รับความชื่นชมและยอมรับ บริษัทยักษ์ใหญ่ ของอเมริกาจำนวนมากที่นำผู้บริหารระดับรองๆ ของ GE เข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของตนเอง ทำให้อดีตผู้บริหารของ GE หลายท่านที่มีความมั่นใจในฝีมือของตนเอง ซึ่ง Mudd เขาก็ยอมรับครับว่า ตอนเข้ามาดูแล Fannie Mae นั้นเขามีความมั่นใจสูงมาก

            นอกจากนี้จากการที่ Fannie Mae ประสบความสำเร็จมาในอดีต ทำให้ Mudd ยอมรับว่าใน ขณะนั้นวัฒนธรรมองค์กรของ Fannie Mae จะค่อนข้างหยิ่งผยอง และถึงแม้ว่าบริษัทจะทำสิ่งผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ แต่ลูกค้าก็ไม่มีทางเลือกอื่น เนื่องจากต้องยอมรับสภาพดังกล่าว ขณะนั้น Fannie Mae ถือว่าเป็นผู้กำหนดมาตรฐานในอุตสาหกรรมเลยทีเดียว และเมื่อประสบความสำเร็จมาก ก็มักจะมองที่ผลลัพธ์ที่ต้องการเป็นหลัก โดยลืมพิจารณาหรือให้ความสำคัญกับหลักการที่แท้จริงและถูกต้อง

            กรณีของ Fannie Mae ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาเมื่อยักษ์ล้มที่เห็นได้ชัดเจนนะครับว่าเป็น สิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับบริษัทที่ประสบความสำเร็จทั้งหลาย และจากประสบการณ์ของผมก็คือว่า บุคคลภายนอกต่อให้หวังดีกับองค์กรเพียงใด ก็ไม่สามารถเข้าไปตักเตือนได้ เนื่องจากในช่วงเวลา ดังกล่าวผู้บริหารจะมีความรู้สึกหยิ่งผยอง จะมองว่าตัวเองนั้นเก่ง ตัวเองนั้นแน่ ดังนั้นการที่คนภายนอกจะมาเตือนได้นั้นก็ไม่ค่อยจะรับฟังเท่าไร แถมหลายๆ ครั้งยังถูกดูถูกกลับไปอีกต่างหาก

            ผู้บริหารอีกท่านหนึ่งชื่อ Gregory Brown ซึ่งเป็น Co-CEO ของ Motorola ระบุไว้เหมือน กันครับว่าความสำเร็จเป็นอุปสรรคที่สำคัญสำหรับการเติบโต เนื่องจากความสำเร็จที่เกิดขึ้นจะทำ ให้เราตอกย้ำแต่วิธีการในการทำงานรูปแบบเดิมๆ ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในอดีต (แต่อาจจะ ไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จในอนาคต) ถ้าท่านผู้อ่านยังจำมือถือรุ่น RAZR ของโมโตที่ประสบความ สำเร็จมากๆ ในอดีต ก็คงจะเห็นตรงกันว่าความสำเร็จดังกล่าว ทำให้ผู้บริหารของบริษัท มองไม่เห็นจุดอ่อนที่สำคัญหลายๆ อย่างของ RAZR และคิดว่าตนเองรู้ดีที่สุดว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ โดยไม่ยอมรับฟังข้อมูลที่ไม่ดีที่ลูกค้าได้พยายามบอกบริษัท ซึ่งผลสุดท้ายเป็นอย่างไรก็คงพอจะมองเห็นจากสถานะของมือถือยี่ห้อนี้ในปัจจุบันนะครับ

            นอกจากนี้เมื่อองค์กรสำเร็จมากๆ ความนิ่งก็จะเข้ามาเยือน จากในอดีตที่ต้องเดินหรือสิ่งอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถทันต่อภาวะการแข่งขัน แต่เมื่อประสบความสำเร็จแล้ว อาการวิ่งก็จะเปลี่ยนมาเป็นเดิน มาเป็นคลาน และสุดท้ายอาจจะนิ่งในที่สุด ดังนั้นองค์กรหลายแห่งที่ยังสามารถรักษาความสำเร็จของตนเองไว้ได้จะต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา เสมือนเป็นโรคประสาทที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง เป็นพวกที่ไม่เคยพอใจในความสำเร็จที่มีอยู่ หรือบางทีอาจจะเรียกได้ว่าเป็นพารานอยด์แบบอ่อนๆ ก็ได้นะครับ

            สุดท้ายดูไปดูมาแนวคิดของฝรั่งก็กลับมาที่แนวคิดของพระพุทธศาสนาและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้นแหละครับ และเชื่อว่าถ้าเรายึดในหลักคิดทั้งสองประการนี้ได้ เราก็ยากที่จะล้มครับ และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนและมีความสุข