11 สิงหาคม 2008

สองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอในเรื่องของการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) กับการนำมาปรับใช้กับการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นแนวทางใหม่ที่ องค์กรธุรกิจต่างๆ จะนำมาใช้ในการคิดสร้างสรรค์กลยุทธ์และนวัตกรรมใหม่ๆ โดยสัปดาห์นี้ผม ขอนำแนวทางและวิธีการในการนำเรื่องของการคิดเชิงออกแบบมาผสมผสานกับการคิดและสร้าง สรรค์กลยุทธ์ของบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการออกแบบชั้นนำอย่าง IDEO นะครับ

            ท่านผู้อ่านที่อยู่ในแวดวงด้านการออกแบบคงจะคุ้นเคยกับ IDEO กันนะครับ บริษัทนี้เป็น ที่ปรึกษาและเป็นบริษัทที่รับออกแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ ทั่วโลก เป็นบริษัทที่ถือว่าประสบความ สำเร็จ ได้รับรางวัลต่างๆ มาเยอะพอสมควร และทาง IDEO นั้นเขาก็รุกเข้ามาในแวดวงวิชาการ โดยเฉพาะทางด้านการบริหาร โดยเขียนบทความและหนังสือที่นอกเหนือจากเรื่องของการออกแบบแล้ว ยังเป็นหนังสือและบทความที่พูดถึงการนำหลักของการคิดเชิงออกแบบ มาใช้กับการคิดเชิงกลยุทธ์ครับ

            ในบทความหนึ่งของ Tim Brown ซึ่งเป็น CEO ของ IDEO ที่เคยเขียนไว้ในนิตยสาร Fast Company เมื่อปี 2005 นั้น Tim Brown ได้เสนอแนะให้นำหลักการและวิธีคิดที่บรรดานักออกแบบ ได้ใช้ในการออกแบบสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาใช้ในการออกแบบกลยุทธ์ขององค์กร โดยเขาเรียกแนวคิดดังกล่าวว่าเป็น Five Points Model ครับ ลองมาพิจารณาทีละข้อนะครับ แล้วท่านผู้อ่านลองพิจารณานำไปปรับใช้กับการออกแบบกลยุทธ์ของท่านนะครับ

            แนวทางแรกทาง IDEO เรียกว่า Hit the Streets ครับ หรือถ้าแปลเป็นไทยแบบดัดแปลงหน่อยก็คือให้ลงภาคสนามครับ เนื่องจากกลยุทธ์ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องอาศัยการมีมุมมองและวิธีคิดที่ใหม่ๆ เกี่ยวกับตลาดและลูกค้าขององค์กร และการที่จะมีมุมมองใหม่ๆ ได้นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จากการนั่งอยู่ในห้องประชุมหรือห้องสัมมนาเพียงอย่างเดียว แต่จะเกิดขึ้นได้จากการเข้าไปสังเกตและศึกษาจากตัวลูกค้าเองโดยตรงครับ การสำรวจ สังเกต เฝ้ามอง ค้นหา ฯลฯ พฤติกรรมที่แท้จริงของลูกค้านั้น จะทำให้องค์กรสามารถค้นหาและค้นพบโอกาสและมุมมองใหม่ๆ ที่ไม่เคยพบมาก่อน และจะเป็นแนวทางสำคัญในการทำให้องค์กรสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้           

            ประเด็นที่สำคัญคือท่านผู้อ่านอย่าไปสนใจแต่เฉพาะช่วงที่ลูกค้าซื้อสินค้าและบริการจากท่านเพียงอย่างเดียวนะครับ สิ่งที่ทาง IDEO เขาแนะนำ คือให้เฝ้าศึกษาและสังเกตต่อทั้งกระบวน การของปฏิสัมพันธ์ที่ท่านมีกับลูกค้าเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นก่อน ระหว่าง หรือ หลังการซื้อสินค้าและบริการของท่าน และเมื่อท่านเฝ้าสังเกตให้ดีและคิดให้ถี่ถ้วนท่านอาจจะได้มาซึ่งกลยุทธ์ หรือ สินค้าและบริการใหม่ๆ จากการเฝ้าสังเกตนี้ได้ครับ

            แนวทางที่สองเขาเรียกว่า Recruit T-Shaped People ครับ ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่าคนลักษณะ T นั้นเป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านต้องลองนึกถึงตัวอักษร T ตัวใหญ่ในภาษาอังกฤษ นะครับ คนเหล่านี้จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ลึกในด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งก็เปรียบเสมือนตัวขีดที่ดิ่งลงมาในอักษร T แต่ในขณะเดียวกันคนเหล่านี้ก็มีความรู้ ในศาสตร์สาขาด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งก็เปรียบเสมือนขีดในแนวขวางของตัวอักษร T นั้นเองครับ

            สาเหตุสำคัญที่เขาแนะให้หาคนพันธุ์ T นั้นก็เนื่องจากการที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้นั้น หลักสำคัญก็คือคนยุคใหม่ นอกเหนือจากจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญในศาสตร์ของตนเองแล้ว ยังต้องมีความรู้ ความเข้าใจในศาสตร์อื่นๆ ด้วย เพื่อให้สามารถมองเห็นความเชื่อมโยง ความสอดคล้องระหว่างสิ่งต่างๆ เพื่อนำมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ หรือถ้าในภาษาอังกฤษคือการมองหา Pattern ที่คล้ายๆ กันในสิ่งที่แตกต่างกัน เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ครับ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในปัจจุบันคือการผสมผสานระหว่างหลักการทางด้านการบริหารและหลักพระพุทธศาสนาครับ ปัจจุบันมีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านที่สามารถเชื่อมโยงหลักทางการบริหารสมัยใหม่ ให้เข้ากับหลักคำสอนขององค์พระพุทธเจ้า

            ที่สำคัญคือเมื่อท่านแสวงหาคนพันธุ์ T มาได้แล้ว ก็ให้คนเหล่านี้ทำงานเป็นกลุ่มร่วมกัน นะครับ เนื่องจากเมื่อมีคนพันธุ์ T ที่มีทั้งความลึกและความหลากหลายในหลายๆ ศาสตร์สาขาอยู่ ด้วยกัน โอกาสที่จะแสวงหาโอกาสและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ก็จะมีมากขึ้นครับ

            ผมขอจบแนวคิดของ IDEO ไว้แค่นี้ก่อนนะครับ เนื่องจากในอีกสามแนวคิดที่เหลือนั้นจะ มีความต่อเนื่องและเชื่อมโยงกันพอสมควรครับ ซึ่งจะขอมานำเสนอต่อในสัปดาห์หน้านะครับ