
21 January 2009
ชัยชนะของโอบามาในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐนั้น นอกเหนือจะเป็นประวัติศาสตร์ในหลายๆ ด้านอย่างที่เราทราบกันแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามองก็คือการเปิดมิติใหม่ทางการเมืองที่โอบามาได้เริ่มไว้ และในไม่ช้านักการเมืองหลายๆ ท่านก็คงจะลอกเลียนแบบตาม นั้นคือการเปลี่ยนนิยามของการเมืองเสียใหม่จากการเมืองแบบเดิมๆ เป็นการเมืองคือการตลาด ถ้าท่านผู้อ่านติดตามและวิเคราะห์ข่าวสารเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ จะพบว่าโอบามาและทีมงานของเขานั้นถือว่าเป็นนักการตลาดชั้นยอดครับ
เริ่มจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่โอบามาเจาะที่เป็นกลุ่มคนอายุ 18-29 ตลอดจนการสร้าง แบรนด์ทางหรือตราสินค้าทางการเมืองที่ชื่อโอบามาขึ้นมา เซียนการตลาดมีความคิดเห็นว่าโอบามานั้นเป็นบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการสร้างแบรนด์ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ เนื่องจากโอบามาประกอบด้วยทั้งเรื่องของความใหม่ ความแตกต่าง และความน่าดึงดูด (New, Different, Attractive) ซึ่งถือเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้องการ สำหรับแบรนด์ที่จะประสบความสำเร็จ
เมื่อกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจน และโอบามาก็เป็นแบรนด์ที่มีศักยภาพสูงที่จะประสบความสำเร็จ ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการสื่อสารให้ลูกค้ารับรู้ ติดใจ ติดตาม และลงคะแนนให้กับแบรนด์โอบามา ซึ่งช่องทางสำคัญสำหรับลูกค้ากลุ่มอายุ 18-29 สำหรับโอบามาก็หนีไม่พ้นทางเน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือ Social Networking
ได้เคยมีการสัมภาษณ์ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีของพรรคเดโมเครตว่า อะไรคือสิ่งที่ไม่เคยลืมเวลาออกจากบ้าน ท่านผู้อ่านลองเดาดูซิครับว่าฮิลลารี ฮิลตัน กับโอบามาจะตอบว่าอย่างไร และท่านผู้อ่านเองจะตอบว่าอะไร? ฮิลตันนั้นตอบว่าเธอไม่เคยลืมเครื่อง Blackberry (โทรศัพท์แบบ PDA ที่เป็นที่นิยมในสหรัฐ และเป็นนิยมในการรับส่งเมล) ซึ่งก็มีการวิเคราะห์กันว่าสิ่งที่ฮิลตัน เลือกนั้นแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนที่มีประสิทธิภาพ เป็นภาพของนักธุรกิจที่จะต้องอยู่กับการสื่อสารอยู่ตลอดเวลา แต่ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าฮิลตันจะอยู่ในยุคของ Web 1.0 ที่เป็นการนำเสนอข้อมูลในด้านเดียวมากกว่า
ในขณะเดียวกันโอบามาตอบว่าสิ่งที่ไม่เคยลืมเวลาออกจากบ้านนั้นได้แก่กล้องเว็บแคม (Web Cam) ครับ เนื่องจากโอบามาใช้เว็บแคม เป็นเครื่องมือสำคัญในการพูดคุยกับภรรยาและลูกสาวเมื่อต้องออกหาเสียงตามพื้นที่ต่างๆ ท่านผู้อ่านลองเดาดูซิครับว่าระหว่าง Blackberry กับ Web Cam นั้นอะไรที่จะโดนใจวัยโจ๋มากกว่ากัน?
นอกจากนี้โอบามายังได้ดึงตัว Chris Hughes ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บ Facebook.com ซึ่งเป็นผู้นำในด้านของ Social Networking ของโลกในปัจจุบันมาอยู่ในทีมหาเสียงของเขาด้วย โดย Hughes เองไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเรื่องของการเขียนเว็บ แต่เป็นผู้ที่เข้าใจในเรื่องของการส้รางความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในยุคโลกไร้พรหมแดน เว็บของโอบามา ไม่ว่าจะเป็น barackobama.com หรือ mybarackobama.com เป็นเว็บที่มีสีสันอยู่ตลอดเวลา มีการทำให้ข้อมูลทันสมัยอยู่ตลอดเวลา มีทั้งรูป วิดีโอ ริงค์โทน ที่มีมาใหม่ๆ ตลอดเพื่อดึงดูดให้ผู้เข้าชมได้กลับมาเยี่ยมชมอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ที่เว็บ mybarackobama.com ที่ผู้เข้าเยี่ยมชมสามารถสร้าง Blog ของตนเอง ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของโอบามา เพื่อให้ประชาชนทั่วๆ ไปได้เข้ามามีส่วนร่วมกับการกำหนดนโยบายของโอบามา
ทางทีมงานของโอบามายังเข้าไปมีส่วนร่วมในพวก Online Community ต่างๆ และก็เป็นการเข้าไปในลักษณะที่ Active มากครับ นั้นคือจะมีการเข้าไป update profile อยู่บ่อยๆ ด้วยครับ บางครั้งถึงขั้นทุกๆ วันด้วยซ้ำ นอกจากนี้ในบางชุมชน เช่น Blackplanet ที่เป็นชุมชนออนไลน์สำหรับชาวผิวสีของสหรัฐที่มีสมาชิกมากที่สุด Profile ของโอบามานั้นสามารถมี “เพื่อน” ได้ถึง 450,000 รายเลยทีเดียวครับ
กลยุทธ์ในการหาเสียงของโอบามานั้นเรียกได้ว่าสามารถกินใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่เขาต้องการจับได้เลยครับ เนื่องจากคนในช่วงอายุ 18-29 นั้น จะใช้ Web 2.0 ในการเป็นช่องทางในการสื่อสาร หาความรู้ แสดงความคิดเห็นต่างๆ โดยเฉพาะพวกชุมชนออนไลน์ต่างๆ ในคนในช่วงอายุนี้จะให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือ ความไว้วางใจต่อแบรนด์ต่างๆ การที่โอบามาใช้ Web 2.0 ให้เป็นประโยชน์นั้น ทำให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้รู้จักตัวตนที่แท้จริงของโอบามามากขึ้น มีความไว้วางใจในตัวโอบามามากขึ้น รวมทั้งทำให้กลุ่มเป้าหมายสามารถแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะทางด้านการเมืองให้กับโอบามาได้อีกด้วย ทำให้คนรุ่นนี้รู้สึกว่าตนเองได้มีส่วนร่วมและตนเองมีความสำคัญมากขึ้น
สิ่งที่โอบามาได้ทำโดยเฉพาะทางด้านการตลาดนั้น ถือว่าเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับนักการเมืองเลยนะครับ และนอกจากนักการเมืองแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าเป้าหมายในช่วงอายุวัยรุ่นนั้นอาจจะเรียนรู้จากประสบการณ์ของโอบามาและนำมาปรับใช้ในการสร้างแบรนด์และการทำ IMC ของตนเองบ้างก็น่าจะได้นะครับ