22 มีนาคม 2008

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้เริ่มต้นนำเสนอเงื่อนไขสำคัญที่องค์กรจะกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กร โดยนำมาจากเนื้อหาในหนังสือชื่อ Innovation to the Core เขียนโดย Peter Skarzynski และ Rowan Gibson เนื่องจากในปัจจุบันนวัตกรรมได้กลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ที่องค์กรต่างๆ ใช้กันอย่างแพร่หลาย อย่างไรก็ดีปัญหาที่องค์กรต่างๆ เผชิญก็คือเรากำหนดเป้าหมายหรือเขียนเป็นกลยุทธ์ได้ แต่จะมีแนวทางในการปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้นวัตกรรมเกิดขึ้นภายในองค์กรอย่างแท้จริง ซึ่งในหนังสือเล่มดังกล่าวผู้เขียนเขาได้พยายามที่จะทำให้เรื่องของนวัตกรรมกลายเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม สามารถจับต้องได้ รวมทั้งมีกลไกและแนวทางในการพัฒนาให้เกิดนวัตกรรมขึ้นจริงๆ ภายในองค์กร

            จากการศึกษาบริษัทต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จในด้านนวัตกรรมนั้น องค์กรเหล่านั้นจะมีเงื่อนไขที่สำคัญสามประการที่จะต้องมีเสมอครับ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้นำเสนอเงื่อนไขประการแรก คือเรื่องของเวลาไปแล้ว สัปดาห์นี้เรามาดูเงื่อนไขประการที่สองและประการที่สามกันต่อนะครับ แต่ก่อนขึ้นเงื่อนไขประการที่สอง ขอกลับไปที่เงื่อนไขประการแรกก่อนนิดหนึ่งนะครับ เนื่องจากมีท่านผู้อ่านหลายท่านได้ถามมาถึงตัวอย่างของเงื่อนไขในข้อแรกก่อน

            หลายบริษัทจะมีหลายวิธีการที่แตกต่างกันในการหาเวลาให้กับพนักงานของตนสำหรับการไปคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตัวอย่างเช่นบริษัท Whirlpool ซึ่งเรามักจะยึดติดว่าเป็นบริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารุ่นโบราณ แต่ปัจจุบัน Whirlpool เป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับนวัตกรรม และได้มีสินค้าใหม่ๆ หลายประการที่แสดงถึงนวัตกรรมและมีความโดดเด่นครับ ทาง Whirlpool นั้นเขาได้คัดเลือกพนักงานจำนวน 75 คนจากหน่วยงานต่างๆ ทั่วโลก เพื่อมาเรียนรู้และร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับบริษัท โดยเงื่อนไขสำคัญคือพนักงานเหล่านี้ จะถูกดึงออกจากงานประจำ ไม่ต้องหมกหมุ่นและเสียเวลากับงานประจำวัน และมามุ่งมั่นอยู่กับงานคิดค้นสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะ แล้วหลังจากจบโครงการนี้ซึ่งกินเวลา 9 เดือน หนึ่งในสามของพนักงานในโครงการนี้ก็จะกลับเข้างานประจำ เพื่อไปปลูกฝังแนวคิดเรื่องของนวัตกรรมกับพนักงานทั่วๆ ไป อีกหนึ่งในสามก็จะกลายเป็นที่ปรึกษาทางด้านนวัตกรรม เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาภายในให้กับหน่วยงานอื่นๆ ต่อไป และอีกหนึ่งในสามก็กลายเป็นเจ้าของโครงการทางนวัตกรรมต่างๆ ที่คิดขึ้นมาในช่วงเก้าเดือนที่ผ่านมา

            ตัวอย่างของ Whirlpool เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการดึงคนออกจากงานประจำและให้มีส่วนในกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกันก็มีองค์กรอื่นที่มีรูปแบบที่กึ่งๆ ทางการ เช่น 3M ที่มีกฎ 15% ที่ชัดเจนและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ที่พนักงานมีสิทธิ์จะใช้เวลา 15% ในการคิดค้นในสิ่งที่ตนเองสนใจ หรือที่โด่งดังในปัจจุบันก็อย่างเช่น Google ที่ตั้งกฎ 70/20/10 ที่ 70% ของเวลาให้กับงานประจำของบริษัท 20% กับโครงการเชิงกลยุทธ์ต่างๆ ของบริษัท และ 10% ให้กับโครงการส่วนตัวของพนักงานแต่ละคน

            เมื่อดูตัวอย่างของเงื่อนไขประการแรกแล้ว เราลองมาดูเงื่อนไขประการที่สองกันบ้างครับ จากเงื่อนไขประการแรกที่ต้องมีเวลา เงื่อนไขประการที่สองของนวัตกรรมก็คือต้องมีความหลากหลายครับ ท่านผู้อ่านสังเกตซิครับว่านวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่ได้มาจากการนั่งคิดของคนๆ เดียวเท่านั้น เนื่องจากในปัจจุบันสิ่งใหม่ๆ ทั้งหลาย จะมาจากการผสมรวม การบูรณาการของผู้ที่มีความหลากหลายทางความคิดเข้าไว้ด้วยกัน แต่ในปัจจุบัน ท่านผู้อ่านสังเกตดูซิครับ ว่านวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ในองค์กรนั้นมักจะมาจากกลุ่มของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่มีเพียงไม่กี่คน และกลุ่มผู้บริหารระดับสูงนั้น ถือเป็นกลุ่มที่มีความหลากหลายน้อยที่สุดในองค์กรแล้ว ทำให้เป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งว่าทำไมสิ่งที่ออกมาจากองค์กร และผู้บริหารคิดว่าเป็นนวัตกรรมล่าสุด กลับกลายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับตลาดได้เท่าที่ควร

            สำหรับความคิดใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้นั้น ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องมีคนใหม่ๆ เข้ามาร่วมทีมนะครับ ไม่ว่าจะเป็นทีมนวัตกรรมหรือทีมผู้บริหารระดับสูง เนื่องจากถ้ามัวแต่หวังพึ่งคนเดิมๆ หน้าเดิมๆ สิ่งใหม่ๆ ก็ย่อมยากจะเกิดแล้วก็หนีไม่พ้นรูปแบบและวิธีการเดิมๆ แต่ปัญหาส่วนใหญ่คือเมื่อผู้บริหารระดับสูงมานั่งสุมหัวกันคิดเรื่องกลยุทธ์และนวัตกรรมใหม่ๆ นั้น คนที่มาร่วมสุมหัวก็จะเป็นกลุ่มคนหน้าเดิมๆ ทำให้ความคิดต่างๆ ออกมาในรูปแบบเดิมๆ ผู้บริหารจะต้องเริ่มที่จะคิด ยอมรับ และเปิดกว้าง สำหรับคนใหม่ๆ ที่จะเข้ามาช่วยระดมสมอง เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ

            ผู้บริหารจะต้องเปิดโอกาสให้หน้าใหม่ๆ เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคิดนวัตกรรมมากขึ้น โดยหน้าใหม่ๆ ในที่นี้ครอบคลุมทั้ง คนรุ่นใหม่ (แตกต่างในอายุ) หรือ พนักงานใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานที่บริษัท โดยเฉพาะพวกที่เคยทำงานในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจอื่นมาก่อน และสุดท้าย คือพวกที่ไม่ค่อยได้อยู่ใกล้สำนักงานใหญ่ เนื่องจากมีข้อพิสูจน์แล้วว่ายิ่งอยู่ห่างจากสำนักงานใหญ่เท่าใด โอกาสในการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ย่อมจะมีมากไปด้วย แถมเผลอๆ บางครั้งพวกที่อยู่ห่างจาก CEO เท่าใด จะยิ่งมีโอกาสคิดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ดีกว่าพวกที่อยู่ใกล้ CEO ด้วยซ้ำไปครับ (ไม่แน่ใจว่าทำไมเหมือนกันนะ)

            สัปดาห์นี้เริ่มต้นในเงื่อนไขประการที่สอง คือเรื่องของความหลากหลาย เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมเพียงแค่นี้ก่อนนะครับ สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อครับ