
27 เมษายน 2008
สัปดาห์นี้คงจะเป็นสัปดาห์สุดท้ายในเรื่องของแนวทางในการประเมินและตรวจสอบว่าองค์กรของท่านเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่ ซึ่งในสองสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ได้นำเสนอเงื่อนไขสำคัญสำหรับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้มานำเสนอท่านผู้อ่านในสองประเด็นนะครับ นั้นคือ การมีบรรยากาศที่เอื้อและสนับสนุนต่อการเรียนรู้ และการมีกระบวนการและแนวทางในการปฏิบัติที่ชัดเจนสำหรับการเรียนรู้ สำหรับนี้เรามาพิจารณาเงื่อนไขประการที่สาม ซึ่งก็คือมีการผู้นำที่สนับสนุนการเรียนรู้กันนะครับ
ผมเคยทำวิจัยเพื่อศึกษาเรื่องการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ในระบบราชการร่วมกับดร.มงคลชัย วิริยะพินิจ อาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ของที่คณะบัญชี จุฬาฯ แล้วข้อสรุปประการหนึ่งที่เราได้ก็คือการที่ส่วนราชการใดจะมีแนวโน้มหรือการพัฒนาตนเองสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งคือตัวผู้นำในองค์กร ซึ่งเชื่อว่าไม่ว่าในส่วนราชการหรือภาคเอกชน การที่องค์กรนั้นจะเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ได้ ตัวผู้นำองค์กรถือเป็นกลไกหรือตัวจักรที่สำคัญในการผลักดันเลยครับ
ท่านผู้อ่านอาจจะเริ่มต้นจากการถามตัวเองก่อนก็ได้นะครับว่าผู้นำในองค์กรหรือหน่วยงานท่าน ไม่ว่าในระดับใดก็ตามส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้หรือไม่? อย่าไปฟังแต่สิ่งที่ผู้นำท่านพูดนะครับ ต้องดูจากพฤติกรรมเขาด้วย ท่านผู้อ่านอาจจะลองเริ่มจากการตอบคำถามง่ายเหล่านี้ โดยใช้มาตร 1 – 5 ก็ได้ครับ (หนึ่งคือไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ห้าคือเห็นด้วยอย่างยิ่ง)
- ผู้นำของท่านเชื้อเชิญให้ผู้อื่นได้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม
- ผู้นำของท่านยอมรับว่าตนเองไม่ใช่ผู้รอบรู้ในทุกๆ ด้าน
- ผู้นำของข้าพเจ้าถามคำถามเพราะอยากรู้
- ผู้นำของข้าพเจ้ามีความตั้งใจในการฟัง
- ผู้นำของข้าพเจ้ายอมรับและสนับสนุนต่อความคิดเห็นที่หลากหลาย
- ผู้นำของข้าพเจ้าอุทิศเวลา ทรัพยากรต่างๆ เพื่อแสวงหาปัญหาและความท้าทายที่องค์กรเผชิญ
- ผู้นำของข้าพเจ้าอุทิศเวลา และทรัพยากรต่างๆ ในการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานที่ผ่านมาในอดีต
- ผู้นำของข้าพเจ้าชอบที่จะวิพากษ์ วิจารณ์ ความเห็นที่แตกต่างจากความคิดเห็นของตน (ข้อนี้ต้องให้คะแนนย้อนกลับนะครับ)
คำถามต่างๆ ข้างต้นเป็นคำถามที่สะท้อนตัวตนของผู้นำท่านว่าส่งเสริมและสนับสนุนต่อการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นภายในองค์กรมากน้อยเพียงใด ถ้าคะแนนที่ออกมาต่ำก็คงสะท้อนอะไรบางอย่างได้พอสมควร หรือท่านผู้อ่านที่เป็นผู้บริหารอาจจะลองตอบคำถามเหล่านี้ด้วยตนเองดูก็ได้นะครับ แต่คงต้องตอบอย่างซื่อสัตย์และตรงไปตรงมา
การเรียนรู้จะเกิดขึ้นภายในองค์กรได้นั้น ย่อมได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมของผู้นำองค์กรเป็นสำคัญ ถ้าผู้นำที่คอยตั้งประเด็นคำถาม และรับฟังอย่างตั้งใจต่อความคิดเห็นของบุคลากร ย่อมจะทำให้เกิดบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่มีการอภิปราย แสดงความคิดเห็น และกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ทั้งจากเพื่อนร่วมงาน และจากแหล่งอื่นๆ ยิ่งถ้าผู้บริหารส่งสัญญาณไปให้เห็นว่าการใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา แสวงหาความรู้ รวมทั้งใช้เวลาในการเรียนรู้จากกิจกรรมต่างๆ ที่ได้ทำไป องค์กรก็ย่อมที่จะมีกิจกรรมและเวลาให้กับการเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ถ้าผู้นำแสดงให้เห็นว่าตนเองยอมรับและสนับสนุนให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย ก็จะยิ่งทำให้บุคลากรกล้าและพร้อมที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาได้
สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือผู้นำองค์กรจำนวนมาก ไม่ค่อยชอบให้มีความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย เนื่องจากคิดว่าจะส่งผลต่อการบริหารองค์กร แต่ถ้าเรามองอีกมุมหนึ่ง ความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลายย่อมจะทำให้เกิดความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้ง่ายขึ้น จริงๆ แล้วสิ่งที่น่าท้าทายสำหรับผู้บริหารยุคใหม่ อยู่ที่การทำให้เกิดความสมานฉันท์หรือปรองดอง บนความคิดที่หลากหลายมากกว่าครับ ไม่ใช่ว่าพอเกิดความแตกต่างทางความคิดแล้ว กลับนำไปสู่การทะเลากัน แต่ทุกคนต้องยอมรับในความแตกต่างทางความคิดของผู้อื่น และตัวผู้นำเองจะต้องทำหน้าที่ในการปรองดองและสมานฉันท์ รวมทั้งการตัดสินใจเลือกทางเดินที่เหมาะสมที่สุดสำหรับองค์กร
ท่านผู้อ่านจะสังเกตนะครับว่าเงื่อนไขทั้งสามประการสำหรับการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้นมีส่วนที่สัมพันธ์และเกื้อหนุนกัน โดยเราอาจจะเริ่มจากตัวผู้นำภายในองค์กรที่จะต้องเห็นความสำคัญและกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ซึ่งย่อมจะทำให้เกิดบรรยากาศและสภาวะแวดล้อมของการเรียนรู้ภายในองค์กร และทำให้ผู้นำสามารถนำกระบวนการหรือแนวทางในการปฏิบัติที่กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้มาใช้ภายในองค์กรได้อย่างราบรื่นมากขึ้น
ถ้าท่านผู้อ่านสนใจศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมินตนเองว่าเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือไม่ ก็ลองหาอ่านได้จากบทความชื่อ Is Yours a Learning Organization? จากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมานะครับ และถ้าอยากจะลองทำแบบทดสอบเพื่อประเมินองค์กรตนเองนั้นก็สามารถลองเข้าไปทำได้ที่ http://los.hbs.edu นะครับ