2 January 2008

ถ้าเอ่ยคำว่า Management Theater เชื่อว่าท่านผู้อ่านต้องไม่คุ้นแน่ๆ ครับ เนื่องจาก Management Theater ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ทางการเรียนการสอนด้านการจัดการ และปรากฎขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยและในโลกที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในสัปดาห์นี้ผมจะมาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังครับถึงหลักการและแนวคิดของ Management Theater รวมทั้งการที่ Management Theater นั้นจะเข้ามาช่วยส่งเสริมกระบวนการในการเรียนการสอนได้อย่างไร แต่ก่อนจะเล่าเกี่ยวกับ Management Theater ต้องขออนุญาตเล่าถึงที่มาที่ไปก่อนนะครับ

            เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะทราบแล้วว่าที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ มีการจัดสร้างห้องปฏิบัติการทางการจัดการ หรือ Management Cockpit ขึ้นในปี 2000 ซึ่งถือเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในภูมิภาคนี้ที่ได้จัดสร้างห้องลักษณะดังกล่าวขึ้นมา และห้อง Management Cockpit ก็เป็นแรงผลักดันหนึ่งที่ทำให้กระแสความตื่นตัวในเรื่องของตัวชี้วัดและ BSC ขึ้นในเมืองไทย และจากการที่ทางคณะฯ มีวิสัยทัศน์ที่จะเป็น World-Class Innovative Business School ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จึงได้มีโครงการที่จะพัฒนา Management Theater ขึ้นเป็นแห่งแรกของโลก อีกทั้งการพัฒนา Management Theater นั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

            แนวคิดเรื่องของ Management Theater เองก็กล่าวได้ว่ามีพัฒนาการมาจากเรื่องของ Management Cockpit เพียงแต่แทนที่จะเป็นห้องประชุมที่ประกอบด้วยตัวชี้วัดผลการดำเนินงานรายรอบในรูปแบบที่สามารถนำเสนอและเข้าใจได้ง่าย ก็จะเป็นกึ่งๆ โรงละครที่ประกอบด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านการจัดการ การนำเสนอ รวมทั้งข้อมูลสำหรับการตัดสินใจทางธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ที่อยู่บนเวทีและผู้ชมได้เรียนรู้และเข้าใจศาสตร์ต่างๆ ทางการจัดการ ทั้งเรื่องของภาวะผู้นำ จริยธรรม การตัดสินใจทางธุรกิจ กลยุทธ์ธุรกิจ ฯลฯ ผ่านทางบทบาท การแสดงต่างๆ

            Management Theater เป็นการบูรณาการระหว่างศาสตร์หลายศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการจัดการและด้านการแสดง (Performing Arts) เนื่องจากในอดีตเรามักจะคิดว่าการเรียนรู้ทางด้านการจัดการสามารถเกิดขึ้นผ่านทางการบรรยาย กรณีศึกษา ฝึกปฏิบัติการ แต่ในปัจจุบันเริ่มมีความตื่นตัวกันมากขึ้นว่าเราสามารถเรียนรู้ทางด้านการจัดการจากบทละคร ในต่างประเทศเริ่มมีสถาบันการศึกษาทางด้านบริหารธุรกิจหลายแห่งที่ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรื่องราวต่างๆทางด้านการจัดการผ่านบทละครหรือนวนิยาย ในขณะเดียวกันหนังสือขายดีทางด้านการจัดการหลายๆ เล่มก็เขียนในลักษณะของบทละคร เพื่อให้ผู้อ่านได้เรียนรู้ทางด้านการจัดการผ่านทางบทละคร อย่างไรก็ดีการเรียนรู้การจัดการจากนวนิยายนั้นก็เปรียบเสมือนการอ่านกรณีศึกษา แต่ถ้าผู้เรียนได้มีโอกาสแสดงจริงๆ ในบทละครนั้นแทนที่จะเป็นการอ่านแต่เพียงอย่างเดียว การเรียนรู้ย่อมเป็นมากกว่าแค่การอ่านกรณีศึกษาเท่านั้น

            ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น University of Virginia, Babson University, Carnegie-Mellon ก็ได้เริ่มมีวิชาที่ผสมผสานการแสดงเข้ากับการจัดการมากขึ้น สถาบันเหล่านี้มีการเปิดสอนวิชาต่างๆ เช่น Leadership, Ethic, and Theater หรือ Acting Skills for Success in Business หรือ Business Acting ให้กับนิสิตทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับ MBA ซึ่งที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ก็จะเริ่มมีการสอนในลักษณะที่ผสมผสานระหว่างการแสดงกับการจัดการ ทั้งในระดับ MBA และระดับปริญญาตรี ในปีการศึกษาหน้าที่จะถึงนี้

            โดยวัตถุประสงค์ของการสอนด้านการแสดงในชั้นเรียนด้านการจัดการนั้น ผมมองว่าเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์หลักๆ อยู่สองประการครับ ประการแรกคือเพื่อพัฒนาผู้เรียนในด้านการของการสื่อสาร การแสดงออก ความมั่นใจในการพูดและการนำเสนอต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก และอีกประการก็เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ศาสตร์ทางด้านการจัดการต่างๆ อย่างมีชีวิตชีวาผ่านทางบทบาทและตัวละครต่างๆ ที่ตนเองต้องรับหรือทัศนา แทนที่จะเรียนรู้แบบแห้งๆ จากหนังสือหรือกรณีศึกษาเหมือนในอดีต

            ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านดูละครหรือการแสดงในรูปแบบต่างๆ เป็นประจำแล้วลองนำบทบาทของตัวละครแต่ละตัวมาพิจารณาในเชิงของการจัดการ ก็ย่อมสามารถที่จะเชื่อมโยงกับวิชาการต่างๆ ที่เรียนกันโดยทั่วไป และหลายครั้งเราก็สามารถที่จะเรียนรู้ด้านการจัดการจากบทละครที่ดีๆ ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการพัฒนา Management Theater ขึ้นมาจึงถือเป็นนวัตกรรมทางการเรียนการสอนด้านการจัดการที่น่าสนใจประการหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบูรณาการระหว่างศาสตร์ด้านการจัดการและการแสดงไว้ด้วยกัน อีกทั้งการนำเทคโนโลยีสารสนเทศทางด้านการจัดการและการนำเสนอ การรับรู้ มาไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืนและพอเหมาะก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจและน่าติดตามนะครับ