23 กันยายน 2008

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นนำเสนอช่องว่างในการทำงานระหว่างคนสองช่วงอายุ คือพวกที่เราเรียกว่า Gen X หรือพวกที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2507-2524 กับพวกคนรุ่นใหม่ที่เราเรียกกันว่า Gen Y หรือพวกที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2525-2543 ซึ่งพวก Gen X นั้นจะเป็นพวกที่กำลังอยู่ในช่วงสามสิบถึงสี่สิบ ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสถานที่ทำงานหลายแห่ง และสำหรับหลายคนก็ก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารในระดับต่างๆ ส่วนพวก Gen Y คือพวกที่เพิ่งจบปริญญาตรีหรือปริญญาโทมาหมาดๆ เพิ่งเริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงาน จริงๆ แล้วดูเหมือนว่าคนสองกลุ่มนี้ยังมีวัยที่ใกล้เคียงกันและไม่น่าจะมีช่องว่างระหว่างวัยมากนัก แต่ดูเหมือนว่าช่องว่างระหว่างวัยของคนสองกลุ่มนี้จะกว้างกว่าที่เราคิดไว้

            สาเหตุสำคัญที่เกิดขึ้นนอกจากความแตกต่างของคนละยุคคนละสมัยแล้ว ยังเกิดขึ้นเนื่องจากคน Gen X เริ่มที่จะเติบโตในทั้งอายุและหน้าที่การงาน พอมีรุ่นน้องใหม่ๆ ที่เป็น Gen Y เข้ามาทำงานด้วย ก็จะเริ่มตั้งความหวังกับรุ่นน้องเหล่านี้ โดยหวังให้รุ่นน้องรุ่นใหม่ๆ เจริญรอยตามวิถีการทำงานของตนเอง อีกทั้งทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง คอยประคับประคองน้องใหม่ๆ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนเข้าสู่วัยทำงานได้อย่างราบรื่น แต่พอเจอ Gen Y ที่เติบโตขึ้นมาด้วยสภาพ แวดล้อมและความคาดหวังในการทำงานใหม่ๆ ซึ่งอาจจะไม่เหมือนกับสิ่งที่ Gen X คุ้นเคย ช่องว่าง ระหว่างวัยก็กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ความแตกต่างระหว่างคนทั้งสองรุ่นอีกประการหนึ่งคือเรื่องของการแต่งกายครับ โดยเฉพาะในสังคมเมืองไทยที่พวก Gen X ยังคงได้รับอิทธิพลจากพวก Baby Boomer อยู่ เลยทำให้การแต่งกายจะออกแนวกึ่งๆ ทางการนิดหน่อย และพวก Gen X ก็เป็นคนที่สามารถแต่ง กายให้ถูกกาละเทศะได้ครับ เพียงแต่บอกพวกเขาล่วงหน้าเท่านั้นเองว่าวันไหนมีประชุมสำคัญ หรือ วันไหนที่จะต้องพบลูกค้า พวก Gen X ก็สามารถแต่งกายได้อย่างเหมาะสม สำหรับพวก Gen Y นั้น เนื่องจากเป็นพวกที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ชีวิตการทำงาน ดังนั้นหน้าที่ของพวก Gen X คือการเข้าไป คอยชี้แนะถึงแนวทางในการแต่งกายให้เหมาะสม ให้ดูน่าประทับใจ และการแต่งกายที่ดีจะช่วย เสริมสร้างความมั่นคงและความรู้สึกที่ดีกับเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานได้อย่างไร

            นอกจากนี้พฤติกรรมในการทำงานยังมีความแตกต่างระหว่างคนทั้งสองกลุ่มนี้อีกต่างหาก เนื่องจากพวก Gen X เป็นกลุ่มคนที่เริ่มที่จะมีครอบครัว ดังนั้นคนเหล่านี้จึงแสวงหาเวลาในการทำ งานที่ยืดหยุ่น การให้โอกาสคนเหล่านี้ทำงานที่มีเวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น หรือ ทำงานนอกเวลางานปกติได้ จะทำให้คนเหล่านี้มีความสุขในการทำงาน และสามารถสร้างสมดุลในชีวิตของพวกเขาได้มากขึ้น สำหรับพวก Gen Y นั้น จะยิ่งมากกว่า Gen X อีกครับ คนใน Gen Y อาจจะไม่สนใจ และไม่ให้ความสำคัญต่อการเสนอหน้าในที่ทำงาน หรือ จำนวนชั่วโมงในการทำงานเลย คนเหล่านี้ มองว่าขอให้ทำงานเสร็จเป็นสำคัญ เรียกว่าให้มาวัดกันที่ผลลัพธ์ของงานไม่ใช่เวลาในการทำงาน และสิ่งที่พบจากคนเหล่านี้อีกก็คือ พวก Gen Y จำนวนมากจะมีความเป็นศิลปินสูง การกำหนดเวลา ส่งงานนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นแล้วคนเหล่านี้ก็จะสามารถทำงานเสร็จได้อย่างเฉียดฉิวเสมอ ซึ่งตรงข้าม กับ Gen X โดยเฉลี่ย ที่มักจะกังวลและรีบๆ ทำงานให้เสร็จก่อนถึงกำหนดส่ง

            สิ่งที่เราจะพบเห็นในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีระบบหรือระเบียบต่างๆ เยอะแยะก็คือพวกกลุ่มคน Baby Boomers ดูเหมือนจะคุ้นชินและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยกฎระเบียบต่างๆ มากมาย แต่พวก Gen X นั้น จะไม่ชอบระบบ ระเบียบต่างๆ ที่มากมาย แต่ในขณะเดียวกันก็ยังพอจะรับได้ กับแนวทางในการปฏิบัติที่ยึดถือหรือปฏิบัติกันมาแต่อดีต คนใน Gen X ไม่ค่อยชอบระเบียบและการประชุมที่เยอะจนเกินพอ สำหรับพวก Gen Y นั้นจะยิ่งแล้วใหญ่ครับ คนเหล่านี้จะชอบตั้งคำ ถามกับสิ่งต่างๆ ที่เคยปฏิบัติมาในอดีต (คน Gen X นั้นถึงจะไม่พอใจแต่ก็ยังทำใจและยอมรับได้) คนใน Gen Y จะไม่เข้าในหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง โดยเฉพาะพวกระบบ ระเบียบต่างๆ ที่สืบทอดกันมานาน และคนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยอดทนด้วยครับ พวก Gen Y จะยอมไม่ค่อยได้ถ้ามาวัดฝีมือ หรือ ความสามารถ โดยดูจากความอาวุโส ไม่ได้ดูจากความสามารถ

            สัปดาห์นี้ขอจบเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาดูช่องว่างในการทำงานระหว่างพวก Gen X  กับ Gen Y กันต่อนะครับ และก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เนื่องจากปีนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจะจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นสองครั้งครับ ครั้งที่สองในวันที่ 30 ตุลาคมนี้ เรื่อง Implanting Innovation into Corporate DNA ซึ่งจะ มีคณาจารย์และนิสิตเก่าของคณะมาพูดคุยให้ฟังถึงเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ