8 January 2009

IBM บริษัทยักษ์ในวงการคอมพิวเตอร์ได้มีการสำรวจบรรดา CEO จากทวีปต่างๆ ทั่วโลกกว่า 1,000 คนทั้งจากภาคธุรกิจและภาคราชการ โดยไม่ใช่แค่การส่งแบบสอบถามแล้วให้บรรดา CEO ตอบมาเหมือนของสถาบันอื่นๆ แต่จะเป็นการสัมภาษณ์ CEO เหล่านั้น นอกจากนี้เขายังได้มีการจำแนกระหว่างบริษัทที่มีผลการดำเนินงานทางด้านการเงินที่ดี กับบริษัทที่มีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีเท่า โดยโจทย์หรือคำถามหลักของทาง IBM ที่อยากจะทราบจากบรรดา CEO กว่าพันคนก็คือองค์กรในอนาคต หรือ Enterprise of the Future จะมีลักษณะอย่างไร เราลองมาดูผลการศึกษาของ IBM กันนะครับ

            ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนนะครับว่าบรรดา CEO ทั้งหลายมองว่าความท้าทายที่องค์กรต่างๆ ต้องเผชิญนั้นประกอบด้วยอะไรบ้าง ความท้าทายประการแรกคือเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่ต้องเผชิญอยู่ตลอดเวลาและอย่างต่อเนื่อง และในขณะเดียวกันบรรดา CEO ต่างๆ ก็ยอมรับว่ามีความยากลำบากในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ความท้าทายประการที่สองก็คือลูกค้ามีความต้องการและมีข้อเรียกร้องในเรื่องต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากลูกค้าในปัจจุบันได้มีโอกาสรับทราบข้อมูล ความรู้ต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ดี CEO ต่างๆ ก็มีความคิดว่าการที่ลูกค้ามีความต้อง การและข้อเรียกร้องต่างๆ มากขึ้นนั้นถือเป็นโอกาสสำหรับองค์กรในการสร้างความแตกต่าง มากกว่าเป็นข้อจำกัดในการดำเนินงาน

            ความท้าทายประการถัดมาคือการปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจใหม่ โดยมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในรูปแบบธุรกิจหรือที่เราพอจะคุ้นเคยกันในชื่อของ Business Model Innovation ครับ โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบของธุรกิจนั้น CEO ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในด้านต่างๆ มากขึ้น (Collaborative) ทีนี้เมื่อเราทราบถึงความท้าทายต่างๆ ที่บรรดา CEO จะต้องเผชิญแล้ว ลองมาดูกันนะครับว่า โดยรวมแล้ว CEO เหล่านี้ จะมีความเห็นว่าองค์กรแห่งอนาคตนั้นควรจะมีลักษณะหรือรูปแบบ อย่างไร

            องค์กรแห่งอนาคตนั้นควรจะมีความกระหายต่อการเปลี่ยนแปลง หรือ Hungry for Change โดยองค์กรแห่งอนาคตนั้น ต้องมีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างประสบผลสำเร็จ โดยแทนที่จะคอยตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น องค์กรแห่งอนาคต ควรที่จะเป็นผู้กำหนดแนวโน้มและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นแทน การเปลี่ยนแปลงในตลาดและอุตสาหกรรมจะเป็นโอกาสสำหรับองค์กรในอนาคตในการก้าวล้ำนำหน้าคู่แข่งขัน

            องค์กรแห่งอนาคตนั้น ควรจะมีการนวัตกรรมให้เหนือกว่าจินตนาการหรือความคาดหวังของลูกค้า หรือ Innovative Beyond Customer Imagination โดยองค์กรแห่งอนาคต จะต้องสามารถก้าวล้ำเหนือกว่าอุปสงค์หรือความต้องการของลูกค้าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การที่องค์กรแห่งอนาคตมีการสร้างความสัมพันธ์และร่วมมืออย่างลึกซึ้งกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ไม่ว่ากับลูกค้า Suppliers หรือแม้กระทั่งคู่แข่งขัน จะเป็นปัจจัยสำคัญในการกระตุ้นให้องค์กรแห่งอนาคตสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ทำให้ลูกค้าแปลกใจและคาดไม่ถึง

            องค์กรแห่งอนาคตนั้น จะต้องเกาะกุมโอกาสและประโยชน์จากภาวะโลกาภิวัฒน์ กลยุทธ์ขององค์กรในอนาคตจะต้องได้รับการออกแบบมาให้สามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถ ศักยภาพ ทรัพยากร ความรู้ต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วโลก และสามารถนำทรัพยากร ความสามารถ ทรัพยากร และความรู้ต่างๆ นั้นมาใช้เป็นประโยชน์ให้กับองค์กรของตนเองได้

            องค์กรแห่งอนาคตนั้น จะต้องมีการท้าทายและคอยปรับเปลี่ยนตัวแบบธุรกิจหรือ Business Model อยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบธุรกิจหรือวิธีการแข่งขันในอุตสาหกรรม องค์กรแห่งอนาคตจะมีการปรับเปลี่ยนคุณค่าหรือ Value Proposition อย่างต่อเนื่อง จะมีการปรับเปลี่ยนตนเองอยู่ตลอดเมื่อมีโอกาสเกิดขึ้น

            องค์กรแห่งอนาคตนั้น จะไม่ได้มุ่งเน้นแต่การบริจาคเงิน หรือ การทำตามกฎระเบียบ ต่างๆ เพียงเพื่อให้ได้ภาพลักษณ์ที่ดี แต่ความดีหรือการคำนึงถึงส่วนรวมนั้นจะแสดงออกมาในทุกการกระทำขององค์กร ไม่ใช่เพียงแค่กิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อสร้างภาพลักษณ์หรือลงข่าวในหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว

            ท่านผู้อ่านจะสังเกตได้นะครับว่าองค์กรแห่งอนาคตในสายตาของบรรดา CEO ต่างๆ นั้นก็ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาที่แปลกพิสดารไปจากองค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และลักษณะต่างๆ ขององค์กรแห่งอนาคตนั้น ดูเหมือนว่าจะเป็นการเสริมต่อหรือต่อยอดจากองค์กรที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทั้งสิ้น