
15 January 2009
ในช่วงวิกฤตหรือเศรษฐกิจขาลงเช่นในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านจะพบว่าบรรดานักวิชาการ นักธุรกิจ หรือ ผู้รู้ในด้านต่างๆ ก็ต่างพยายามออกมาให้ข้อเสนอแนะหรือคำแนะนำในด้านต่างๆ ที่ตนเองถนัด ในช่วงวิกฤตแบบนี้เลยกลายเป็นโอกาสสำหรับบรรดานักวิชาการต่างๆ ในการแสดงความรู้ ความสามารถ ความคิดเห็นของตนเองออกมา จริงๆ ถ้ามองอีกมุมหนึ่งอาจจะบอกได้นะครับว่าวิกฤตครั้งนี้ ทุกๆ คนมีการเตรียมพร้อมและเตรียมตัวล่วงหน้าไว้พอสมควร มีคำแนะนำดีๆ จากบรรดาผู้รู้ออกมากันมากมาย ดังนั้นในสัปดาห์นี้ผมเลยขอรวบรวมข้อแนะนำของผู้รู้ต่างๆ ที่ทาง Harvard Business Review เขาได้สอบถามไว้ เผื่อจะเป็นกับประโยชน์กับท่านผู้อ่านบ้างนะครับ
คำแนะนำแรกมาจาก Stewart Friedman ซึ่งเป็นศาสตราจารย์อยู่ที่ Wharton โดย Freidman ได้ให้คำแนะนำไว้ว่าองค์กรส่วนใหญ่มักจะรีดเร้นผลผลิตจากพนักงานแต่ละคนมากขึ้น เพื่อให้บริษัทได้ผลผลิตอย่างคุ้มค่าที่สุด ซึ่ง Friedman บอกว่าไม่ใช่วิธีที่ดี เนื่องจากจะยิ่งทำให้พนักงานเกิดอาการเครียด ต่อต้าน และหมดแรงเอาได้ง่ายๆ วิธีที่อาจารย์คนนี้เขาแนะนำคือให้เปิดอกพูดคุยกับพนักงานอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งยังเชิญชวนให้พนักงานได้เข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยการให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการคิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ผู้บริหารก็ไม่ควรที่จะหวังว่าจะทำให้พลิกฟื้นองค์กรได้ เนื่องจากมันอาจจะเป็นเพียงแค่การพัฒนาหรือปรับปรุงเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าทำให้การทำงานดีขึ้น พนักงานเองก็จะมีกำลังใจมากขึ้น และความเครียดลดลง
คำแนะนำที่สองมาจาก BV Krishnamurthy ซึ่งเป็นศาสตราจารย์และผู้บริหารของ Alliance Business Academy ในประเทศอินเดีย โดยภาวะวิกฤตแบบนี้ องค์กรควรจะหันมาลงทุนในการพัฒนาบุคลากรให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งทักษะในเรื่องของการทำงานร่วมกันเป็นทีม และเป้าหมายหลักของการพัฒนาเรื่องการทำงานเป็นทีมในช่วงนี้คือพวกศิลปินเดี่ยวที่มีความรู้ ความสามารถดี แต่ทำงานร่วมกับผู้อื่นหรือทำงานเป็นทีมไม่ค่อยเป็น การนำเอาพวกศิลปินเดี่ยวเหล่านี้มาพัฒนาการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้อื่น จะทำให้คนเหล่านี้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจพลิกฟื้น องค์กรจะได้ประโยชน์สูงสุด
คำแนะนำที่สามมาจาก Tamara Erickson ซึ่งเป็นประธานของ nGenera Innovation Network โดย Erickson มองว่าโดยสัญชาติญาณแล้ว เมื่อบริษัทประสบกับวิกฤตหรือปัญหาขึ้น ผู้บริหารมักจะดึงอำนาจและการตัดสินใจกลับมาอยู่ที่ตัวเอง เหมือนพวกนักกีฬาเก่งๆ ที่พอทีมกำลังแพ้และกำลังหมดเวลาการแข่งขัน นักกีฬาเหล่านี้ก็ต้องการลูกบอลมาอยู่กับตัวเอง ผู้บริหารในภาวะวิกฤตก็มักจะชอบทำอะไรงุบงิบที่รู้กันอยู่เพียงไม่กี่คน และคิดว่าตนเองคือผู้ที่จะสามารถพาองค์กรฟันฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นได้ แต่จริงๆ แล้วในอีกมุมมองหนึ่งผู้บริหารควรจะใช้ประโยชน์จากไอเดียและความคิดที่หลากหลายของสมาชิกในองค์กร หรือ ที่เรียกว่า Wisdom of Crowds โดยควรจะนำความ คิดและความกระตือรือร้นจากทั่วทั้งองค์กรมาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
คำแนะนำข้อที่สี่มาจาก Jeffrey Stibel ซึ่งเป็นประธานของ Web.com โดยคำแนะนำของ Stibel คือในช่วงวิกฤตนั้นองค์กรต่างๆ มักจะพยายามลดราคาสินค้าและบริการตนเองเพื่อกระตุ้น ให้ลูกค้าจับจ่าย ใช้สอยมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วย่อมจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้น อย่างไรก็ดีการลดราคาในช่วงวิกฤตก็มีข้อควรระวังอยู่เช่นกันครับ เนื่องจากราคาของสินค้าหรือบริการ จะเป็นตัวบ่งบอกถึงคุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้าหรือบริการดังกล่าว ยิ่งลูกค้าซื้อของแพงเท่าใด คุณค่าที่จะได้รับจากสินค้าหรือบริการดังกล่าว ก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น อย่างไรก็ดีคำว่าคุณค่าในที่นี้เป็นคุณค่าที่รับรู้หรือ Perceived Value นะครับ อาจจะไม่ใช่คุณค่าจริงๆ ที่ได้รับ ดังนั้นการลดราคาเพื่อกระตุ้น ยอดขาย อาจจะทำให้ลูกค้าเริ่มตั้งข้อสงสัยหรือคำถามกับคุณค่าที่ตนเองคิดว่าจะได้รับครับ ดังนั้นถ้าจะลดราคาเพื่อกระตุ้นยอดขายแล้ว นักการตลาดอาจจะต้องคิดดีๆ นะครับ ว่าจะทำให้ภาพลักษณ์หรือคุณค่าของแบรนด์ลดลงหรือไม่
คำแนะนำข้อสุดท้ายมาจาก Rosabeth Moss Kanter ศาสตราจารย์ชื่อดังจาก Harvard Business School โดย Moss Kanter มีคำแนะนำอยู่สี่เรื่อง ได้แก่ ในขณะที่คนอื่นกำลังหยุดนิ่งอยู่กับ ที่ บริษัทควรจะเคลื่อนไหว เนื่องจากในภาวะที่ทุกคนกำลังละล้าละลัง หยุดนิ่ง ไม่ทำสิ่งใด องค์กรควรจะรีบเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์เพื่อเกาะกุมโอกาสที่เกิดขึ้น ข้อที่สองคือพยายามกระตุ้นให้เกิดความคิดหรือไอเดียใหม่ๆ ในการพัฒนา ปรับปรุงองค์กร โดยผู้บริหารสูงสุดอาจจะเริ่มต้นที่แนวคิดหลัก หรือ Grand Concept ไว้ก่อน จากนั้นเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากในช่วงวิกฤตนั้น ทุกแห่งมุ่งเน้นหาสิ่งที่มีต้นทุนต่ำ และไอเดียหรือความคิดใหม่ๆ นั้นอาจจะเรียกได้ว่ามีต้นทุนต่ำที่สุดครับ
ข้อที่สามคือพยายามกำจัดหรือลดในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นหน่วยธุรกิจหรือสินค้าหรือบริการบางตัวที่ในอดีตอาจจะมีประโยชน์ เป็นตัวทำเงิน แต่พอเวลาผ่านพ้นไปสิ่งที่เคยมีประโยชน์อาจจะไม่มีประโยชน์อีกต่อไปก็ได้ครับ เหมือนกับการรื้อบ้านและกำจัดของที่ไม่มีประโยชน์นั้นแหละครับ และข้อแนะนำสุดท้ายคือให้มุ่งเน้นการช่วยเหลือลูกค้าให้อยู่รอดและประสบความสำเร็จให้ได้ เนื่องจากบริษัทจะต้องอยู่ได้ด้วยลูกค้า แต่ถ้าลูกค้าอยู่ไม่รอด บริษัทเองก็ไม่รอด ดังนั้นในช่วงเวลาแบบนี้บริษัทต้องหาทุกวิถีทางในการช่วยให้ลูกค้าอยู่รอดและประสบความสำเร็จครับ อาจจะสร้างทัศนคติให้พนักงานคำนึงถึงความอยู่รอดของลูกค้ามากกว่าความอยู่รอดของตนเองก็ได้นะครับ