8 April 2009

ช่วงนี้ก็ใกล้สิ้นเดือนสี่แล้วนะครับ พอขึ้นเดือนห้า เดือนหก หลายๆ องค์กรก็จะเริ่มกระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์สำหรับปีหน้ากันอีกรอบหนึ่งแล้ว (เหมือนกับเพิ่งทำของปีนี้ไปเมื่อไม่นานมานี้เอง) ซึ่งในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ของปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ องค์กรหลังจากเริ่มต้นวางแผนกลยุทธ์กันในช่วงกลางปี 2551 พอปัญหาเศรษฐกิจเริ่มลุกลามในช่วงปลาย ปี หลายๆ องค์กรก็ต้องหันกลับมาแก้ไขเป้าหมาย ตัวเลข รวมทั้งแผนกันอีกครั้งในช่วงสิ้นปี 2551 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดีสำหรับการวางแผนกลยุทธ์สำหรับปี 2552 ที่หลายๆ องค์กรใกล้จะเริ่มกันนั้น เมื่อเรารู้และตระหนักถึงภาวะเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่แน่นอนเช่นในปัจจุบัน ผมก็เลยขอเสนอ ข้อเสนอแนะสำหรับองค์กรต่างๆ ที่จะทำให้กระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์ในรอบนี้เป็นไป อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ

            โดยปกติเวลาเราวางแผนกลยุทธ์สำหรับปีหน้า เราก็มักจะมองภาพไปในอนาคตว่าในปีหน้านั้น สภาวะในด้านต่างๆ จะเป็นอย่างไรบ้าง? แต่ผมเชื่อว่าด้วยความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและการเมืองเช่นในปัจจุบัน คงไม่มีใครกล้าฟันธงลงไปให้ชัดว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะเป็นอย่างไร ดังนั้นในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ องค์กรธุรกิจต่างๆ จึงควรหันมาใช้แนวทางในการวางแผนแบบที่เราเรียกว่า Scenario Planning กันให้มากขึ้น Scenario Planning ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเครื่องมือที่องค์กรต่างๆ ในไทย ยังไม่ได้ใช้กันอย่างแพร่หลายเท่าที่ควร และเป็นเครื่องมือ ในการวางแผนกลยุทธ์ที่น่าจะเหมาะสมสำหรับความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า

            เนื่องจาก Scenario Planning เป็นการบังคับให้ผู้บริหารจะต้องวางแผนไว้สำหรับ เหตุการณ์หรือความเป็นไปได้ต่างๆ ที่หลากหลายรูปแบบ ทำให้ผู้บริหารได้มีโอกาสคิดอย่างถี่ถ้วน ว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมานั้น องค์กรตนเองควรจะมีแผนที่รองรับไว้ได้อย่างไร โดยในการทำ Scenario Planning นั้นก็ไม่จำเป็นต้องมีสามทางเลือกแบบที่หลายๆ ท่านคุ้นกันมานะครับ (Best Case, Most Likely, Worst Case)

            นอกจากเรื่องของการนำ Scenario Planning มาใช้ในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์แล้ว อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าจะนำมาปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบันคือเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์หรือ Strategic Risks ครับ โดยองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่จะมีการนำเรื่องของการบริหารความเสี่ยงมาใช้กันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่แทนที่จะมองความเสี่ยงในการดำเนินงานทั่วๆ ไป ก็ขอให้หันมาพิจารณาความเสี่ยงทางด้านกลยุทธ์กันเพิ่มมากขึ้นครับ

            โดยองค์กรธุรกิจสามารถนำเรื่องของความเสี่ยงทางกลยุทธ์มาใช้ได้ทั้งในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ และกระบวนการติดตามการดำเนินงานตามกลยุทธ์ครับ โดยในการวางแผนกลยุทธ์นั้น องค์กรอาจจะเริ่มจากการวิเคราะห์ความเสี่ยงต่างๆ ที่องค์กรเผชิญอยู่ในปัจจุบัน โดยเป็นความเสี่ยงที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของกลยุทธ์องค์กร และเมื่อได้ความเสี่ยงต่างๆ ที่สำคัญมาแล้ว กลยุทธ์หรือแผนที่องค์กรวางก็ควรจะสามารถตอบสนองต่อความเสี่ยงที่ได้วิเคราะห์ไว้

            นอกจากนี้เมื่อองค์กรเริ่มดำเนินงานตามกลยุทธ์ไปได้ระยะหนึ่งแล้ว องค์กรก็ควรที่จะมีกระบวนการในการติดตามความเสี่ยงทางกลยุทธ์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ใช่ปีหนึ่งทำทีหนึ่งแบบที่หลายๆ แห่งชอบเป็นกัน โดยการติดตามนั้นคือการติดตามการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลโลยี ฯลฯ แล้วพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ เหล่านั้นจะส่งผลกระทบต่อกลยุทธ์ที่องค์กรวางไว้หรือไม่ สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นก็คือกลยุทธ์ที่องค์กรได้วางไว้ช่วงกลางถึงปลายปีนี้ พอเริ่มนำไปปฏิบัติจริงในปีหน้า อาจจะล้าสมัยเพราะการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็เป็นได้ครับ ดังนั้นองค์กรจึงควรที่จะมีกระบวนการในการติดตามความเสี่ยงและการเตือนภัยอย่างต่อเนื่อง

            ข้อเสนอแนะสุดท้ายคือการวางแผนกลยุทธ์นั้น ควรจะต้องคำนึงไปในระยะยาวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว ไม่ใช่คิดกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันเพียงอย่างเดียว โดยเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวต่อองค์กร ดังนั้นองค์กรควรที่จะมองทั้งการแก้ไขวิกฤตในระยะสั้น และโอกาสในการเติบโตในระยะยาวด้วย ไม่ใช่ว่าแก้ไขปัญหาในระยะสั้นได้แล้ว แต่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว กลับเป็นการปิดโอกาสที่จะเติบโตต่อไปในระยะยาว

            ก็ขอฝากข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ สำหรับท่านผู้บริหารขององค์กรต่างๆ นะครับ ถึงแม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่กระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์ก็ยังคงต้องมีอยู่ และในการวางแผนกลยุทธ์สำหรับปีหน้านั้น ก็อย่าลืมพิจารณาเรื่องของ Scenario Planning การคำนึงถึงความเสี่ยงทางกลยุทธ์ และการมองไปในระยะยาวด้วยนะครับ