
9 กันยายน 2008
ท่านผู้อ่านลองสังเกตไปรอบๆ ตัวนะครับ แล้วจะพบว่าแนวโน้มหนึ่งที่เริ่มจะพบมากขึ้นในคนทำงานในยุคใหม่คือการเลือกระหว่างอาชีพกับครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรดาคนที่เราเรียกว่า Knowledge Workers ทั้งหลาย จริงอยู่ถ้าเป็นผู้ที่จบการศึกษาใหม่ๆ เพิ่งเริ่มต้นเข้าทำงาน ปรากฎการณ์ดังกล่าวอาจจะพบเจอไม่มาก แต่พอทำงานไปได้ระยะหนึ่ง คนทำงานเริ่มมีครอบครัว หรือ หันมาให้ความสนใจกับชีวิตส่วนตัวมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เป็น Gen X ทั้งหลาย (พวกนี้อายุปัจจุบันอยู่ช่วงประมาณ 40 บวก / ลบ) ก็จะเริ่มถึงทางหลายแพร่งระหว่างการเลือกการ ที่จะเติบโตในวิชาชีพ กับเลือกชีวิตส่วนตัว และชีวิตครอบครัว
มีคำถามที่น่าสนใจว่าเมื่อถึงวัยหรือช่วงจังหวะหนึ่งของชีวิต เราจำเป็นต้องเลือกระหว่างอาชีพกับชีวิตส่วนตัวหรือไม่? เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะโดดเด่นทั้งสองด้าน นั้นคือมีความรุ่งโรจน์ ในหน้าที่การงาน ประสบความสำเร็จ ทั้งในด้านตำแหน่ง สถานะทางสังคม และฐานะทางการเงิน ในขณะเดียวกันก็มีครอบครัวที่อบอุ่น มีเวลาให้กับครอบครัว มีเวลาในการดูแลสุขภาพของตนเอง มีเวลาทำในสิ่งที่ตนเองมีความชื่นชอบ (นอกเหนือจากงาน) ฯลฯ ท่านผู้อ่านลองมองไปรอบๆ ซิครับ เราจะพบคนที่รุ่งโรจน์และโดดเด่นทั้งสองอย่างยากพอสมควรนะครับ
ที่พอจะพบได้ก็คือคุณผู้ชายประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน โดยที่ภรรยาเสียสละออกมาใช้เวลาให้กับครอบครัว แต่เราก็มักจะพบว่าคุณผู้ชายเหล่านี้ก็มักจะกลับบ้านดึกๆ ค่ำๆ เสาร์ อาทิตย์ ก็ต้องออกไปทำงาน ไปสัมมนา ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาอยู่กับครอบครัวเท่าไร ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Ahead of the Curves เขียนโดยนักหนังสือพิมพ์ซึ่งเข้าไปเรียน MBA ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสิ่งที่เขาค้นพบคือบรรดานักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ ในอาชีพการงาน และกลับมาพูดให้นักศึกษาที่ฮาร์วาร์ดฟังนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะประสบความล้ม เหลวในด้านครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นคนที่ผ่านการหย่าร้างมาหลายๆ ครั้ง หรือ คนที่ไม่มีโอกาสและเวลาในการดูลูกเติบโต หรือ มีแม้กระทั่งพวกที่ได้เจอหน้าลูกตอนที่ลูกหลับ เนื่องจากออกจากบ้านตอนเช้าก่อนลูกตื่น และกลับบ้านดึกหลังจากลูกหลับไปแล้ว
ในวารสาร Business Week ฉบับเดือนกันยายน ก็ลองบทความใหญ่เรื่องของความสมดุล ระหว่างความก้าวหน้าในอาชีพกับชีวิตส่วนตัวไว้เหมือนกันครับ โดยเขาได้ไปสัมภาษณ์ผู้บริหาร ของบริษัทต่างๆ ไว้หลายคน ซึ่งข้อคิดจากบทสัมภาษณ์เหล่านี้ก็น่าสนใจและน่าเรียนรู้นะครับ
ผู้บริหารของธนาคารแห่งหนึ่งให้สัมภาษณ์ไว้น่าสนใจครับ โดยจากประสบการณ์ เขาพบเจอคนที่หาเงิน มีรายได้สูงจำนวนมาก แต่ปัญหาของคนเหล่านี้คือยิ่งหาเงินได้มาก ก็ยิ่งใช้จ่ายมาก เขาเองได้รับคำแนะนำที่ดีจากเจ้านายว่า ในการใช้เงินนั้น ให้เริ่มต้นจากการตอบสนองความต้องการพื้นฐานของตัวเราให้ได้ก่อน จากนั้นให้พยายามควบคุมความอยากของตนเอง (โดยเฉพาะความอยากได้ที่เกินความต้องการพื้นฐาน) และถ้าเราสามารถควบคุมความอยากไว้ได้ เราก็จะมีอิสระทางด้านการเงินในชีวิตเรามากขึ้น และไม่ตกเป็นทาสของการทำงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือ Work to live, NOT live to work
ถ้อยคำภาษาอังกฤษข้างต้นน่าสนใจนะครับ ท่านผู้อ่านลองพิจารณาตัวท่านเองซิครับว่าในปัจจุบันท่านทำงานเพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ หรือ มีชีวิตอยู่เพื่อการทำงาน? พวกที่ทำงานเพื่อให้มีชีวิต ก็คือพวกที่ทำงานในระดับที่พอเพียง เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการพื้นฐานของชีวิตในด้านต่างๆ เพื่อทำให้รู้สึกว่าชีวิตนี้มีคุณค่า แต่ถ้าท่านเป็นประเภทที่สองคือมีชีวิตอยู่เพื่อการทำงาน ก็คือพวกที่ชีวิตนี้อุทิศแล้วให้กับงาน จะทำทุกอย่างและพร้อมจะเสียสละทุกอย่างในชีวิตเพื่อการทำงาน เชื่อว่าถ้าทุกคนเลือกได้ก็คงจะต้องเลือกเป็นคนประเภทแรกนะครับ เพียงแต่หลายคนอาจจะไม่มีทางเลือก หรือ ต่อให้มีทางเลือกก็เสพติดงานเข้าไปแล้ว ทำให้ชีวิตนี้ดำรงอยู่เพื่อการทำงานเป็นหลัก มหาตมะ คานธี ท่านได้เคยกล่าวไว้ครับว่า ‘Work is a means of living, it is not life itself’
ท่านผู้อ่านบางท่านอาจจะบอกว่าทุกคนย่อมอยากจะทำงานเพื่อดำรงชีพ มากกว่ามีชีวิตเพื่อการทำงาน แต่ไม่มีทางเลือก เนื่องจากรายได้ในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ หรือ มีหนี้สินรุงรัง หรือ มีภาระรับผิดชอบที่จะต้องดูแล ก็เลยอยากจะพาท่านผู้อ่านมาดูบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารอีกท่านหนึ่ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นก้าวสู่ชีวิตการทำงาน จะได้วางแผนชีวิตได้ถูกต้องและไม่ตกเป็นทาสของงานเหมือนหลายๆ คนที่ไม่มีทางเลือกในปัจจุบัน
ล
ผู้บริหารท่านนี้เขาระบุไว้ว่าเขาและภรรยาสามารถสร้างความสมดุล ระหว่างอาชีพกับชีวิตส่วนตัวได้ โดยผ่านการวางแผนที่ดี โดยเริ่มต้นจากการเรียนต่อปริญญาโท ในปีแรกๆ ที่เริ่มทำงาน เพื่อให้มีพื้นฐานและจุดเริ่มต้นที่แน่น และเลือกเรียนในสาขาที่มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูง พยายามใช้หนี้สินให้หมดไปตั้งแต่ปีแรกๆ ของชีวิตสมรส นอกจากนี้เขาและภรรยายังพยายามที่จะไม่ก่อหนี้สินต่างๆ ขึ้นมา โดยใช้ชีวิตที่พอเพียงและจ่ายทุกอย่างเป็นเงินสด ไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถด้วยเงินสด ซื้อบ้านหลังแรก ที่ไม่เน้นหรูหรา ไม่เน้นต่อเติม แต่พออยู่ๆ ไปก็ค่อยๆ ต่อเติม และการต่อเติมแต่ละครั้งก็ใช้แต่เงินสด ทั้งเขาและภรรยาทำงานทั้งคู่ (มีบุตรสาวสองคน) และในที่ทำงานนั้น ชีวิตการทำงานของทั้งคู่ก็ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ไปหวือหวาเท่าเพื่อนร่วมงานคนอื่น แต่ขณะเดียวกันทั้งคู่ก็ภูมิใจว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ทั้งคู่ทำงานในบริษัทที่ใช้ระบบ Flixtime นั้นคือเข้าทำงานแต่เช้า และกลับบ้านได้เร็ว ทำให้มีเวลารับลูก เล่นกับลูก และดูแลลูกทุกๆ เย็น
อย่างไรก็ดีจากตัวอย่างข้างต้นก็แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารท่านนั้นก็ยังเลือกชีวิตครอบครัวเหนือความก้าวหน้าในอาชีพการงานอยู่ดีนะครับ เพียงแต่ถ้าเรามีการวางแผนที่ดี และหยุดหยั้งความต้องการต่างๆ ของเราให้อยู่ในระดับที่พอเพียงได้ เราก็จะสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี และยังสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ท่านผู้อ่านจะเลือกทางเลือกไหนครับ?