
23 October 2007
ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาเป็นหลักนะครับ ทั้งเรื่องของ Design School ที่กำลังมาแรง และแนวโน้มที่สำคัญของการศึกษา MBA มาสัปดาห์นี้ก็ขอเขียนในเรื่องต่อเนื่องนะครับ โดยยังวนเวียนอยู่เกี่ยวกับเรื่องของการศึกษาในระดับบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต หรือ ที่รู้จักกันในชื่อของ MBA นะครับ เนื่องจากไปเห็นบทความหนึ่งของต่างประเทศ ชื่อ Five Hard Truths About the MBA เลยอยากจะนำเสนอเนื้อหาบางส่วนจากบทความดังกล่าวพร้อมทั้งลองดูมุมมองของผมเองในฐานะที่พอจะเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน MBA ในบ้านเราดูบ้างนะครับ
ในอดีตนั้นว่ากันว่าการศึกษาในหลักสูตร MBA ถือเป็นกุญแจทองหรือบันไดทองสำหรับคนที่ทำงานในแวดวงธุรกิจ เนื่องจากผู้ที่ผ่านการศึกษาในระดับนี้มาย่อมเป็นที่รับรองได้ว่าจะมีงานดี เงินดีๆ ทำ รวมทั้งยังมีโอกาสความก้าวหน้าในอาชีพการงานมากกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้จบ MBA มา แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า MBA จะเริ่มเสื่อมมนต์ขลังแล้วนะครับ ในต่างประเทศเอง มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับหลักสูตร MBA ออกมามากมาย แถมบางครั้งข้อวิจารณ์เหล่านั้นก็มาจากบรรดาคณาจารย์ที่สอนอยู่ในหลักสูตร หรือ องค์กรที่ว่าจ้างบัณฑิตเหล่านั้นไปทำงาน โดยข้อวิจารณ์ที่ได้ยินส่วนใหญ่ ก็มักจะเป็นเรื่องของการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ที่เกินความเป็นจริง หรือ ตัวหลักสูตรต่างๆ เองที่ดูเหมือนเริ่มจะห่างไกลจากโลกแห่งความเป็นจริงมากขึ้นทุกขณะ โดยไปอิงกับทฤษฎีมากเกินไป จนขาดความสามารถในการปฏิบัติได้จริงๆ หรือ แม้กระทั่งการสนับสนุนให้กระทำผิด หรือ ปกปิดตัวเลขเพื่อผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
สำหรับในเมืองไทยนั้น ก็มีความเห็นเช่นเดียวกันครับว่าดูเหมือนว่า MBA จะเริ่มเสื่อมมนต์ขลังลงไป ถ้าใช้หลักการทางเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ มาจับ ก็จะพบว่าปัจจุบันอุปทานเริ่มมากกว่าอุปสงค์ ในอดีตนั้นผู้ที่จบ MBA ในไทย ยังเป็นคนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่ช่วงสิบปีที่ผ่านมา จากการเปิดสอนในหลักสูตร MBA ของสถาบันต่างๆ ที่เปิดกันอย่างมากมาย และแต่ละสถาบันก็เปิดกันหลายหลักสูตร หลายประเภท ทำให้การได้ MBA กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานที่คนทำงานในภาคธุรกิจทุกคนควรจะต้องมี แถมปัจจุบันยังเริ่มลามไปถึงหน่วยงานราชการ และวิชาชีพต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล กันมากขึ้น นอกจากนี้หลักฐานที่สำคัญอีกประการที่แสดงว่า MBA เริ่มถึงจุดอิ่มตัว ก็คือการที่หลักสูตรต่างๆ พยายามที่จะแบ่งกลุ่มตลาดออกมามากขึ้น ซึ่งหลักการตรงนี้เหมือนกับสินค้าและบริการทั่วๆ ไปที่พออุตสาหกรรมเริ่มใกล้ถึงจุดอิ่มตัว กลยุทธ์ Segmentation ก็จะเป็นกลยุทธ์สำคัญที่องค์กรธุรกิจจะงัดขึ้นมาใช้ เมื่อหันกลับมามอง MBA ในบ้านเรา เชื่อว่าท่านผู้อ่านก็จะพบเห็นการงัดกลยุทธ์ Segmentation มาใช้กับหลักสูตร MBA ของสถาบันต่างๆ ไม่ว่าจะแบ่งโดยอายุ ประสบการณ์ วิชาชีพ วิธีการเรียน ทำเลที่ตั้ง ฯลฯ
นอกจากนี้ข้อสังเกตอีกประการของ MBA ในบ้านเราคือ ผู้ที่จบ MBA มาในปัจจุบันก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ทองคำ ที่เป็นที่แย่งชิงและต้องการตัวของตลาดแรงงานเหมือนในอดีต ไม่ว่าจะเป็น MBA จากต่างประเทศ หรือ MBA จากสถาบันต่างๆ ในประเทศไทย ถ้าบัณฑิตเหล่านั้นไม่ได้มีความโดดเด่น หรือ แตกต่างจากผู้อื่นอย่างชัดเจน ก็ไม่ได้มีการการันตีหรือรับประกันว่าจะมีบริษัทมารอเข้าคิวเพื่อแย่งชิงตัวก่อนจบเหมือนในอดีต แถมบางครั้งงานที่ได้ทำสุดท้ายก็เป็นงานธรรมดาๆ ที่ทำให้บัณฑิตเหล่านั้นรู้สึกคุ้มค่ากับการลงทุนทั้งเรื่องเงินและเวลาที่ลงไป บางคนจบออกไปกลับพบว่าเงินเดือนและตำแหน่งที่ได้รับนั้นต่ำกว่าเพื่อนที่ไม่ได้ลาออกมาเรียนด้วยซ้ำ ดังนั้นในปัจจุบันเราจะเห็นอีกแนวโน้มหนึ่งที่สำคัญของ MBA ในไทย ก็คือ การเรียน MBA นอกเวลาที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนสามารถทำงานไปด้วยและเรียนไปด้วย
การเรียน MBA ไปด้วยพร้อมกับทำงานไปด้วย ก็มีข้อดี ข้อเสียเช่นกันครับ ข้อดี ก็คือ ประหยัดเวลา ไม่สูญเสียโอกาสในความก้าวหน้า รวมทั้งยังสามารถนำประสบการณ์จากที่ทำงานมาใช้ในการเรียน และนำสิ่งที่เรียนไปใช้ที่ทำงาน แต่ข้อเสียก็มีเช่นกัน ทั้งปัญหาเรื่องของการแบ่งเวลา ผู้เรียนต้องทุ่มเทไปที่สองเรื่องพร้อมๆ กัน ซึ่งเป็นภาระที่หนัก นอกจากนี้การที่ต้องทำงานตอนกลางวัน ก็ทำให้ไม่ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
ในความเห็นส่วนตัวแล้วยังไม่คิดว่า MBA สิ้นมนต์ขลังลงไปเสียทีเดียว เนื่องจากการเรียน MBA ยังเป็นที่ต้องการของทั้งผู้ที่เพิ่งจบปริญญาตรีใหม่ๆ หรือ ผู้ที่ทำงานมานานและต้องการเพิ่มพูนความรู้ให้กับตนเอง เพียงแต่การมี MBA อาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดข้อแตกต่างให้กับคนๆ หนึ่งเหมือนในอดีต ซึ่งอาจจะมีข้อยกเว้นสำหรับจบ MBA จากสถาบันชั้นนำของโลก ปัจจุบันการเรียน MBA กลายมาเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานที่คนทำงานในภาคธุรกิจควรจะต้องมีเสียมากกว่า
สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่าข้อเท็จจริงห้าประการเกี่ยวกับ MBA ที่ต่างประเทศเขาวิจารณ์กันไว้มีอะไรบ้าง และเป็นจริงสำหรับการเรียน MBA ในประเทศไทยหรือไม่?