
15 มีนาคม 2008
ท่านผู้อ่านรู้สึกบ้างไหมครับว่าในปัจจุบันคำว่า “นวัตกรรม” กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายและค่อนข้างเฝือกันพอสมควร ถ้าสอบถามผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างๆ ก็เชื่อว่าเรื่องของนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของผู้บริหารทั้งหลาย ถ้าถามบรรดานักวิชาการต่างๆ (รวมทั้งผมด้วย) ทุกคนจะพร่ำพูดถึงความสำคัญของนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมด้วยวาจาหรือตัวอักษรนั้น ไม่เหมือนกับการทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กรจริงๆ ความท้าทายที่สำคัญของนวัตกรรมนั้น คือการทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นจริงๆ ภายในองค์กร ไม่ใช่เพียงเป็นเพียงแค่วิสัยทัศน์หรือกลยุทธ์สวยหรูของผู้บริหารเท่านั้น
ในขณะเดียวกันหลายๆ องค์กรยังมีความเชื่อแบบดั้งเดิมว่าการจะทำให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้นั้น องค์กรจะต้องถมเงินลงไปในงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ก็จะสามารถเนรมิตให้เกิดนวัตกรรมขึ้นมาได้ในองค์กร อย่างไรก็ดีจากงานวิจัยของต่างประเทศที่เขาพยายามจะหาความสัมพันธ์ระหว่างค่าใช้จ่ายทางด้านการวิจัยและพัฒนา กับความสำเร็จขององค์กรธุรกิจ เช่นพวกอัตราการเติบโตของยอดขาย กำไรต่างๆ นั้นจะพบว่าไม่พบว่าความสัมพันธ์ทั้งระหว่างปัจจัยทั้งสองประการ และถ้าถามว่าบริษัทสัญชาติอเมริกันบริษัทไหนที่ลงทุนทางด้านวิจัยและพัฒนามากที่สุด ก็ผลปรากฎว่าเป็น General Motors หรือ GM ครับ ซึ่งท่านผู้อ่านก็คงทราบนะครับว่า ไม่ได้มีชื่อเสียงหรือความโดดเด่นในด้านนวัตกรรมแต่อย่างใด
ดังนั้นโจทย์สำคัญสำหรับผู้บริหารในปัจจุบันในเรื่องของนวัตกรรมนั้น ไม่ใช่การกำหนดวิสัยทัศน์หรือกลยุทธ์ทางด้านนวัตกรรมหรอกครับ แต่เป็นว่าจะทำอย่างไร ถึงจะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กรจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงแค่คำหรูๆ ที่ดีแต่พูดแล้วทำให้รู้สึกดูดีเท่านั้นครับ อย่างไรก็ดีความยากก็คือทำอย่างไรถึงจะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กรจริงๆ และเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ ซึ่งเชื่อว่าสำหรับผู้บริหารหลายๆ ท่านแล้วนวัตกรรมยังเปรียบเสมือนกล่องดำ (Black Box) ที่อยากจะให้มี อยากจะให้เกิดแต่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ทีนี้ผมเองไปอ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Innovation to the Core ที่พยายามจะหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยพยายามทำให้เรื่องของนวัตกรรมเป็นระบบและแนวทางที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถนำแนวทางดังกล่าวไปปรับใช้เพื่อพัฒนานวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พยายามสื่อให้เห็นว่าเรื่องของนวัตกรรมนั้นก็เหมือนกับเรื่องคุณภาพเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา ที่ตอนเริ่มกระแสตื่นตัวเรื่องของคุณภาพนั้น ยังขาดระบบและวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการนำเรื่องของคุณภาพมาปรับใช้ในองค์กร จากนั้นก็ค่อยๆ มีวิธีการและวิธีการที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นระบบบริหารคุณภาพที่เราคุ้นกันในปัจจุบัน
ดังนั้นปัจจุบันเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสนวัตกรรม ซึ่งก็เป็นช่วงที่ยังขาดระบบและวิธีการที่เป็นรูปธรรมในการทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กร แต่เชื่อว่าไม่ช้าไม่นานแนวทางและระบบในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กรนั้นก็จะกลายเป็นระบบที่มีความเป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้น เช่นเดียวกับเรื่องของคุณภาพและระบบคุณภาพ
หนังสือ Innovation to the Core เขาได้ให้ข้อแนะนำไว้เลยครับว่าการจะทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นได้นั้น จะต้องเริ่มต้นจากเงื่อนไขขั้นต้นที่สำคัญสามประการครับ ได้แก่เรื่องของเวลาและโอกาส ความหลากหลาย และความเชื่อมโยงและสัมพันธ์ครับ เรามาลองดูทีละประการนะครับ แล้วท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูนะครับว่า จะนำเงื่อนไขทั้งสามประการมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมภายในองค์กรได้อย่างไร
เงื่อนไขประการแรกสำหรับการทำให้นวัตกรรมเกิดขึ้นในองค์กร ก็คือเรื่องของเวลาและโอกาสในการคิดและการทดลองสำหรับคนในองค์กรครับ เมื่อเราถามผู้คนในองค์กรว่าอะไรคืออุปสรรคสำคัญสำหรับการคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ภายในองค์กรแล้ว เชื่อว่าคนส่วนมากก็จะตอบว่าเป็นเรื่องของการไม่มีเวลาครับ เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรต่างๆ มุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความเร็ว และเพิ่มภาระงาน ในการทำงาน ในขณะเดียวกันการเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่นพวกโทรศัพท์ อีเมล ฯลฯ ก็ทำให้เราดูเหมือนว่าจะต้องทำงานวุ่นวายอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่ขาดหายไปคือช่วงเวลาที่สงบสำหรับการคิดในสิ่งใหม่ๆ ครับ
ท่านผู้อ่านลองมองย้อนกลับไปที่การทำงานประจำของท่านซิครับ ท่านได้มีเวลาและโอกาสมากน้อยเพียงใดที่จะมานั่งสะท้อนความคิด นั่งทบทวนในงานที่ทำ รวมทั้งนั่งคิดถึงสิ่งใหม่ๆ ที่ควรจะทำบ้างไหมครับ? เชื่อว่าหลายๆ ท่านจะไม่มีเวลาดังกล่าวครับ หลายท่านในปัจจุบันเข้าสู่การทำงานตลอดเวลา ไม่มีวันหยุด ทำให้ขาดเวลา โอกาส ในการคิด พิจารณา และริเริ่มสิ่งใหม่ๆ องค์กรที่มุ่งเน้นให้เกิดนวัตกรรมขึ้น จะต้องสร้างวัฒนธรรมหรือระบบในการทำงาน ที่เปิดโอกาสให้บุคลากรของตนเองได้มีเวลาในการคิดในสิ่งใหม่ๆ ถ้าท่านผู้บริหารเอาแต่พูดถึงนวัตกรรมในวิสัยทัศน์ หรือ กลยุทธ์ แต่ขาดเงื่อนไขขั้นต้นในการกระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม สิ่งที่ผู้บริหารฝันหรืออยากจะไปให้ถึงคงจะสำเร็จได้ยากครับ
สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่าเงื่อนไขที่สำคัญสำหรับนวัตกรรมในประเด็นอื่นๆ มีอะไรบ้าง และเพื่อที่ท่านผู้บริหารจะได้ลองนำเงื่อนไขเหล่านี้ไปปฏิบัติในองค์กรท่านให้เป็นรูปธรรมต่อไป