16 มิถุนายน 2008

ท่านผู้อ่านที่ติดตามบทความผมมาตลอดคงทราบนะครับว่าเวลาเราพูดถึงเจ้าพ่อหรือปรมาจารย์ด้าน Balanced Scorecard หรือ BSC ผมจะหมายถึง Robert S. Kaplan อาจารย์จาก Harvard Business School และ David P. Norton ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการ ซึ่งทั้งสองถือเป็นผู้ให้กำเนิดเรื่องของ BSC มาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 90 แล้วก็กลายเป็นเครื่องมือทางด้านการจัดการที่ใช้กันอย่างกว้างขวางและมากมาย นอกจากนี้จากการจัดอันดับบรรดากูรูทางด้านการจัดการของสำนักต่างๆ ชื่อของทั้งสองคนก็ปรากฎอยู่ในทุกครั้งของการจัด

            ทั้งคู่เองไม่ได้หยุดตัวเองไว้ที่ Balanced Scorecard เท่านั้นนะครับ แต่ยังเรียนรู้และพัฒนาแนวคิดของ BSC ยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ จากการเป็นเพียงแค่เครื่องมือในการวัดและประเมินผล กลายเป็นเครื่องมือทางด้านการบริหารกลยุทธ์ตามที่เรารู้จักและคุ้นเคยกันในปัจจุบัน นอกจากนี้ทั้งคู่ยังต่อยอดแนวคิดของตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยการเขียนหนังสือออกมาอย่างสม่ำเสมอจากหนังสือชื่อ Balanced Scorecard เป็นเล่มแรก Strategy-Focused Organization เป็นเล่มที่สอง Strategy Maps เป็นเล่มที่สาม และ Alignment เป็นเล่มที่สี่ ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วทั้งคู่ก็เพิ่งออกหนังสือใหม่ล่าสุดอีกเล่มนั้นคือ The Execution Premium: Linking Strategy to Operations for Competitive Advantage เป็นเล่มที่ห้า ซึ่งจะเป็นเนื้อหาหลักที่จะนำเสนอต่อท่านผู้อ่านในสัปดาห์นี้ครับ

            จากเท่าที่ได้ติดตามงานของทั้งคู่มาตลอดและจากหนังสือเล่มสุดท้ายจะเห็นว่าแนวคิดของทั้งคู่จะเริ่มจากจุดเล็กๆ แล้วขยายเป็นระบบที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นั้นคือเริ่มจากการนำ BSC เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัดและประเมินผล สู่การใช้สื่อสาร ถ่ายทอดกลยุทธ์ (ภายใต้แนวคิดเรื่อง Strategy Map) สู่การทำให้หน่วยงานต่างๆ ในองค์กรมีการดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน (Alignment) ล่าสุดสิ่งที่ทั้งคู่พยายามนำเสนอก็คือระบบในการบริหารกลยุทธ์ที่เป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบอย่างเป็นทางการในการเชื่อมโยงระหว่างกลยุทธ์กับการดำเนินงาน และดูเหมือนในเล่มล่าสุดนั้น ทั้งคู่พยายามที่จะบูรณาการแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารกลยุทธ์ไว้ด้วยกันทั้งหมด และพยายามชี้ให้เห็นว่าการบริหารกลยุทธ์ที่ดีนั้นเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่อง เชื่อมโยงเป็นวงจร ซึ่งองค์กรต่างๆ ควรที่จะมีการบริหารกลยุทธ์ตามวงจรนี้ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงสู่การปฏิบัติ และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ

            ทั้งคู่ได้นำเสนอกรอบความคิดหรือ Model ในการบริหารกลยุทธ์อย่างครบวงจรให้เป็นระบบไว้ โดยมีทั้งหมดหกขั้นตอน เป็นวงล้อมรอบแผนกลยุทธ์ (Strategic Plan) และแผนดำเนินงาน (Operating Plan) โดยขั้นตอนทั้งหมดหกขั้นตอนประกอบด้วย ขั้นที่หนึ่ง การพัฒนากลยุทธ์ หรือ Develop Strategy ซึ่งก็ประกอบด้วยเรื่องของการกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ ค่านิยมองค์กร การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์ โดยในส่วนนี้เองทาง Kaplan กับ Norton ก็ได้พยายามเชื่อมโยงแนวคิดใหม่ๆ ทางด้านการคิดเชิงกลยุทธ์อย่างเช่นเรื่องของ Blue Ocean Strategy เข้ามาด้วย พอมาถึงขั้นที่สองคือเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์ หรือ Plan the Strategy ซึ่งเป็นเรื่องของการ นำกลยุทธ์ที่ได้พัฒนาขึ้นในขั้นแรกให้ออกมาอยู่ในรูปของแผนที่ชัดเจนและสามารถสื่อสารให้กับ บุคคลที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจและรับทราบ ดังนั้นในขณะที่สองนั้นก็จะเกี่ยวข้องกับการกำหนดกลยุทธ์ หลัก หรือ Strategic Themes การเขียนแผนที่กลยุทธ์ (Strategy Map) การกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการต่างๆ รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณตามกลยุทธ์

            พอเขียนแผนกลยุทธ์ได้แล้ว ก็มาสู่ขั้นที่สามครับ คือการทำให้เกิดความเชื่อมโยง หรือ Alignment the Organization ที่เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างระดับองค์กร หน่วยงานต่างๆ และบุคลากร โดยการสร้างความเชื่อมโยงนั้นเป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์และตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ขั้นที่สี่คือการวางแผนการดำเนินงาน หรือ Plan Operations ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการทำงาน การวางแผนการขาย วางแผนงบประมาณ วางแผนการใช้ทรัพยากรต่างๆ และเมื่อวางแผนการ ดำเนินงานเรียบร้อยแล้วก็นำไปสู่การปฏิบัติตามแผนที่ได้วางไว้ จากนั้นพอถึงขั้นที่ห้า คือการติดตามและการเรียนรู้ หรือ Monitor and Learn ที่เป็นการทบทวนผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์และ การดำเนินงาน และสุดท้ายคือขั้นที่หก คือการทดสอบและปรับปรุงกลยุทธ์ หรือ Test and Adapt ที่เป็นการทดสอบว่ากลยุทธ์ที่วางไว้เหมาะสมหรือไม่ รวมทั้งมีการปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับ

สภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้น

            ทั้งหกขั้นตอนคือกระบวนการหลักๆ ของการบริหารกลยุทธ์ที่เชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการที่ Kaplan กับ Norton ได้นำเสนอไว้ในหนังสือ Execution Premium ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็แยกเป็นราย ละเอียดตามบทต่างๆ ของหนังสือเล่มนี้ และในบทสุดท้ายทั้งคู่ก็ได้นำเสนอถึงเรื่องของ Office of Strategy Management หรือ OSM ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานในการบริหารกลยุทธ์ ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานหลายแห่งของไทยก็ได้นำแนวคิดเรื่องของ OSM ไปปรับใช้ โดยทั้งคู่มองว่าการจะบริหารกลยุทธ์ให้มีลักษณะที่ครบวงจรและเชื่อมโยงจากแผนกลยุทธ์สู่แผนปฏิบัติการได้นั้น จะต้องมีกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามา ซึ่งก็คือเจ้า OSM นั้นเอง

            ถ้าท่านผู้อ่านที่ติดตามงานของ Kaplan และ Norton หรือติดตามบทความนี้มาตลอดก็จะเห็นว่าจริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ดูเหมือนจะเป็นการบูรณาการแนวคิดต่างๆ ที่เขาได้เคยนำเสนอไว้ทั้งหมดให้อยู่ในรูปที่สมบูรณ์แบบมากขึ้น หนังสือเล่มนี้จะเหมาะกับผู้ที่พอจะมีพื้นฐานมาบ้าง เนื่องจากจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพในเชิงบูรณาการของแนวคิดต่างๆ ทั้งหมด นอกจากนี้หนังสือเล่มนี้ยังมีกรณีศึกษาขององค์กรต่างๆ ทั่วโลก (มีของไทยด้วยครับ) ที่นำแนวคิดของทั้งคู่มาใช้ ทำให้ผู้อ่านได้เห็นเกร็ดหรือแนวทางต่างๆ ที่องค์กรต่างๆ ได้มีการนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้จริงในทางปฏิบัติ

            ก่อนจบขอฝากข่าวประชาสัมพันธ์ครับ เนื่องจากปีนี้คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จะครบรอบ 70 ปี ทางคณะร่วมกับทางสมาคมนิสิตเก่าฯ จึงจะจัดงานสัมมนาทางวิชาการขึ้นสองครั้งครับ ครั้งแรกในวันที่  7 สิงหาคมนี้ เรื่อง Leading Towards Virtual Century ซึ่งจะ มีคณาจารย์และนิสิตเก่าของคณะมาพูดคุยให้ฟังถึงเรื่องต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้าสนใจก็โทร.มาสอบถามรายละเอียดได้ที่ 02-218-5867 นะครับ