29 January 2009

แนวคิดเรื่องของการพัฒนาผู้ประกอบการ หรือ Entrepreneurship นั้น เป็นสิ่งที่พูดและ สอนกันมานานแล้ว และปัจจุบันแนวคิดดังกล่าวก็มีการแตกขยายไปในด้านต่างๆ อีกไม่ว่าจะเป็น การเป็นผู้ประกอบการภายในองค์กร หรือ Corporate Entrepreneur ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพ และความสามารถของบุคลากรภายในองค์กรให้สามารถคิดและแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ภายใน องค์กรเสมือนกับตนเองเป็นผู้ประกอบการจริงๆ และเรื่องของผู้ประกอบการเพื่อสังคม หรือ Social Entrepreneurship ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมจะมาเล่าสู่กันฟังในสัปดาห์นี้ครับ

            ข้อมูลและแนวคิดต่างๆ ที่จะนำเสนอในวันนี้ผมได้มาจาก Prof. Jill Kickul จาก Stern Business School ของ NYU ที่ได้มาเป็น Visiting Scholar อยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดย Jill เองถือเป็นผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติ ด้าน Social Entrepreneurship คนหนึ่ง โดย Jill เองได้เดินทางมาถ่ายทอด และกระตุ้นความสนใจในเรื่องของ Social Entrepreneurship ให้กับคณาจารย์ที่จุฬาฯ รวมทั้งการร่วมทำวิจัยในด้านนี้กับคณาจารย์ที่คณะ

            ก่อนจะเข้าเรื่องของ Social Entrepreneur เรามาลองดูคำอีกคำหนึ่งก่อนนะครับ นั้นคือ Social Enterprise ที่ในช่วงหลังจะเริ่มได้ยินกันมากขึ้น ตอนแรกๆ ผมก็นึกว่า Social Enterprise จะหมายถึงองค์กรเพื่อสังคม หรือ องค์กรที่ไม่แสวงหากำไรต่างๆ แต่จริงๆ แล้ว Social Enterprise นั้นไม่ได้จำกัดความอยู่แค่องค์กรสาธารณกุศลเท่านั้นครับ แต่ยังครอบคลุมถึงองค์กรที่ต้องก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกทั้งต่อสังคมและเศรษฐกิจ เรียกได้ว่าองค์กรที่เป็น Social Enterprise จริงๆ จะต้องก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงบวกต่อทั้งระบบเลย ไม่ใช่แค่ทางด้านสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเป็นผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจด้วย

            ถ้าจะดูต่อว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมหรือ Social Entrepreneur คือใคร? ก็ต้องเริ่มจากแรงจูงใจเลยครับว่า ผู้ประกอบการหรือธุรกิจดังกล่าวตั้งขึ้นมาหรือดำรงอยู่เพื่อสิ่งใด ผู้ประกอบการเพื่อสังคมที่แท้จริงนั้นจะเริ่มต้นทำธุรกิจหรือกิจกรรมใดก็ตามเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาให้กับสังคม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ใช่องค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไร เรียกได้ว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นอยู่ระหว่างกลางระหว่างองค์กรสาธารณกุศล กับ องค์กรธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไรเป็นหลัก

            นอกจากเรื่องของแรงจูงใจแล้ว ผู้ประกอบการเพื่อสังคมยังจะต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมเพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญนั้น จะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนแปลงในตัวรูปแบบของการทำธุรกิจ หรือ Business Model Innovation เนื่องจากผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้น จะต้องแสวงหารูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ที่เหมาะสมที่จะทั้งสามารถแก้ไขปัญหาสังคม และในขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดผลตอบแทนที่เหมาะสม เรียกได้ว่าผู้ประกอบการเพื่อสังคมนั้นมุ่งเน้น Double Bottom Line ซึ่งได้แก่ผลประกอบการด้านการเงิน และผลกระทบทางด้านสังคม

            มีคำกล่าวของ Bill Drayton ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกเรื่องของ Social Entrepreneurship ไว้ว่าผู้ที่เป็น Social Entrepreneur นั้น ไม่ใช่เพียงแค่ให้ปลาผู้อื่นรับทาน หรือ สอนให้ผู้อื่นตกปลาเท่านั้น แต่บุคคลเหล่านี้จะไม่ยอมหยุดพัก จนกระทั่งสามารถเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมตกปลา แสดงให้เห็นว่าผู้ที่เป็น Social Entrepreneur นั้นเป็นกลุ่มคนที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างแท้จริง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ลืมในเรื่องของผลตอบแทนทางธุรกิจของตนเองด้วยเช่นกันครับ

            ถ้าท่านผู้อ่านนึกภาพของ Social Entrepreneur ไม่ออก ขอให้นึกถึง Muhammad Yunus และ Grameen Bank ของเขาที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในฐานะที่สร้างธุรกิจที่ต้องการ ช่วยเหลือชาวบังคลาเทศ ให้มีโอกาสในการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น โดยในขณะเดียวกันธุรกิจของเขาก็มีการเติบโตและมีกำไรพอสมควร

            ถ้าท่านผู้อ่านอยากจะเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมหรือ Social Entrepreneur นั้นก็ควรเริ่มจากการพิจารณาปัญหาและโอกาสที่สังคมเผชิญอยู่ โดยอาจจะถามตนเองเวลา อะไรคือปัญหาหรือโอกาสที่ท่านผู้อ่านตั้งใจจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาหรือให้ความช่วยเหลือ และถ้าท่านสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้แล้วโลกใบนี้หรือสังคมจะดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะสังเกตได้ว่าจุดเริ่มต้นของ Social Entrepreneur คือเรื่องของปัญหาทางสังคม และเมื่อระบุปัญหาหรือโอกาสทางสังคมได้แล้ว ท่านค่อยคิดถึงวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ในด้านต่างๆ ต่อไป

            ดังนั้นหลายๆ องค์กรที่ทำเรื่องของ CSR หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และบอกว่าเป็น Social Entrepreneur นั้นต้องกลับไปถามตนเองก่อนนะครับว่าแรงจูงใจในการดำเนินธุรกิจของท่านนั้นคือเพื่ออะไร จุดเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจคืออะไร? ใช่เพื่อสังคมหรือเพื่อกระเป๋าของตนเอง ถ้าเป็น Social Entrepreneur ที่แท้จริงนั้น ควรจะต้องเริ่มที่การแก้ไขปัญหาให้กับสังคมเป็นแรงจูงใจแรกเริ่มครับ