28 กรกฎาคม 2008

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ร่วมกับสมาคมศิษย์เก่า ได้จัดสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งคณะ โดยในวันนั้นผมได้มีโอกาสขึ้นไปพูดปิดท้ายในหัวข้อเรื่อง “กลยุทธ์หนึ่งไม่มีสองด้วยสมองข้างขวา” ซึ่งได้เคยเกริ่นๆ เนื้อหาไว้บ้างแล้ว และตอนหนึ่งของเนื้อหาที่นำเสนอนั้นก็ได้พูดถึงเรื่องของปัญหาในการบริหารกลยุทธ์ในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นการใช้งานจากสมองข้างซ้ายเป็นหลัก ซึ่งแท้ที่จริงแล้วการบริหารกลยุทธ์ที่ดี ควรจะมาจากสมองทั้งสองข้าง ซึ่งสัปดาห์นี้จะขอเล่านำเรื่องนี้มาเล่าให้ท่านผู้อ่านกันนะครับ

            ถ้าเรานึกถึงกระบวนการหรือวงจรในการบริหารกลยุทธ์นั้น ท่านผู้อ่านก็คงพอจะจำได้ว่าผมได้นำเสนอไปหลายครั้งหลายโอกาสแล้ว ส่วนใหญ่ก็มักจะเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก จากนั้นก็เข้าสู่การคิดและพัฒนากลยุทธ์ การวางแผนกลยุทธ์ให้เกิดความชัดเจน การนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ และการติดตาม ประเมินผล และการทบทวนกลยุทธ์ ถ้าจะถามว่าในขั้นตอนไหนใช้สมองข้างไหนเป็นหลักนั้น เราก็พอจะแยกออกได้ว่า เรื่องต่างๆ ที่ออกมาจากสมองข้างขวานั้น มุ่งเน้นไปที่เรื่องของการคิด เชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) มากกว่าเพียงแค่การวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning) นะครับ และท่านผู้อ่านจะต้องแยกให้ออกถึงความแตกต่างระหว่างการคิดและการวางแผนกลยุทธ์ ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรส่วนใหญ่ทั้งภาคราชการและเอกชนเวลาพูดถึงเรื่องของกลยุทธ์ทีไร มักจะมุ่งเน้นไปที่ตัวการวางแผนกลยุทธ์ มากกว่าการคิดเชิงกลยุทธ์

            โดยเวลาองค์กรต่างๆ วางแผนกลยุทธ์นั้นก็จะไปเน้นที่รูปแบบ กระบวนการ ขั้นตอนต่างๆ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด เนื่องจากการวางแผนกลยุทธ์ที่ดี จะช่วยให้องค์กรมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน สามารถเข้าใจได้ง่าย และง่ายต่อการนำไปปฏิบัติ อย่างไรก็ตามก่อนที่จะมีการวางแผนกลยุทธ์ได้นั้น องค์กรทุกแห่งควรจะเริ่มต้นจากการคิดเชิงกลยุทธ์ครับ เนื่องจากการคิดเชิงกลยุทธ์จะมุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างสรรค์กลยุทธ์ วิธีการในการแข่งขัน และสิ่งใหม่ๆ ที่องค์กรจะทำ และเมื่อเราคิดเชิงกลยุทธ์ได้แล้ว ค่อยนำเรื่องของการวางแผนกลยุทธ์เข้ามาจับ เพื่อให้สามารถสื่อสารและถ่ายทอดในสิ่งที่คิดนั้นออกไปสู่สิ่งที่เป็นรูปธรรมและสามารปฎิบัติได้ต่อไป

            ถ้าจะเปรียบเทียบการใช้สมองข้างขวาหรือข้างซ้ายกับการคิดและการวางแผนกลยุทธ์นั้น เราจะเห็นได้ว่าในการคิดเชิงกลยุทธ์นั้น เราจะต้องอาศัยเรื่องของการคิดสร้างสรรค์ เรื่องของการคิดในสิ่งใหม่ๆ การมองภาพในเชิงองค์รวม หรือ การสร้างความเชื่อมโยงและบูรณาการระหว่างสิ่งที่มีความแตกต่างกันสองประการ ซึ่งความสามารถในการคิดเหล่านี้ ส่วนใหญ่แล้วจะมาจากสมองข้างขวาของคนเราเป็นหลักครับ ในขณะที่เมื่อเราคิดเชิงกลยุทธ์ได้แล้ว องค์กรจะต้องมีการกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน กำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย แผนงาน โครงการ และงบประมาณต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าในส่วนของการวางแผนกลยุทธ์นั้น มนุษย์เราน่าจะอาศัยสมองข้างซ้ายมากกว่าสมองข้างขวา เนื่องจากเป็นการวางแผนกลยุทธ์เป็นกระบวนการคิดการที่เน้นการวิเคราะห์ เป็นขั้นเป็นตอน มีลำดับขั้นต่างๆ ที่ชัดเจน ดังนั้นถ้าท่านผู้อ่านเห็นด้วยว่าการคิดเชิงกลยุทธ์ ควรจะมาก่อนการวางแผนเชิงกลยุทธ์ เราก็ควรที่จะใช้สมองข้างขวาในการคิด สร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ และนำสมองข้างซ้ายมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ให้เกิดความชัดเจนและสามารถไปสู่การปฏิบัติได้

            จริงๆ แล้วถ้าเรามองไปที่กระบวนการบริหารกลยุทธ์อย่างครบวงจร เราคงจะต้องหนีไม่พ้นการวิเคราะห์กลยุทธ์ หรือ Strategic Analysis ก่อนนะครับ ซึ่งคงไม่ต้องอธิบายมากท่านผู้อ่านทุกท่านก็คงเดาได้อยู่แล้วว่าในขั้นตอนของการวิเคราะห์กลยุทธ์นั้น องค์กรต่างๆ จะก็ใช้เครื่องมือต่างๆ ในการวิเคราะห์ และส่วนใหญ่แล้วในขั้นตอนนี้ก็มักจะพึ่งพาความสามารถในการวิเคราะห์ที่มาจากสมองข้างซ้ายเป็นหลักนะครับ อย่างไรก็ดีนอกเหนือจากการวิเคราะห์ การคิด และการวางแผนกลยุทธ์แล้ว เรายังมีขั้นตอนที่สำคัญอีกประการหนึ่งในกระบวนการบริหารกลยุทธ์ นั้นคือการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ

            เมื่อเราแยกเรื่องของการนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติเป็นเรื่องๆ แล้ว เราจะพบว่าการจะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้ได้ผลดีนั้น จะต้องอาศัยสมองทั้งสองข้าง หรือ ที่เรารู้จักกันในชื่อของ Whole Brain Thinking เนื่องจากการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัตินั้น จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของคน จะต้องทำความ เข้าใจต่อความต้องการและแรงจูงใจของบุคลากรภายในองค์กร (คือเรื่องของ Empathy จากสมอง ข้างขวา) ในขณะเดียวกันการสั่งการ การปรับปรุงกระบวนการในการดำเนินงาน โครงสร้างองค์กร การติดตามประเมินผล ฯลฯ อาจจะเป็นสิ่งที่มาจากสมองข้างซ้ายเป็นหลัก

            ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่าในการบริหารกลยุทธ์ให้ประสบความสำเร็จนั้น ผู้บริหารควรรู้จักที่จะใช้สมองทั้งสองข้างให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากการบริหารกลยุทธ์ที่ดีนั้น จะต้องอาศัยทั้งสมองข้างซ้ายและข้างขวา อย่างไรก็ดีปัญหาหลักของผู้บริหารหลายๆ องค์กรก็คือ เราจะคุ้นเคยและเคยชินกับการใช้สมองข้างซ้ายมากกว่าข้างขวา ดังนั้นจะสังกตได้ว่าการบริหารกลยุทธ์ขององค์กรจำนวนมากยังมีข้อบกพร่องอยู่ อาทิเช่น สามารถวิเคราะห์สภาวการณ์ต่างๆ ได้ดี แต่ขาดความ สามารถในการคิด สร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ทำให้กลยุทธ์ของบริษัทจำนวนมากมีลักษณะที่ลอกเลียนแบบกัน และหาความแตกต่างระหว่างกันไม่ค่อยได้ นอกจากนี้เมื่อนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ ก็จะมุ่งเน้นแต่ที่ตัวเลข กระบวนการ และผลการดำเนินงาน โดยละเลยต่อปัจจัยทางด้านจิตใจ และความรู้สึกของบุคลากรภายในองค์กร ทำให้บุคลากรไม่ได้ทำงาน “ด้วยใจ” จริงๆ

            สิ่งที่สำคัญที่ผู้บริหารและท่านผู้อ่านควรจะมุ่งเน้นคือการพัฒนาหรือใช้ประโยชน์จากสมองข้างขวาให้มากขึ้นนะครับ ซึ่งในสัปดาห์หน้า ผมจะมาเล่าให้ฟังต่อว่าเราสามารถใช้สมองข้างขวามาช่วยในการคิด สร้างสรรค์ กลยุทธ์ใหม่ๆ ได้อย่างไร