23 มิถุนายน 2008

ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยนะครับว่ากลยุทธ์จากสมองข้างขวาคืออะไร เนื่องจากเวลาเรานึกถึงสมองข้างซ้ายและข้างขวานั้น ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะนึกถึงสมองข้างซ้ายที่คุมร่างกายด้านขวาของเรา และสมองข้างขวาที่คุมร่างกายด้านซ้าย ในขณะเดียวกันสมองข้างซ้ายก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของการคิดเชิงเหตุผล ในขณะที่สมองข้างขวานั้นจะเกี่ยวข้องกับด้านศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ได้มีการค้นพบเกี่ยวกับการทำงานของสมองทั้งสองข้างมากขึ้น และข้อสังเกตประการหนึ่งที่ผมพบก็คือแนวคิดหรือวิธีการคิดของกลยุทธ์ใหม่ๆ ที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้นั้น ในอนาคตจะมาจากสมองข้างขวามากกว่าสมองข้างซ้ายเหมือนในอดีต

            ก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจก่อนนะครับว่าการทำงานของสมองข้างขวาและข้างซ้ายมีความแตกต่างกันอย่างไร        สมองข้างซ้ายนั้นเกี่ยวข้องกับการคิดที่เป็นเหตุเป็นผล การคิดที่เป็นขั้น เป็นตอน สิ่งที่เป็นลำดับขั้น การวิเคราะห์ข้อมูล สมองข้างซ้ายจะควบคุมในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับคำพูด การเขียน และการอ่าน ในขณะที่สมองข้างขวานั้นเกี่ยวข้องกับการคิดที่เป็นองค์รวม การแปลความหมายของสิ่งต่างๆ ในลักษณะพร้อมๆ กัน การมองเห็นถึงความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่แตกต่างกัน การมองเห็นความเหมือนในความแตกต่าง มุ่งเน้นในเรื่องของอารมณ์ และสิ่งที่เป็นภาพ การแสดงออกทางใบหน้า

            จริงๆ แล้วผมไม่ได้หมายความว่าเวลาเราคิด เราจะใช้สมองข้างใดข้างหนึ่งอย่างเดียวนะครับ เพียงแต่ในอดีตนั้นเราจะมุ่งเน้นหรือใช้สมองข้างซ้ายเป็นตัวนำเวลาเราคิดในสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของกลยุทธ์ ท่านผู้อ่านลองนึกถึงกระบวนการในการวางแผนกลยุทธ์ที่เราใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในปัจจุบันดูนะครับ เราจะมุ่งเน้นการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร หลังจากนั้นเราก็จะกำหนดกลยุทธ์ออกมาเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่กลยุทธ์ วัตถุประสงค์ ตัวชี้วัด แผนงาน โครงการต่างๆ จนกระทั่งถึงงบประมาณ เสร็จแล้วเราก็จะเขียนกลยุทธ์ที่ได้ออกมาอยู่ในรูปของแผนกลยุทธ์ ที่ประกอบด้วยตัวอักษรและตัวเลขเต็มไปหมด จากนั้นก็นำแผนกลยุทธ์ดังกล่าวสื่อสารไปยังบุคลากรต่างๆ ภายในองค์กร

            ถ้าดูกระบวนการต่างๆ ในการวางแผนกลยุทธ์ข้างต้น ท่านผู้อ่านก็คงพอจะเห็นภาพที่ชัดเจนนะครับว่ากระบวนการและวิธีการที่เราใช้ในการวางกลยุทธ์นั้น จะถูกชี้นำหรือผลักดันด้วยสมองข้างซ้ายเป็นหลัก ซึ่งในอดีตนั้นก็เป็นสิ่งที่ไม่ผิดหรอกครับ แต่การคิดโดยใช้สมองข้างซ้ายเป็นตัวนำนั้นก็ได้นำไปสู่ปัญหาที่องค์กรหลายๆ แห่งเริ่มประสบครับ นั้นคือปัญหาในการแสวงหาแนวทางในการเติบโตใหม่ ที่เริ่มถึงทางตันในการเติบโต รวมทั้งการสร้างความแตกต่างระหว่างองค์กรแต่ละแห่งที่เริ่มหาได้น้อยลงไปทุกที

            ในขณะเดียวกันถ้าเรามาพิจารณาการคิดกลยุทธ์ในแนวทางและรูปแบบใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราจะพบว่านวัตกรรมทางกลยุทธ์ที่เกิดขึ้นนั้นมักจะมีจุดเริ่มต้นจากสมองข้างขวาเป็นหลักครับ ตัวอย่างเช่นเรื่องของ Blue Ocean Strategies ที่ฮิตกันอยู่ในปัจจุบัน ถ้าศึกษาให้ดีก็จะพบว่า หลักการสำคัญของ Blue Ocean หลายๆ อย่างมุ่งเน้นในเรื่องของสมองข้างขวามากกว่าข้างซ้าย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการคิดเพื่อให้ได้มาซึ่งกลยุทธ์น่านน้ำสีคราม ที่เน้นที่การสร้างให้เห็นภาพของกลยุทธ์องค์กรทั้งหมด แทนที่จะเริ่มต้นที่การกำหนดตัวเลขหรือค่าเป้าหมายเหมือน กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ในรูปแบบเดิม หรือ การเน้นในเรื่องของการสร้างสรรค์กลยุทธ์ใหม่ๆ มากกว่าการมุ่งเน้นในเรื่องของการวิเคราะห์เหมือนในอดีต

            นอกเหนือจากเรื่องของ Blue Ocean แล้ว เราจะพบว่าอุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็เป็นผลมาจากการคิดของสมองข้างขวามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนำธุรกิจสองธุรกิจมาผสมผสานกันเพื่อสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งก็เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมโยงและความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยสองปัจจัยที่ดูไม่เหมือนกันตามวิธีคิดของสมองข้างขวา หรือ การนำเรื่องของอารมณ์หรือความรู้สึกต่างๆ รวมทั้งการนำเรื่องของการออกแบบเข้ามาผสมผสานในสินค้าและบริการที่ในอดีตอาจจะมุ่งเน้นแต่ในเรื่องของการใช้งานเป็นหลัก จนลืมมองในด้านอารมณ์และความรู้สึก

            อีกตัวอย่างหนึ่งที่เราจะพบเห็นมากขึ้นก็คือการสร้างเรื่องราว หรือ Stories เกี่ยวกับสินค้าและบริการ เพื่อให้สินค้าและบริการมีเสน่ห์ เพิ่มความแปลกใหม่ ความแตกต่าง รวมทั้งความขลังให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งเรื่องของ Stories นั้นก็เป็นอีกผลพวงหนึ่งของการใช้ สมองข้างขวาในการคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ และที่สำคัญคือเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากในปัจจุบัน เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะยอมรับว่าเรื่องของนวัตกรรมกลายเป็นปัจจัยที่สำคัญสำหรับ การแข่งขันขององค์กรธุรกิจในปัจจุบัน และการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ นั้นก็หนีไม่พ้นสิ่งที่ออกมาจากสมองข้างขวา

            ท่านผู้อ่านน่าจะเริ่มเห็นภาพและความสำคัญของการใช้สมองข้างขวาในการคิดในเรื่องของกลยุทธ์แล้วนะครับ ถ้าอยากจะทราบรายละเอียด รวมทั้งวิธีการพัฒนาสมองข้างขวาเราให้สามารถคิดกลยุทธ์ใหม่ๆ ให้ละเอียดขึ้น ขอเชิญชวนเข้าร่วมงานสัมมนาเรื่อง Leading Towards Virtual Century ซึ่งจะจัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 70 ปีของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ ซึ่งนอกจากผมจะนำเสนอแนวคิดเรื่องของ “กลยุทธ์หนึ่งไม่มีสอง ด้วยสมองข้างขวา” แล้วยังมีนวัตกรรมทางด้านการบริหารในเรื่องอื่นๆ อีกทั้งจากคณาจารย์และศิษย์เก่าของคณะ ถ้าท่านผู้อ่านสนใจก็โทร.มาสอบถามได้ที่ 02-218-5867 นะครับ