
15 February 2008
ผมจำได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้ได้นำเสนอแนวทางการบริหารกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์สมัยใหม่ ที่ Robert Kaplan และ David Norton สองเจ้าพ่อ Balanced Scorecard ได้เขียนขึ้นไว้ในบทความชื่อ Mastering the Management System ในวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนว่าในครั้งที่แล้วจะเป็นภาพกว้างๆ ที่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียด ทำให้ท่านผู้อ่านบางท่านได้กรุณาอีเมลเข้ามาสอนถามรายละเอียดเพิ่มเติม ดังนั้นในสัปดาห์นี้ผมจึงขอนำเสนอหลักการและแนวคิดที่สำคัญจากบทความดังกล่าว มานำเสนอโดยละเอียดนะครับ
สิ่งที่ Kaplan กับ Norton พยายามนำเสนอนั้นคือการมองการบริหารกลยุทธ์อย่างครบวงจร ในห้าขั้นตอน ที่เริ่มตั้งแต่ (1) การคิด วิเคราะห์ และกำหนดกลยุทธ์ จากนั้น (2) มีการแปลง สื่อสาร ถ่ายทอดกลยุทธ์ให้เกิดความชัดเจน (3) ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำโครงการ การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และการกำหนดงบประมาณเชิงกลยุทธ์ ซึ่งเมื่อองค์กรได้มีการดำเนินการตามกลยุทธ์แล้ว ก็ต้อง(4) มีการติดตามผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ และสุดท้ายก็คือ (5) การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
ถ้าท่านผู้อ่านนึกภาพดีๆ จะพบว่าทั้งห้าขั้นตอนนั้นเป็นวงจรที่มีความต่อเนื่องกันครับ และเป็นการต่อเนื่องที่ครบวงจรตั้งแต่การวางแผน จนถึงการสื่อสารถ่ายทอด การปฏิบัติ การประเมินผล และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยในแต่ละขั้นตอนนั้นก็จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปครับ โดยรายละเอียดนั้นก็เป็นการนำเอาแนวคิดและเครื่องมือทางการบริหารต่างๆ เข้ามาจับครับ ลองมาดูที่ละขั้นนะครับ
ขั้นที่หนึ่งคือการพัฒนากลยุทธ์ (หรือยุทธศาสตร์) หรือ Develop Strategy ครับ โดยในขั้นนี้ก็เริ่มต้นตั้งแต่การวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆ ทางกลยุทธ์ เช่น SWOT หรือ 5-Forces ที่เชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะคุ้นเคยกันดี จากนั้นก็นำผลที่ได้จากการวิเคราะห์มากำหนดทิศทาง ซึ่งประกอบด้วยวิสัยทัศน์ ภารกิจ (หรือพันธกิจ) วัตถุประสงค์ รวมถึงค่านิยมต่างๆ เสร็จแล้วก็เป็นการกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสม เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนองค์กรให้บรรลุวิสัยทัศน์และวัตถุประสงค์ที่ต้องการ โดยในขั้นที่หนึ่งนี้เอง ที่สามารถนำแนวทางการคิดกลยุทธ์ในด้านต่างๆ มาปรับใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Blue Ocean Strategy หรือเรื่องของกลยุทธ์การแข่งขัน (Competitive Strategy) หรือกลยุทธ์การขยายตัว (Growth Strategy) ซึ่งในขั้นที่หนึ่งก็จะเป็นเรื่องของการวิเคราะห์ การคิดในเชิงกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยอยู่แล้วครับ สรุปว่าขั้นที่หนึ่งจะเป็นเรื่องของการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking) เป็นหลักครับ
ขั้นที่สองคือการสื่อสารถ่ายทอดกลยุทธ์เพื่อให้บุคลากรทั่วทั้งองค์กรสามารถเข้าใจ จับต้องได้ และมีแนวทางในการนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน หรือการ Translate Strategy ครับ โดยหลังจากที่องค์กรวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์แล้ว ก็ต้องมีการแปลงเจ้ากลยุทธ์ที่ว่านั้นให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถเข้าใจได้ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้ โดยในขั้นที่สองเราก็สามารถใช้เครื่องมืออย่าง Strategy Map หรือแผนที่กลยุทธ์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารและถ่ายทอดกลยุทธ์ให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าใจได้ง่าย และนำ Balanced Scorecard มาใช้ต่อเพื่อช่วยแปลงจากวัตถุประสงค์ต่างๆ ในแผนที่กลยุทธ์ไปสู่ตัวชี้วัด แผนงาน โครงการที่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้
ขั้นที่สามจะเป็นการวางแผนการดำเนินการครับ (Plan Operations) โดยสืบเนื่องจากขั้นที่สอง องค์กรอาจจะต้องมีการปรับปรุงกระบวนการที่สำคัญภายในองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้น มีการนำแผนงาน โครงการที่ได้กำหนดไว้ในขั้นที่สองไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงการตั้งงบประมาณอีกด้วย ซึ่งผู้บริหารก็มีเครื่องมือทางการบริหารใหม่ๆ ให้เลือกใช้เยอะแยะเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Six Sigma หรือ TQM หรือ Reengineering เพื่อปรับปรุงกระบวนการ หรือการนำหลักเรื่องของการบริหารโครงการ (Project Management) และการตั้งงบประมาณเชิงกลยุทธ์ (Strategic Expenses) มาใช้
ขั้นที่สี่จะเป็นการทบทวนผลการดำเนินงานตามกลยุทธ์ครับ (Monitor and Learn) ซึ่งจะทำให้เราทราบว่าการดำเนินการตามกลยุทธ์นั้นประสบผลสำเร็จหรือไม่ โดยอาจจะมีการนำระบบไฟสัญญาณจราจร (Traffic Lights) มาใช้เพื่อติดตามความสำเร็จของตัวชี้วัดแต่ละตัว หรือ การสร้างห้องปฏิบัติการทางการจัดการ (Management Cockpit) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการติดตามผลการดำเนินงานขององค์กร และ ขั้นที่ห้า ซึ่งเป็นขั้นสุดท้ายจะเป็นการทดสอบและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้เหมาะสมครับ (Test and Adapt the Strategy) โดยเมื่อองค์กรได้มีการติดตามและประเมินผลองค์กรในขั้นที่สี่แล้ว องค์กรก็จะมีเครื่องมือและกลไกที่จะช่วยทำให้ผู้บริหารทราบว่ากลยุทธ์ที่องค์กรใช้อยู่มีความเหมาะสมหรือไม่? นอกจากนี้การใช้เครื่องมืออื่นๆ เช่น Decision Analytics หรือการติดตามความเสี่ยงทางกลยุทธ์ (Strategic Risks) ก็สามารถเป็นแนวทางในการตรวจสอบ ติดตามว่ากลยุทธ์ที่ใช้อยู่มีความเหมาะสมหรือไม่? ซึ่งเมื่อจบจากขั้นที่ห้าก็จะเข้าสู่ขั้นที่หนึ่งใหม่อีกรอบ นั้นก็คือถ้าต้องปรับเปลี่ยนก็ต้องวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ให้เหมาะสมต่อ
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้นะครับว่าแนวคิดของ Kaplan กับ Norton เป็นการพยายามในการมองภาพของกลยุทธ์ในลักษณะของกระบวนการบริหารที่ประกอบไปด้วยขั้นตอนต่างๆ และเป็นขั้นตอนที่มีความเชื่อมต่อกันอย่างเป็นระบบ โดยมีลักษณะเป็นวงจรไปอย่างต่อเนื่อง และภายใต้แต่ละขั้นตอนนั้นองค์กรก็สามารถเลือกใช้เครื่องมือทางการจัดการที่เหมาะสมเข้ามาประกอบ