
30 กันยายน 2008
ตามตำราหรือทฤษฎีทางด้านการจัดการต่างๆ การพัฒนาประเทศ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ นั้น จะเกิดขึ้นได้ นั้นจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน อย่างไรก็ดีเมื่อพูดถึงความร่วมมือระหว่างเอกชนและสถาบันการศึกษานั้น ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่วาดฝันไว้ในตำราวิชาการเสียมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย ที่เรายังไม่ค่อยเห็นความร่วมมือในเชิงพันธมิตรร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างองค์กรภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาเท่าใดนัก เท่าที่พบเจอส่วนใหญ่ก็มักจะอยู่ในรูปของผู้ซื้อกับผู้ขาย เช่น การที่องค์กรเอกชนมาจ้างสถาบันการศึกษาให้ทำการค้นคว้า วิจัย ให้คำปรึกษา ในสาขาวิชาที่สถาบันการศึกษามีความถนัด หรือที่มีก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ไม่ได้ยั่งยืนในระยะยาวเท่าใด เช่น ที่ในอดีตผมส่งนิสิต MBA ของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ไปให้คำปรึกษาแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในเรื่องของ Balanced Scorecard และ KPI
เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมาได้มีโอกาสติดตามคณบดีของที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ไปเยี่ยมเยียนและสร้างความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำทางฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา และได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับหน่วยงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อดูแล้วพวกเราต่างมีความเห็นเหมือนกันว่า นี้คือต้นแบบของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจนระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาที่ชัดเจนที่สุด และเป็นความร่วมมือที่ทำให้ทั้งสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนได้รับประโยชน์ที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
หน่วยงานดังกล่าวชื่อ edgelab ครับ โดย edgelab นี้เป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างบริษัท General Electrics ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมของโลก กับ University of Connecticut โดย edgelab ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความเชื่อมโยงที่แน่นแฟ้นระหว่างงานวิจัยเชิงวิชาการ กับปัญหาที่องค์กรธุรกิจพบเจอในโลกธุรกิจจริงๆ edgelab ก่อตั้งขึ้นมาในบริเวณของ University of Connecticut โดยประกอบด้วยโต๊ะทำงาน ห้องประชุม ฯลฯ เหมือนสำนักงานทั่วๆ ไป แต่สิ่งที่แตก ต่างของ edgelab ก็คือบรรดาบริษัทต่างๆ ของ GE จะนำปัญหาหรือประเด็นต่างๆ ที่ตนเองพบเจอเข้ามาที่ edgelab ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำแผนธุรกิจ การใช้ประโยชน์ในเชิงธุรกิจของ เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดที่เพิ่งพัฒนาขึ้น ปัญหาเรื่องของการจัดส่งสินค้าและบริการของบริษัท ฯลฯ จากนั้นทาง edgelab จะรับสมัครนักศึกษาทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทของมหาวิทยาลัย Connecticut เพื่อให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว ของการทำงานของทีม นักศึกษาจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของบรรดาคณาจารย์ที่เกี่ยวข้อง ผู้บริหารของ GE ที่ประจำอยู่ edgelab รวมทั้งเจ้าของปัญหาที่เป็นผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ ของ GE
Edgelab นั้นเกิดขึ้นมาในลักษณะที่เป็นเรื่องเป็นราวเลยครับ โดยทั้ง GE และ มหาวิทยาลัย Connecticut ต่างก็ทุ่มทรัพยากรลงไปที่ edgelab กันพอสมควร โดย GE ส่งเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร เข้ามาประจำอยู่ 3-4 คน รวมทั้งร่วมลงทุนและอนุญาติให้นักศึกษาสามารถเข้าถึงข้อมูลของ GE ได้เสมือนเป็นพนักงานคนหนึ่งของ GE เลย นอกจากนี้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุด หรือ ปัญหาทางธุรกิจที่ GE เผชิญ ก็มีการนำเสนอ เปิดเผย และแลกเปลี่ยนกับบรรดานักศึกษาและคณาจารย์ที่เข้ามาช่วย edgelab อย่างเต็มที่ไม่มีกั๊กใดๆ ทั้งสิ้น ในขณะเดียวกันทางฝั่งมหาวิทยาลัยเองก็ทุ่มให้กับนักศึกษาของตนเองอย่างเต็มที่เช่นเดียวกันครับ โดยนอกเหนือจากให้ใช้พื้นที่ในบริเวณมหาวิทยาลัยแล้ว นักศึกษาที่เข้ามาร่วมโครงการนั้น (ส่วนใหญ่โครงการหนึ่งใช้เวลาหนึ่งภาคการศึกษา) ตัวนักศึกษาก็จะได้รับหน่วยกิตเสมือนลงทะเบียนเรียนปกติด้วย เพียงแต่แทนที่จะลงทะเบียนเรียนในห้องเรียน กลับมาเรียนรู้และร่วมแก้ไขปัญหาจริงๆ ในโลกธุรกิจของ GE
ด้วย model ของ edgelab นั้น เรียกได้ว่าทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมต่างได้ประโยชน์ทั้งนั้นครับ บรรดานักศึกษาที่ได้เข้าร่วมโครงการในแต่ละภาคการศึกษา ก็จะได้เรียนรู้ธุรกิจจากประสบการณ์จริงๆ ครับ ไม่ใช่แค่การทำรายงานและนำเสนอแต่ในห้องเรียน ปัญหาต่างๆ ที่พบเจอ เป็นปัญหาที่พบเจอจริงๆ ในภาคธุรกิจ และบรรดานักศึกษาเหล่านี้ยังได้มีโอกาสนำเสนอและเรียนรู้จากบรรดาผู้บริหารของ GE ที่เข้าร่วมในแต่ละโครงการอย่างใกล้ชิด สำหรับบรรดาคณาจารย์นั้นนอกเหนือ จากโอกาสในการเรียนรู้ เช่นเดียวกับนักศึกษาแล้ว คณาจารย์เหล่านี้ยังสามารถนำสิ่งที่ได้ทดสอบและเรียนรู้จากการเข้าร่วมโครงการไปตีพิมพ์ตามวารสารทางวิชาการต่างๆ นอกจากนี้ edgelab ยังเป็นสนามทดลองของจริงที่คณาจารย์สามารถนำแนวคิดหรือทฤษฎีใหม่ๆ ของตนมาทดสอบ ในสนามธุรกิจจริงๆ ได้อีกด้วย
สำหรับทาง GE ได้นั้น บริษัทก็จะได้ข้อเสนอแนะและแนวทางในการปฏิบัติสำหรับปัญหา ทางธุรกิจที่ตนเองกำลังเผชิญอยู่ และข้อสรุปที่ได้จาก edgelab นั้นก็ได้มีการนำไปปฏิบัติจริงๆ สามารถแก้ไขปัญหาหรือประเด็นที่ทางผู้บริหารของ GE กำลังเผชิญหรือประสบอยู่ได้จริงๆ
นักศึกษาที่เข้าร่วมใน edgelab นั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นนักศึกษาในระดับ MBA ที่ใช้เวลา หนึ่งภาคการศึกษามาใช้ชีวิต กิน นอน และแก้ไขปัญหาธุรกิจที่เกิดขึ้นจริงที่ edgelab ในแต่ละภาคการศึกษาจะมีนักศึกษากว่า 80 คนที่สมัครเข้าร่วม แต่ทาง edgelab ก็จะเลือกไว้แค่ 20 คนที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งในแต่ละภาคการศึกษาก็จะมีโครงการให้ทำภาคการศึกษาละ 4 โครงการ หลายคนที่จบออกไป ก็เข้าทำงานต่อที่ GE หลายคนก็นำเอาประสบการณ์ที่ได้รับ ไปเปิดธุรกิจของตนเอง หรือ ไปทำงานในองค์กรอื่น โครงการส่วนใหญ่ใน edgelab นั้นจะมุ่งเน้นอยู่ในสามด้าน ได้แก่ 1) marketing strategies 2) finance and econometric 3) operational model
ได้ไปดู edgelab ของต่างประเทศแล้วก็นึกอิจฉาความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและ สถาบันการศึกษาของเขาเหมือนกันนะครับ ถ้าภาคเอกชนใดของไทยที่สนใจ model ในลักษณะนี้ ก็ติดต่อเข้ามาได้นะครับ ถึงแม้ตอนนี้ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะมีโครงการในลักษณะที่พอจะคล้ายกันบ้าง แต่เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันกับจังหวัดครับ โดยเราพานิสิต MBA เข้าไปช่วยจังหวัดน่านศึกษาและจัดทำโครงการต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์การค้าชายแดนจังหวัดน่าน ซึ่งทางจังหวัดเขาก็ให้ความร่วมมือในลักษณะเดียวกับ GE ครับ และเมื่อนิสิตทำเสร็จแล้วก็มีการนำเสนอต่อผู้ว่าฯ และทางจังหวัดก็มีการนำไปปรับใช้กันต่อ ซึ่งปีที่แล้วเพิ่งเริ่มเป็นปีแรก ปีนี้จะเป็นปีที่สองครับ เอาไว้ผมจะมานำเสนอให้ทราบต่อไปแล้วกันนะครับ
ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เนื่องจากปีนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจะจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นสองครั้งครับ ครั้งที่สองในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เรื่อง Implanting Innovation into Corporate DNA ซึ่งนอกเหนือจากคณาจารย์จากคณะแล้วยังมีศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จของคณะมาร่วมพูดคุยด้วย อาทิ คุณภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คุณชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย คุณวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และ คุณธนะชัย สันติชัยกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่นมัลติมิเดีย กรุ๊ป ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ