
20 เมษายน 2008
เนื้อหาในสัปดาห์นี้ยังคงต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วนะครับ ในเรื่องของการตรวจสอบว่าองค์กรของท่านเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่? ทั้งนี้เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรจำนวนมากชอบที่จะตั้งเป้าหมายของตนเองให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือ Learning Organization แต่ความท้าทายที่สำคัญก็คือ ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก ทั้งในด้านของแนวทางในการพัฒนาให้เป็น LO รวมถึงการที่จะตรวจสอบหรือบอกได้ว่าองค์กรของท่านได้พัฒนาตน เองจนกระทั่งกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่?
ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมามีบทความโดย David Garvin และคณะ ชื่อ Is Yours a Learning Organization? ซึ่งได้นำเสนอถึงแนวทางในการตรวจสอบหรือทดสอบว่าองค์กรของท่านเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่? โดยในบทความดังกล่าวเขาได้ตั้งสมมติฐานที่สำคัญไว้ว่าการที่องค์กรใดก็ตามจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้นั้นจะต้องมีเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สำคัญสามประการ ซึ่งในสัปดาห์ที่แล้วผมได้นำเสนอในเงื่อนไขประการแรกไปแล้ว นั้นคือเรื่องของการมีสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้
สำหรับเงื่อนไขประการที่สองนั้นเป็นเรื่องของการมีกระบวนการและแนวปฏิบัติในด้านการเรียนรู้ที่ชัดเจน นั้นคือไม่ใช่ว่าองค์กรจะมีบรรยากาศที่เกื้อหนุนต่อการเรียนรู้เท่านั้น แต่จะต้องมีกิจกรรม แนวปฏิบัติ หรือ กระบวนการที่สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ด้วย โดยกระบวนการในการเรียนรู้นั้นเกี่ยวข้องกับการพัฒนา รวบรวม จัดเก็บ การแปลความหมาย และการแพร่กระจายของความรู้ ข้อมูล อีกทั้งยังต้องมีการสนับสนุนให้เกิดการทดลองหรือลองผิดลองถูกเพื่อพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ มีกระบวนการในการเก็บรวบรวมข้อมูลของลูกค้า คู่แข่งขัน และแนวโน้มทางด้านเทคโนโลยีที่สำคัญ การวิเคราะห์และแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่างๆ การศึกษา อบรม และพัฒนาสำหรับบุคลากรทั้งเก่าและใหม่
นอกจากนี้ความรู้ต่างๆ ยังต้องมีกระบวนการในการแบ่งปันและเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าระหว่างบุคคล หน่วยงาน ความรู้ต่างๆ ที่สำคัญจะต้องสามารถโยกย้ายไม่ว่าจะเป็นในระนาบเดียวกันหรือข้ามสายการบังคับบัญชาได้อย่างอิสระ นอกจากนี้การแบ่งปันความรู้ยังครอบคลุมถึงการแบ่งปันความรู้กับภายนอกองค์กรด้วย
พอถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านอาจจะงงนะครับว่าแนวทางและกระบวนการปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ผมได้นำเสนอข้างต้นนั้น อ่านดูแล้วก็เหมือนกับทราบว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ และยังหาทางไม่เจอว่าจะใช้สิ่งที่เขียนมาข้างต้นนั้นเป็นเครื่องมือในการทดสอบหรือตรวจสอบได้อย่างไรว่าเป็นองค์กรแห่งกาเรียนรู้? จริงๆ ต้องบอกว่าในบทความดังกล่าวเขาได้แตกประเด็นต่างๆ ที่นำเสนอข้างตนออกมาเป็นลักษณะของ Checklist ที่องค์กรต่างๆ สามารถนำไปประเมินตนเองได้ครับ
ตัวอย่างเช่นในเงื่อนไขที่สองในเรื่องของกระบวนการและแนวปฏิบัติในการเรียนรู้นั้น สามารถแบ่งออกได้เป็นหัวข้อใหญ่ๆ ห้าเรื่องด้วยกันได้แก่ เรื่องแรกคือการทดลอง (Experimentation) เนื่องจากการมีโอกาสได้ทดลองหรือลองผิดลองถูกนั้น จะช่วยทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องได้เกิดการเรียน รู้ และที่สำคัญคือคำว่าการทดลองในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงแต่การทดลองในห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ นะครับ แต่เป็นการทดลองไม่ว่าจะเป็นวิธีการทำงานแบบใหม่ๆ หรือ การมีสินค้าหรือบริการใหม่ๆ นำเสนอ ดังนั้นคำถามในหมวดนี้ก็จะเป็นคำถามที่มักจะถามว่าองค์กรหรือหน่วยงาน ได้เปิดโอกาสหรือมีการทดลองในรูปแบบต่างๆ หรือไม่?
ประการที่สองคือการเก็บรวบรวมข้อมูล โดยเป็นคำถามว่าองค์กรหรือหน่วยงานได้มีระบบที่ชัดเจนในการเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งขัน ลูกค้า ภาวะทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี รวมทั้งยังมีการเปรียบเทียบข้อมูลที่ได้กับคู่แข่งขันหรือองค์กรอื่นที่เป็นเลิศหรือไม่? ทั้งนี้เนื่องจากการเรียนรู้หรือความรู้ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญก็คือจะต้องมีข้อมูลใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เราไม่สามารถเรียนรู้ได้จากสิ่งเดิมๆ ที่เรารู้อยู่แล้ว ดังนั้นการมีระบบและกระบวนการในการรวบรวมข้อมูลต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญหรือจำเป็น
ประการที่สามคือการวิเคราะห์ ทั้งนี้เนื่องจากพอมีการวิเคราะห์ผลจากการลองผิดลองถูก วิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้น มักจะก่อให้เกิดการอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งหลายๆ ครั้งอาจจะไม่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน หรือ มีมุมมองใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งความคิดเห็นหรือมุมมองที่หลากหลายก็จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นและก่อให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นภายในองค์กร
ประการที่สี่คือการเรียนรู้และอบรม ซึ่งเชื่อว่าเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบเดิมๆ ที่ท่านผู้อ่านคุ้นเคยกันดี เพียงแต่ประเด็นที่สำคัญคือการเรียนรู้ผ่านทางการอบรมนั้นจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง และผู้บริหารจะต้องให้ความสำคัญ
ประเด็นสุดท้ายคือเรื่องของการถ่ายโอนหรือถ่ายทอดข้อมูล เนื่องจากการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นนั้นควรจะเป็นการเรียนรู้ขององค์กร ไม่ใช่จำกัดการเรียนรู้อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น องค์กรจะต้องพัฒนากลไกให้เกิดการถ่ายทอดความรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการนำผู้เชี่ยวชาญจากภายใน หรือ ภายนอกองค์กรเข้ามาถ่ายทอดความรู้ หรือ การเรียนรู้จากลูกค้า หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวเข้าอื่นๆ และการถ่ายโอนความรู้นั้น ควรจะต้องเป็นสิ่งที่กระทำอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องด้วย
สัปดาห์นี้คงได้แต่ครอบคลุมเงื่อนไขหรือองค์ประกอบที่สองสำหรับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นะครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาพิจารณาประเด็นสุดท้ายกันครับ แล้วท่านผู้อ่านจะได้มีแนวทางทั้งหมดในการประเมินองค์กรของท่านเองว่าเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่?