19 February 2009

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอถึงแนวทางในการพัฒนาผู้บริหารของ GE ที่เป็นหลักสูตรที่เรียกว่า LIG ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นและพัฒนาผู้บริหารของ GE ให้มีความคิดและมุ่งมั่นในเรื่อง ของนวัตกรรมและการเติบโต หรือ Innovation and Growth ซึ่งเป็นกลยุทธ์หลักที่ Jeff Immelt ผู้บริหารสูงสุดของ GE ได้ประกาศและมุ่งเน้นไว้ตั้งแต่ที่เขาเข้ามารับตำแหน่ง ดังนั้นในสัปดาห์นี้ เลยขอย้อนกลับไปถึงกลยุทธ์เรื่องของนวัตกรรมและการเติบโตที่ Immelt ได้ประกาศไว้ตั้งแต่ตอน มารับตำแหน่งหน่อยนะครับ เผื่อจะเป็นแนวทางและกรณีศึกษาสำหรับสำหรับท่านผู้อ่านได้

            สาเหตุที่ผมมองว่ากรณีศึกษาของ GE สามารถเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจในปัจจุบันก็เนื่องจากตอนที่ Immelt เข้ามารับตำแหน่งนั้น เขารับตำแหน่งจาก Jack Welch ได้เพียงสี่วันก็เกิด เหตุการณ์ 9 กันยายน ขึ้น ซึ่งหลังจากนั้นก็นำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ประกอบกับในช่วงดังกล่าวก็มีกรณีของ Enron เกิดขึ้น ทำให้องค์กรใหญ่ของอเมริกาในขณะนั้นได้รับการตรวจ สอบอย่างเข้มข้น โดยที่ GE เองก็โดนเหมือนกันและจากข้อมูลต่างๆ ก็ทำให้ความน่าเชื่อถือของ GE ลดน้อยลง และสำคัญสุดก็คือ Immelt เข้ามาทดแทนตำแหน่งของ Jack Welch ซึ่งอาจจะถือเป็น ตำนานบทหนึ่งในการบริหารองค์กรสมัยใหม่เลย

            ดังนั้นความท้าทายที่ Immelt เผชิญอยู่ในขณะนั้นผมว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและศึกษาครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ Immelt เข้ามาแล้ว เขาได้นำเสนอกลยุทธ์ใหม่สำหรับ GE โดยเขามองว่า กลยุทธ์หรือวิธีการเดิมๆ ที่ทำให้ GE ประสบความสำเร็จได้นั้น จะไม่ช่วยให้ GE สามารถประสบความสำเร็จและเติบโตได้ต่อไปในอนาคต ในอดีต GE เป็นบริษัทที่เติบโตมาจากการเข้าไปซื้อกิจการอื่นๆ รวมทั้งเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ หรือ Productivity ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ GE เป็นต้นแบบของ Six Sigma ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่พอ Immelt เข้ารับตำแหน่งปุ๊บก็ประกาศเป้าหมายการทำงานของเขาไว้อย่างชัดเจนเลยว่าต้องการเห็น GE มีการเติบโตที่เป็นเลขสองหลัก ซึ่งถ้าเป็นบริษัทเล็กๆ ก็คงไม่ยากหรอกนะครับ แต่สำหรับยักษ์ใหญ่ อย่าง GE นั้นจะทำได้อย่างไร?

            เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานที่วางไว้ Immelt ประกาศกลยุทธ์เรื่องของนวัตกรรมและการเติบโต ให้เป็นหัวใจที่สำคัญของ GE และการประกาศใช้กลยุทธ์ของ GE นั้นก็ไม่ใช่แค่ประกาศไปเฉยๆ เพื่อให้บริษัทมีภาพลักษณ์ที่ดีเหมือนที่หลายๆ บริษัทชอบทำกัน แต่ GE ได้สร้างและพัฒนาแนวทางต่างๆ เพื่อรองรับกลยุทธ์เรื่องของนวัตกรรมและการเติบโตไว้อย่าง ครบวงจรเลยทีเดียวครับ เริ่มจากการกำหนดให้ชัดเจนเลยว่าการเติบโตของ GE นั้น จะเติบโตอยู่บน พื้นฐานที่สำคัญห้าประการนั้นคือ การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี การเติบโตในธุรกิจบริการ การเป็นเลิศทางด้านการตลาด (เนื่องจากในอดีตนั้น GE เป็นบริษัทที่เน้นและเป็นเลิศในด้านของวิศวกรรม) การเติบโตในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา และสุดท้ายคือการแสวงหาฐานหรือธุรกิจใหม่ๆ สำหรับการเติบโต (Growth Platforms)

            ถึงแม้ในช่วงดังกล่าวจะถือเป็นช่วงขาลงสั้นๆ ของสหรัฐอเมริกา แต่ GE ก็ยังมีการลงทุน และแสวงหาโอกาสใหม่ๆ สำหรับการเติบโตต่อไปในอนาคต โดยสิ่งที่ผู้บริหารทำก็คือการหา ธุรกิจหรือ Segments ที่จะเป็นพื้นฐานที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมและการเติบโต GE อาศัยจังหวะช่วงนั้นในการเข้าไปซื้อธุรกิจที่มีโอกาสและแนวโน้มที่จะเป็นฐานสำคัญสำหรับการเติบโต  รวมทั้งการเพิ่มงบประมาณในด้านการวิจัยและพัฒนา และปรับเปลี่ยนแนวคิดของบรรดานักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรของ GE โดยให้มีการทำงานร่วมกับนักการตลาดมากขึ้นกว่าในอดีต

            นอกจากนี้ Immelt ยังประกาศไว้อย่างชัดเจนอีกนะครับว่าการเติบโตของ GE นั้นจะให้ความสำคัญกับการเติบโตจากภายในหรือ Organic Growth เป็นลำดับแรก และการเติบโตจากภายนอก หรือ การเข้าไปซื้อกิจการต่างๆ เป็นทางเลือกในการเติบโตในลำดับที่สอง ซึ่งกลยุทธ์การเติบโตในลักษณะนี้มีความแตกต่างจากในสมัยของ Jack Welch ที่มุ่งเน้นการเติบโตจากภายนอก เป็นหลัก

            Immelt ยังคิดอย่างครบวงจรอีกด้วยครับ นั้นคือนอกเหนือจากการวางกลยุทธ์การเติบโตแล้ว Immelt ยังคิดเผื่อถึงแหล่งหรือการได้มาซึ่งเงินทุนสำหรับการเติบโต โดย Immelt จะมีการขายธุรกิจที่ผลประกอบการไม่ดีออกไป ขณะเดียวกัน Immelt ก็ไม่ได้ทิ้งเรื่องของผลิตภาพและ ประสิทธิภาพที่โดดเด่นของ GE นั้น Immelt ยังคงให้ความสำคัญกับ Six Sigma และการปรับปรุง กระบวนการ เพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด Immelt เองก็ยังนำหลักเรื่องของ Lean Six Sigma มาใช้ที่ GE อีกต่างหาก     

            สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่า เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ GE กำหนดไว้นั้น เขามีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไรบ้าง       ก่อนจากกันขอฝากประชาสัมพันธ์หนังสือชื่อนวัตกรรมเพื่อการแข่งขันที่ยั่งยืนที่รวบรวมข้อเขียนเกี่ยวกับนวัตกรรมของคณาจารย์ภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ไว้นะครับ ถ้าสนใจลองหาดูได้ที่ศูนย์หนังสือจุฬาฯ ครับ